"ชัชชาติ"ถก "คีรี"เคลียร์หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว จ่อชงสภาฯ กทม.ไฟเขียวเงินสะสมจ่ายในต้นเดือนก.ค.นี้ วงเงิน 20,000 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่ศาลาว่าการกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ร่วมแถลงข่าวภายหลังมีการหารือ แนวทางแก้ไข ปัญหาภาระหนี้ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า บีทีเอสได้มาหารือเรื่องกรณีค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 ที่ครบกำหนดชำระ ประมาณ 20,000 ล้านบาท จริงๆ แล้วกทม. ได้เตรียมตัวอยู่แล้ว
ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมากระบวนการในการดำเนินการตรงนี้มีอยู่ 2 ขั้นตอนที่ต้องไปดำเนินการต่อ คือ 1. เรื่องที่กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ไปจ้างบีทีเอสเดินรถ ซึ่งขณะนั้น กทม. มอบหมายให้เคทีเป็นผู้ดำเนินการ ขั้นตอนต่อไปที่จะดำเนินการได้คือต้องให้สภากทม. อนุมัติก่อน และเรื่องที่ 2 คือ หากจะชำระเงินก็ต้องเอาเงินที่เป็นเงินสะสมจ่ายขาด ซึ่งในสภากทม.ต้องพิจารณาเหมือนกันทั้ง 2 เรื่องจึงจะนำเข้าที่ประชุมสภากทม.ต้นเดือนก.ค.นี้
ที่ผ่านมาได้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีรายละเอียด โดย คณะกรรมการวิสามัญ ได้ศึกษาและมีการประชุมไปแล้ว 5 ครั้ง ในเรื่องรายละเอียดต่างๆ คาดว่าเปิดการประชุมสภากทม. สมัยหน้า จึงจะสามารถนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภากทม.ได้ว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร เรื่องการชำระเงินดังกล่าว จะปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ด้วยความรอบคอบ
นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม. จะดำเนินการพร้อมกัน ทั้งการเอาเรื่องเข้าสภากทม. เกี่ยวกับการชำระหนี้คาดว่าสมัยการประชุมนี้น่าจะพร้อม เนื่องจากศึกษากันมาพอสมควร และเร่งรัดทางรัฐบาลอีกทางหนึ่ง จริงๆ แล้วกทม.ได้ทำหนังสือไปถึงกระทรวงมหาดไทยใน หลายประเด็น ประเด็นแรก อยากให้การสนับสนุนจากรัฐบาลสําหรับโครงสร้างพื้นฐานกับค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) เนื่องจากเมื่อครั้งที่ ม.44 มอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ได้ให้ค่าใช้จ่ายมาด้วย
สำหรับเรื่องที่ 2 คือ เรื่องที่ค้างอยู่ตาม ม. 44 จริงๆ แล้วตัวมูลหนี้ของ E&M อยู่ในเงื่อนไขสัญญาสัมปทานใหม่ที่เราส่งไปให้มหาดไทยเพื่อให้ค.ร.ม.พิจารณามติมูลหนี้ ถ้าเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ จะถูกหักลบด้วยสัญญาสัมปทาน ซึ่งตอนนี้เรื่องยังค้างอยู่ในค.ร.ม. ยังไม่มีข้อยุติ คงต้องสอบถามและเร่งรัดทางค.ร.ม. ด้วยว่าจะพิจารณาอย่างไร
“เราก็เห็นใจทางเอกชนเพราะมีภาระหนี้ที่เยอะ บีทีเอสก็เป็นตัวสำคัญที่ช่วยบรรเทาเรื่องการเดินทาง แต่ว่าเป็นระเบียบปฏิบัติซึ่งทั้งฝ่ายบริหารกับทางสภากทม. ก็เข้ามาหลังจากที่มีการดำเนินการไปแล้วนั้น ทำอย่างไรให้ทุกอย่างมันเป็นไปตามในกรอบระเบียบที่กำหนด” นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า มูลค่าหนี้โครงการรถไฟฟ้า รวมค่าโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ประมาณ 90,000 ล้านบาท กทม.ขอให้รัฐบาลสนับสนุนค่าโครงสร้างพื้นฐาน และค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ที่ผ่านมา กทม. ไม่ได้ทำโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์ใหม่ เพราะมีเรื่องโครงการรถไฟฟ้าค้างคาอยู่ และเป็นข้อที่เราต้องระมัดระวังในการใช้งบประมาณ เพราะเงินที่ต้องชำระถือเป็นงบประมาณจำนวนมากสำหรับ กทม. โดย กทม.จะนำเงินสะสมจ่ายขาด มาชำระหนี้แต่ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภา กทม.ก่อน ปัจจุบันมีอยู่ 40,000-50,000 ล้านบาท แต่จะพยายามใช้เงินให้น้อยที่สุด
สำหรับการชงเรื่องสายสีเขียวเข้าที่ประชุมสภา กทม. หากมีการตีตกไปเหมือนการประชุมครั้งก่อนต้องคุยกันด้วยเหตุผล ส่วนจะชงเรื่องเข้าคณะกรรมการเปลี่ยนผ่าน กรุงเทพมหานคร ที่ตั้งขึ้นร่วมกับพรรคก้าวไกลหรือไม่ การแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นเรื่องที่จะต้องมีอยู่แล้ว และคงต้องดูเรื่องเนื้อหาและรายละเอียดอีกครั้ง
ด้าน นายคีรี กล่าวว่า ขอบคุณผู้ว่าฯ กทม. ที่ให้เข้ามาคุยด้วย แม้ว่าจะเป็นครั้งแรกก็ตาม วันนี้ไม่อยากใช้คำว่าเจรจา แต่เป็นการคุยกันเพื่อเข้าใจกันมากขึ้น ขอบคุณที่เข้าใจเอกชนที่รับภาระมาเป็นเวลา 4 ปี แล้ว วันนี้กทม. เข้าใจว่าต้องจ่าย 2 ส่วน ทั้ง ค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) และค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ถึงเวลาต้องชำระ
"ขอบคุณผู้ว่าฯกทม.ที่ผลักดันให้เข้าสภากทม. ต้นเดือนก.ค. เพื่อให้มีการเร่งชำระเงิน ทำให้บริษัท มีความมั่นใจมากขึ้น คาดว่าบริษัทจะได้เงินจาก E&M 2 หมื่นล้านบาท ส่วน O&M ต้องรอ ครม. แต่ที่ผ่านมา เข้า ครม. แต่มีการชักเรื่องเข้าออก โดยมีมุมมองยังขาดเอกสารรายละเอียดต่างๆ แต่จริงๆแล้ว มีรมต.คมนาคม ยังแย้งอยู่ วันนี้ไม่อยู่แล้ว เชื่อว่าคมนาคม อาจจะเข้าใจดีขึ้น หากรัฐบาลรักษาการจะทำเรื่องนี้ให้จบ"นายคีรี กล่าว