เทคโนโลยีชีวภาพ

เทคโนโลยีชีวภาพ
คอลัมน์ 'Growth and Sustainability' โดย 'วิฑูรย์  สิมะโชคดี'

ทุกวันนี้ ต้องถือว่า นโยบาย BCG Model (Bio, Circular, Green Economy) คือ นโยบายของรัฐที่ต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตควบคู่ไปกับพัฒนาการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

BCG Model จึงเป็นนโยบายที่อาศัยจุดแข็งของบ้านเราเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพราะเรามีภาคเกษตรกรรมที่หลากหลายและมีมูลค่า  ซึ่งสามารถใช้ “เทคโนโลยี” และ “นวัตกรรม” เพื่อเพิ่มผลิตภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มและขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ง่ายและเพิ่มมากขึ้นด้วย

“เทคโนโลยี่ชีวภาพ” (Bio Technology)  จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) คือ ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้สิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า (เช่น จุลินทรีย์ต่างๆ) ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ (เช่น พืชและสัตว์) หรือผลิตภัณฑ์จากสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นเอนไซม์ (ตัวเร่งปฏิกิริยา) หรือโปรตีนชนิดต่างๆ  เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับมนุษยชาติในหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการสร้งสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นกับการดำรงชีวิต (เช่น การผลิตอาหาร เครื่องดื่ม และยา) การพยากรณ์โรค การตรวจโรค รวมถึงการเพิ่มคุณภาพและทางเลือกให้แก่ชีวิตด้วย (เช่น การเปิดโอกาสให้คู่สมรสที่มีลูกยาก สามารถมีลูกได้ด้วยเทคนิคในห้องปฏิบติการ)

นอกจากนี้ เทคโนโลยีชีวภาพยังมีประโยชน์ในการคัดเลือกพันธุ์พืชและสัตว์ ทำให้ได้ลักษณะที่ต้องการภายในระยะเวลาสั้นๆ สามารถใช้สร้างหรือปรับปรุงประสิทธิภาพของพลังงานทางเลือกในหลายรูปแบบ รวมไปถึงการใช้บำบัดหรือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้แบคทีเรียกำจัดน้ำมันที่รั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อม เนื่องจากอุบัติเหตุหรือการก่อการร้าย เป็นต้น

ความรู้จาก “เทคโนโลยีชีวภาพแบบดั้งเดิม” (Traditional or Classical Biotechnology) อาจนับย้อนไปได้หลายพันปี โดยมักมีลักษณะเป็นความรู้ของชุมชนหรือท้องถิ่นที่ถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นหนึ่ง เช่น ความรู้ในการทำขนมปัง ทำเนยแข็ง หมักน้ำปลา บ่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลายชนิด ความรู้เหล่านี้มักจะเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่อาศัยสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่คัดเลือกต่อๆ กันมาตามรสนิยมของคนในท้องถิ่นนั้น ทำให้มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์สูง แต่น่าเสียดายว่าบ่อยครั้งที่มีความรู้เหล่านี้ต้องสูญหายไป เนื่องจากมักถือเป็นความลับเฉพาะกลุ่ม แรงขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจใหม่จากเทคโนโลยีชีวภาพที่ว่านี้  จึงเรียกกว่า “เศรษฐกิจชีวภาพ” (Bio economy)  ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุนในหลายๆ ด้าน จึงจะได้ผลน่าพอใจ

หนึ่งในปัจจัยสำคัญ ก็คือ นโยบายเทคโนโลยีชีวภาพที่มีความขัดเจน และเอื้อต่อการวิจัย คิดค้น และสร้างสรรค์ประดิษฐกรรมใหม่ๆ  ซึ่งต้องครอบคลุมทั้งด้านกำลังคนและโครงสร้างพื้นฐาน  โดยเฉพาะการมีศูนย์กลางหรือศูนย์รวมของ “เทคโนโลยีชีวภาพ” เพื่อเร่งรัดการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ครับผม !

 

TAGS: #Growth #and #Sustainability