“ก้าวไกล” จับตานโยบายพลังงาน แฉขบวนการปล้นคนไทยจ่ายค่าไฟแพง “ประยุทธ์” ทำ “เศรษฐา” สานต่อ

“ก้าวไกล” จับตานโยบายพลังงาน แฉขบวนการปล้นคนไทยจ่ายค่าไฟแพง “ประยุทธ์” ทำ “เศรษฐา” สานต่อ
“ก้าวไกล” แถลงจับตานโยบายพลังงาน แฉขบวนการปล้นคนไทยจ่ายค่าไฟแพง “ประยุทธ์” ทำ “เศรษฐา” สานต่อ มีนายทุน “ไอ้โม่ง” สั่งข้างหลัง 

นาย ศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวจับตานโยบายรัฐบาล (Policy Watch) ในส่วนของกระทรวงพลังงาน คือนโยบายการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนที่เต็มไปด้วยความไม่โปร่งใส

นายศุภโชติ ระบุว่าสถานการณ์ปัจจุบันในภาคพลังงานล่าสุด จากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีการประกาศรับฟังความคิดเห็นกรณีค่าไฟที่เป็นไปได้ในช่วงเดือนมกราคม 2567 มีความเป็นไปได้ที่ค่าไฟอาจจะพุ่งขึ้นไปถึง 4.68 บาทต่อหน่วยในกรณีที่เลวร้ายน้อยที่สุด ส่วนในกรณีที่เลวร้ายที่สุดอาจขึ้นไปแตะถึง 6 บาทต่อหน่วย

สิ่งที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เพิ่งแถลงไปถึงการลดค่าไฟเหลือ 3.99 บาท ว่าเป็นผลงานรัฐบาล จึงเป็นเพียงการยืดหนี้โดยไม่มีมาตรการรองรับ เล่นกับความคาดหวังของประชาชนว่าเชื้อเพลิงจะมีราคาลดลง ทำให้ก้อนหนี้ที่หน่วยงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกอยู่จะลดลงไปด้วย แล้วรัฐบาลจะสามารถคงราคาค่าไฟอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยได้ต่อไป แต่ในความเป็นจริงทุกอย่างสวนทาง ราคาเชื้อเพลิงโลกเพิ่มสูงขึ้น ก้อนหนี้ที่แบกอยู่ก็ขยายขึ้นไปด้วย เราจึงได้เห็นราคาค่าไฟที่อาจขึ้นไปแตะถึง 6 บาทต่อหน่วยในกรณีที่เลวร้ายที่สุด

นายศุภโชติ กล่าวต่อว่า พรรคก้าวไกลย้ำมาเสมอว่ารัฐบาลจำเป็นต้องแก้ไขที่โครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ หยุดการนำของแพงมาให้ประชาชนแล้วนำของถูกให้เอกชน การแก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อลดค่าความพร้อมจ่าย หยุดเอาเงินของประชาชนไปให้กลุ่มทุนฟรีๆ ไปสร้างโรงไฟฟ้าที่สร้างมาแล้วไม่ได้เดินเครื่อง แต่ที่ผ่านมารัฐบาลกลับไม่มีความพยายามแก้ไขอย่างจริงใจ ซ้ำยังสานต่อปัญหาเดิม สร้างปัญหาใหม่ ปล้นคนไทยให้จ่ายค่าไฟแพงขึ้น ประยุทธ์เป็นคนคิด เศรษฐามาสานต่อ โดยรับคำสั่งมาจากกลุ่มทุนไอ้โม่งกลุ่มหนึ่ง

ทั้งนี้ มีจิ๊กซอว์อยู่ 5 ชิ้น ที่กำลังนำพาประชาชนคนไทยให้ไปจ่ายค่าไฟที่แพงขึ้น กล่าวคือ

1) ย้อนกลับไปวันที่ 10 ตุลาคม 2566 กรณีศาลปกครองมีคำสั่งทุเลาชั่วคราวการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนพลังงานลม 1,500 เมกะวัตต์ เป็นการชั่วคราว เนื่องจากมีบริษัทเอกชนรายหนึ่งได้ยื่นร้องต่อศาลว่า กกพ. ได้ออกประกาศรับซื้อพลังงานหมุนเวียนอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2) พรรคก้าวไกลตรวจสอบข้อเท็จจริงนี้ และได้นำมาสู่การตั้งกระทู้สดของ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในวันที่ 26 ตุลาคม 2566 ที่นายกรัฐมนตรีปฏิเสธการตอบกระทู้สดด้วยตนเอง แต่หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีกลับขึ้นมาตอบกระทู้ของคนอื่นได้ นี่เป็นการที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา กำลังทำเป็นมองข้าม เหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นในภาคพลังงานไทยใช่หรือไม่?

