โลกร้อนจนอากาศเปลี่ยน (1)

โลกร้อนจนอากาศเปลี่ยน (1)
คอลัมน์ "Growth and Sustainability" โดย 'วิฑูรย์  สิมะโชคดี'

ทุกวันนี้  ทรัพยากรธรรมชาติหลายประเภทในบ้านเรา เช่น ป่าไม้ สินแร่ เป็นต้นกำลังลดลงอย่างมาก และปัญหาด้านความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ก็รุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ รวมตลอดถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ไม่เคยรุนแรง ก็เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง อาทิ น้ำท่วม ความแห้งแล้ง แผ่นดินไหว เป็นต้น

นักวิทยาศาสตร์ต่างสรุปว่าการเปลี่ยนแปลงต่างๆเหล่านี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) และ “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) ที่ผิดปกติจากเดิม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ส่วนใหญ่มาจากน้ำมือของมนุษย์ในการผลิตก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ

ที่ว่า “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) นั้น มิใช่อุณภูมิผิวโลกที่สูงขึ้นผิดปกติแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังหมายรวมถึงการทำให้ดินฟ้าอากาศแปรปรวน กระแสลม กระแสน้ำ และคลื่นลมเปลี่ยนทิศทาง รวมทั้งการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลด้วย

“ภาวะโลกร้อน” เป็นผลจากอุณหภูมิของผิวโลกสูงขึ้นกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง ในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในช่วงหลายพันปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่เชื่อกันว่า หากมนุษย์ไม่ร่วมมือกันแก้ปัญหาหรือจัดการใดๆ โดยยังคงคิดถึงตัวเองแบบตัวใครตัวมัน ก็จะทำให้อุณหภูมิผิวโลกเพิ่มขี้นเรื่อยๆ ซึ่งคาดกันว่าเมื่อใดที่อุณหภูมิของผิวโลกสูงกว่ายุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม 2 องศาเซลเซียสขึ้นไป เมื่อนั้นสิ่งมีชีวิตบนโลกก็อาจเปลี่ยนแปลงไปจนหมดสภาพเดิมหรืออาจจะสูญพันธุ์เลยก็ได้

ดังนั้นคำนิยามของ“ภาวะโลกร้อน” จึงหมายถึงสภาวะความร้อนบริเวณผิวโลก หรือของอุณภูมิของบรรยากาศที่ห่อหุ้มใกล้ผิวโลก(บรรยากาศชั้นโทรโพสเฟียร์)ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จากช่วงร้อยกว่าปีก่อน คืออุณภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.7 องศาเซลเซียส (จาก พ.ศ.2403 ถึง พ.ศ.2543) และประมาณการว่า อาจจะเพิ่มขึ้นอีก 1.1 องศาเซลเซียล หรือมากกว่านั้นในอีก 100 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2643)

แต่การเพิ่มขึ้นของอุณภูมิบริเวณผิวโลกไม่ได้เกิดขึ้นสม่ำเสมอทั่วโลก แต่ขึ้นอยู่กับการหมุนและการส่ายของวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์และการเปลี่ยนแปลงของมุมเอียงของแกนโลกคือแกนโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  อุณภูมิผิวโลกจึงขึ้นอยู่กับว่าส่วนไหนเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์  โดยที่แกนหมุนของโลกที่ส่ายคล้ายลูกข่าง ทำให้ระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และทำให้วงโคจรของโลกไม่เป็นลักษณะของวงรีที่คงที่ บางช่วงหมุนเป็นวงรีแคบ บางช่วงก็เป็นวงรีที่กว้างขึ้นจนเกือบเป็นวงกลม

นักวิทยาศาสตร์ได้ระบุถึงสาเหตุหลักที่ทำให้โลกร้อนขึ้น ได้แก่ (1) การสูญเสียชั้นโอโซนในบรรยากาศ  และ (2) ปรากฏการณ์เรือนกระจก

การสูญเสียชั้นโอโซนในบรรยากาศ ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงความสูง 14-22 กิโลเมตรจากผิวโลก  ซึ่งเป็นผลจากมนุษย์นำสารสังเคราะห์คลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs) และโอโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFCs) มาใช้เป็นตัวทำละลายต่างๆ เป็นตัวทำละอองสารละลาย เป็นสารระบบความเย็น (ฟรีออน) ในตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ และใช้ในการผลิตโฟมและฉนวน  สาร CFCs  ที่ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และสัมผัสแสงอาทิตย์จะสลายตัวให้อนุมูลคลอรีนอนินทรีย์ไปเร่งปฏิกิริยาทำลายชั้นโอโซนที่อยู่ในชั้นบรรยากาศซึ่งเกิดมานานเป็นศตวรรษแล้ว ครับผม !

 

TAGS: #Growth #and #Sustainability #วิฑูรย์ #สิมะโชคดี #โลกร้อน