“คำนูณ” เผยไม่ขัดในหลักการ “นายกฯ-รัฐบาล” เตรียมออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่ห่วงเสี่ยงขัดมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังเหตุไม่เข้าเงื่อนไขกู้เงิน แนะ ใช้ งบฯ 67 ดีกว่า
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิ (ส.ว.) เผย กรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเตรียมออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ก็มีความชัดเจนในระดับสำคัญ แต่ยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดทั้งหมด ซึ่งเราไม่ขัดแย้งในหลักการ แต่เมื่อจะออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงินก็เป็นห่วงว่าจะชอบด้วยกฏหมายหรือไม่ ซึ่งการกู้เงินรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 หรือไม่ เนื่องจากบทบัญญัติระบุชัดเจนว่าการออกกฎหมายพิเศษกู้เงินนั้นทำได้ 4 กรณีคือ มีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้วิกฤตของประเทศ โดยไม่สามารถตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน ต้องครบทั้ง 4 เงื่อนไข จึงจะสามารถออกกฎหมายพิเศษกู้เงินได้
“ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งจะเข้าสู่สภาฯ ในเดือนธ.ค.นี้ ดังนั้นการบรรจุเงินที่จะใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตลงไปในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จะปลอดภัยกว่า และอยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ทัน การที่ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา แล้วมาออกพ.ร.บ.กู้เงินอีก 5 แสนล้านบาท ผมเห็นว่าจะเป็นการเสี่ยงต่อการขัดมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังได้" นายคำนูณ กล่าว
นายคำนูณ กล่าวว่า ส่วนเงื่อนไขอื่นๆ เช่นเรื่องเร่งด่วนก็เป็นปัญหาเพราะถ้าจำเป็นใช้เงินไม่อาจรอได้ เช่น สมัยรัฐบาลที่แล้วก็เลือกออก พ.ร.ก.กู้เงินเมื่อครั้งโควิด 19 ขณะที่การออกเป็นพ.ร.บ.ต้องใช้เวลาไม่น้อนกว่า 6 เดือน และตนเห็นว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่จำเป็นต้องใช้เงินต่อเนื่อง แต่เป็นการใช้เงินครั้งเดียวกระตุ้นเศรษฐกิจโดยแจกประชาชน 50 ล้านคน ส่วนที่รัฐบาลระบุความจำเป็นเพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศ ตนขอไม่ก้าวล่วง เพราะมีความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์แตกต่าง 2 ทาง และความเห็นของรัฐบาลที่มองว่าจีดีพีของประเทศโตต่ำเกินไปอย่างต่อเนื่อง และต่ำกว่าประเทศอื่น เมื่อเปรียบเทียบแล้วถือเป็นวิกฤตของประเทศ ตนก็เคารพความเห็นของรัฐบาล เพราะรัฐบาลได้รับการเลือกตั้งมา และเป็นนโยบายที่หาเสียงไว้ จึงมองว่าประเด็นนี้สามารถถกเถียงกันได้
นายคำนูณ กล่าวอีกว่า เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลเคยชี้แจงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) เรื่องที่มาของเงินสรุปโดยรวมว่า มาจากเงินงบประมาณ แต่ล่าสุดกลับระบุว่าจะใช้เงินนอกงบประมาณด้วยการออกกฎหมายกู้เงิน ซึ่งหากเป็นไปตามกฎหมาย ส่วนตัวไม่มีปัญหาขัดข้อง แต่มีความเป็นห่วงว่าจะไม่ตรงตามข้อกฎหมาย ส่วนกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง ระบุว่าจะขอความเห็นไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงต้องรอฟังคำตอบ รวมถึง ครม. จะมีมติเสนอร่างพ.ร.บ.กู้เงินต่อรัฐสภาหรือไม่ จากนั้นเราก็ต้องดูว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน มีลักษณะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
“เจตนารมณ์ของกฏหมายวินัยการเงินการคลังตามมาตรา 53 ต้องการให้การใช้จ่ายทุกประการของรัฐ ของแผ่นดิน อยู่ภายใต้กรอบกฏหมายงบประมาณรายจ่ายให้มากที่สุด ไม่ต้องการให้รัฐบาลใดๆก็ตามออกกฏหมายกู้เงินมาใช้ เป็นเงินนอกงบประมาณโดยปราศจากเงื่อนไข ซึ่งในอดีตมีปัญหานี้มาโดยตลอด ตั้งแต่ไทยเข็มแข็ง พรรคประชาธิปัตย์ปี 2552 ต่อมาเพื่อไทยปี 2554 และ 2556 จึงเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญมาตรานี้ และกฏหมายวินัยการเงินการคลัง ซึ่งใช้ตามมาตรา 53 ครั้งแรกสมัยรัฐบาลประยุทธ์ที่ออกเป็นพ.ร.ก.ช่วงโควิด 19” นายคำนูณ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากรัฐบาลดึงดันออก พ.ร.บ.กู้เงินต่อไปจะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายวินัยการเงินการคลังหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า ไม่ขอใช้คำว่าดึงดัน แต่มองว่าเป็นเจตนาดีต่อประเทศและขอให้เครดิตนายกฯ ที่เลือกวิธีนี้ แต่วิธีนี้จะไปต่อได้หรือไม่ คงต้องรอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล
นายคำนูณ ฐานะปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวด้วยว่า สำหรับการประชุมกมธ. ได้พิจารณาศึกษานโยบายประชานิยมในภาพรวมในเชิงวิชาการ โดยมีประเด็นเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่กมธ.ฯ ได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงด้วย ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 กำหนดการกำกับนโยบายประชานิยมไว้ด้วยว่าให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ทำรายงานเสนอต่อ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หากคณะกรรมการฯเห็นด้วย ก็ให้จัดตั้งคณะกรรมการองค์กรอิสระสามหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กกต. และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หากมีความเห็นสองในสามว่าเข้าข่ายกระทำผิด ก็ให้ส่งรายงานเสนอไปยังครม. สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา พร้อมเผยแพร่ต่อสาธารณะ ซึ่งไม่ได้บอกให้ยกเลิก แต่เป็นกลไกตามรัฐธรมมนูญ ที่จะทำให้กฎหมายวินัยการเงินการคลังมีความศักดิ์สิทธิ์และปฏิบัติได้ เรื่องนี้จึงเป็นภาพยนตร์เรื่องยาวที่ต้องติดตามกันต่อไป