3) แต่หากจะโยนทุกอย่างไปที่รัฐบาลเศรษฐาก็อาจจะไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะโครงการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนกว่า 5 พันเมกะวัตต์ เป็นผลงานทิ้งทวนของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ออกมติเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพิ่มการซื้อพลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซื้อพลังงานหมุนเวียนเพื่อขายให้กับเอกชนที่ต้องการใช้พลังงานสะอาด

4) ประกาศระเบียบการรับซื้อที่ออกโดย กกพ. เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 ถูกตั้งคำถามมากมายโดยทั้งนักวิชาการและผู้ร่วมประมูลเอง ทั้งการรับประกันรายได้ที่นานถึง 25 ปี และระเบียบการรับซื้อที่ไม่ใช่การประมูลราคา แต่เป็นการให้คะแนนเชิงเทคนิคเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้บอกหลักเกณฑ์ว่าจะมีการให้คะแนนอย่างไรด้วย ทำให้ผู้เข้าร่วมหลายคนสงสัยว่าอาจจะเป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจโดยปราศจากหลักเกณฑ์ในการตัดสินหรือไม่

5) ผลของการคัดเลือก ที่เกินกว่าครึ่งของทั้ง 5 พันเมกะวัตต์ที่จะรับซื้อ ถูกจัดสรรไปให้กลุ่มทุนเอกชนเพียงแค่ 2 รายเท่านั้น โครงการมูลค่าหลายแสนล้านบาท เหตุใดจึงมีการจัดสรรให้เอกชนเพียงไม่กี่รายเท่านั้น?

นายศุภโชติกล่าวต่อไป ว่าหลังคำสั่งศาลออกมาเพียงไม่กี่วัน รัฐบาลยังมีการลงนามในสัญญารับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างรัฐกับเอกชนรายหนึ่งเกือบ 700 เมกะวัตต์ ทั้งที่มาจากประกาศฉบับเดียวกันที่เป็นปัญหาอยู่ คำถามคือนี่เป็นการร่งรัดกระบวนการให้ประชาชนจ่ายค่าไฟแพงขึ้น จากคำสั่งของไอ้โม่งที่อยู่เบื้องหลังหรือไม่?

ด้วยเหตุนี้ เราจึงสามารถสรุปให้เห็นได้ถึงความผิดปกติ 3 ประการในกระบวนการดังกล่าว ประกอบด้วย

1) จากเหตุผลที่ศาลปกครองให้ไว้ในคำสั่งทุเลาชั่วคราวดังกล่าว ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าการที่ กกพ. ไม่มีการประกาศเกณฑ์การให้คะแนนที่ใช้ในการคัดเลือกผู้ชนะ เป็นการผิดต่อกฎหมาย พ.ร.บ.คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน 2550 ที่กำหนดว่า กกพ. จะต้องเป็นผู้ออกระเบียบ หลักเกณฑ์ และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และต่อมาเมื่อมีผู้ร้องเรียน กกพ. จึงออกหลักเกณฑ์ตามหลังมา แต่หลักเกณฑ์ที่ออกมากลับออกหลังปิดรับสมัครไปแล้วถึง 4 วัน

เหตุผลของศาลปกครองยังระบุให้เห็นว่าเมื่อมีผู้อุทธรณ์ ก็ปรากฏว่า กกพ. กลับทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาคำอุทธรณ์เอง ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองอย่างชัดเจน และสุดท้ายคือการที่ผู้เข้าร่วมการคัดเลือกไม่สามารถขอดูคะแนนการประเมินจากคณะอนุกรรมการการคัดเลือกได้ 

นายศุภโชติ กล่าวว่า ทั้งหมดนี้ทำให้คิดได้ว่าเกิดการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือการให้คะแนนที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ และเป็นที่ชัดเจนว่าประกาศรับซื้อพลังงานหมุนเวียนของ กกพ. ครั้งนี้มีปัญหาและไม่โปร่งใส ดังนั้น จึงไม่ใช่แต่เพียงโครงการลมที่ควรจะถูกชะลอการลงนามสัญญา แต่โรงไฟฟ้าประเภทอื่นที่อยูในฉบับเดียวกัน ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมระบบกักเก็บ ฯลฯ ก็ควรจะถูกชะลอการลงนามสัญญาเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง หรือหากจำเป็นต้องมีกระบวนการคัดเลือกใหม่ ก็ควรทำอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา และตรวจสอบได้

2) กำลังมีการอ้างถึงพลังงานสะอาดเพื่อเปิดช่องให้เกิดการทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคารับซื้อที่สูงเกินไปโดย กกพ. เป็นผู้ตั้งราคารับซื้อ คำถามคือ กกพ. ทราบได้อย่างไรว่าราคาที่ตั้งมาเป็นราคาที่ถูกที่สุด เพราะโดยปกติที่ต่างประเทศทำกันคือการให้ผู้เข้าร่วมการคัดเลือกยื่นเสนอราคาแข่งขันกันเข้ามา แล้วให้ผู้เสนอราคาที่ถูกที่สุดเป็นผู้ชนะไป

นี่ทำให้ระเบียบที่ออกมาอาจไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีราคาถูก และอาจเป็นการให้ประโยชน์เกินความจำเป็นกับเอกชนรายใดรายหนึ่ง เพราะเมื่อเปรียบเทียบโครงการที่รัฐให้เอกชนกับโครงการที่รัฐให้ประชาชน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่านโยบายอย่างนี้ทำมาเพื่อใคร ไม่ว่าจะเป็นราคารับซื้อ ที่แม้ราคาจะใกล้เคียงกัน แต่ระยะเวลาการรับประกันรายได้ที่ให้เอกชนกลับยาวนานถึง 25 ปี ต่างจากที่รับประกันให้ประชาชนแค่ 10 ปี ขณะเดียวกัน กำลังการผลิตติดตั้งสูงสุด โครงการหนึ่งเอกชนติดตั้งได้ 90 เมกะวัตต์ แต่ประชาชนติดตั้งได้โครงการละแค่ 0.01 เมกะวัตต์ หรือต่างกัน 9 พันเท่า และสุดท้าย โควตาที่ให้ทั้งหมด เป็นการให้กับเอกชนกว่า 5 เมกะวัตต์ ให้ประชาชนแค่ 90 เมกะวัตต์

นี่ยังไม่รวมมติจากรัฐบาลล่าสุดที่อนุมัติให้มีการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอีก 3,600 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ทำให้โครงการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนนี้มีปริมาณรวมเป็นกว่า 8 พันเมกะวัตต์แล้ว ซ้ำร้ายยังมีข้อแม้เพิ่มขึ้นมาว่าห้ามผู้มีข้อพิพาทหรือฟ้องร้องรัฐอยู่เป็นผู้ยื่นข้อเสนอ ทำให้เป็นที่น่าสงสัยว่าจะเป็นการจงใจล็อกผลให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกแล้วหรือไม่?

3) ความจำเป็นในการรับซื้อพลังงานทดแทน ทั้งที่ประเทศไทยมีพลังงานไฟสำรองล้นเหลืออยู่แล้ว ตัวเลขล่าสุดคือ 55% และหากย้อนกลับไปดูในอดีต จะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่มีการรับซื้อพลังงานจากเอกชน จะทำให้ประเทศมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นเรื่อยๆ หมายความว่าประชาชนจะต้องจ่ายค่าไฟที่สูงขึ้นจากโรงไฟฟ้าที่ถูกสร้างขึ้นแล้วไม่ได้ใช้

ในอดีต ตั้งแต่รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการเปิดอนุมัติให้มีการประมูลโรงไฟฟ้า IPP กว่า 5 พันเมกะวัตต์ และไม่กี่ปีถัดมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้ประเคนซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าอีก 1,400 เมกะวัตต์ โดยไม่มีการออกระเบียบการรับซื้อ ยังไม่นับรวมกับที่เรากำลังพูดถึงกันวันนี้ คือการรับซื้อเพิ่มอีกกว่า 8 พันเมกะวัตต์ คำถามคือโรงไฟฟ้าจำนวนมากขนาดนี้ เหตุใดจึงมีการรวบรัดนำมาประมูลในครั้งเดียว ทั้งที่สามารถซอยย่อยทีละ 1-2 พันเมกะวัตต์ จะสามารถกำหนดราคารับซื้อที่ถูกลงได้? 

จากความผิดปกติทั้ง 3 ประการ หากยังปล่อยให้มีการออกระเบียบการรับซื้อพลังงานที่ไม่โปร่งใสเช่นนี้ ย่อมส่งผลต่อความเชื่อถือของนักลงทุนต่อกระบวนการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างแน่นอน

นายศุภโชติ กล่าวต่อว่า ทั้งหมดนี้ทำให้ตนต้องตั้งคำถามไปที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพช. ที่มีอำนาจในการออกมติให้ทบทวนการลงนามสัญญา หรือชะลอการลงนามสัญญาออกไปก่อน อย่างน้อยเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและคลายข้อครหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่ปัจจุบันเรากลับเห็นได้ว่าไม่มีการทำอะไรเลย ซ้ำยังปล่อยให้มีการลงนามสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนเกือบ 700 เมกะวัตต์ ทั้งที่ศาลได้มีคำสั่งระงับหรือชะลอการลงนามสัญญาออกไปก่อนแล้ว

“นี่คือการจงใจฮั้วประมูล ซื้อขายโรงไฟฟ้าที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาทอยู่หรือไม่ พรรคก้าวไกลไม่ได้มีความพยายามเตะถ่วงไม่ให้เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในประเทศ แต่หากจะเกิดขึ้นก็ต้องมีกระบวนการที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ เป็นโครงการที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ขอถามถึงนายกรัฐมนตรีว่าในเมื่อกระบวนการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนนี้มีปัญหา ส่อทุจริต และไม่โปร่งใสอย่างชัดเจนเช่นนี้ นายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจที่มีในการทบทวน ตรวจสอบ และชะลอ หรือกระทั่งยับยั้งการลงนามสัญญาหรือไม่?” นายศุภโชติกล่าว

TAGS: #นโยบายพลังงาน #ก้าวไกล #ประยุทธ์ #เศรษฐา #ศุภโชติไชยสัจ