คาดสัปดาห์หน้ารู้ผลกฤษฎีกาศึกษาร่างพ.ร.บ.กู้ 5 แสนล้าน เมินปมถูกยื่นศาลรธน.

คาดสัปดาห์หน้ารู้ผลกฤษฎีกาศึกษาร่างพ.ร.บ.กู้ 5 แสนล้าน เมินปมถูกยื่นศาลรธน.
“รองเลขาฯนายกฯ” คาดปลายสัปดาห์หน้ารู้ผลกฤษฎีกาศึกษาร่าง พ.ร.บ.กู้ 5 แสนล้าน ด้าน “ประธานวิปรัฐบาล” มั่นใจเสียงพรรคร่วมรัฐบาลโหวตเห็นชอบ ไม่หวั่นหากถูกยื่นศาลรธน.

นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เผย ความคืบหน้าการออกพระราชบัญญัติหรือ พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทว่า ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังศึกษาข้อกฎหมายอยู่ คาดว่าน่าจะใช้เวลาไม่นาน ปลายสัปดาห์หน้าน่าจะได้ทราบผล หากผ่านขั้นตอนตรวจสอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ทางคณะรัฐมนตรี ก็คงจะส่งเรื่องไปที่สภา เพื่อไปสอบถามการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายมาตรา 77

ด้านนายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล คาดว่าจะใช้เวลาสักพักก่อนที่รัฐบาลจะเสนอร่างพ.ร.บ.ให้สภาพิจารณา เบื้องต้นก่อนส่งเนื้อหาให้สภา ต้องทำประเด็นที่เป็นข้อสงสัยต่างๆ ให้กระจ่างก่อน ดังนั้นเมื่อรัฐบาลพร้อมเมื่อใด วิปรัฐบาลในฐานะมือไม้ที่ดูแลงานกฎหมายพร้อมปฏิบัติให้ สำหรับการเสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าวต่อสภา จะถูกบรรจุให้เป็นเรื่องด่วนที่พิจารณาเป็นอันดับแรก ส่วนกรอบการพิจารณาวาระแรกนั้น เบื้องต้นอาจจะใช้เวลา 1 วันเต็ม หรือ 2 วัน ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของวิปรัฐบาล และต้องมีเวลาเพียงพอที่ให้ฝ่ายตรวจสอบได้ซักถามและรัฐบาลได้ชี้แจง ซึ่งเมื่อผ่านวาระแรกแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการตั้งคณะกรรมาธิการ ส่วนจะใช้เวลาพิจารณากี่วันนั้น ตามปกติของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. จะอยู่ที่ 30-90 วันโดยต้องยึดความรอบคอบที่สุด และเมื่อกรรมาธิการพิจารณาแล้วเสร็จ ต้องนำกลับมาให้สภาพิจารณาวาระสองและวาระสามที่ต้องให้ความเห็นชอบหรือไม่ทั้งฉบับ เบื้องต้นตนมั่นใจในความมั่นคงของพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นเสียงข้างมากว่าจะโหวตเห็นชอบ และเมื่อสภาเห็นชอบแล้วต้องส่งไปยังวุฒิสภาพิจารณา

ส่วนประเด็นที่ ส.ว.บางคนกังวลต่อการออกร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว จะขัดต่อกฎหมายวินัยการเงินการคลังหรือรัฐธรรมนูญนั้น ประธานวิปรัฐบาล เชื่อว่าจะสามารถทำให้คลายกังวลได้ตั้งแต่ชั้นพิจารณาของสภาแล้ว และการพิจารณาของ สว.นั้นจะไม่ใช้เวลานานไปกว่าที่สภาพิจารณา แต่หากท้ายสุด สว.ไม่เห็นชอบ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการของสภา ที่จะยืนยันร่าง พ.ร.บ.เงินกู้เป็นกฎหมายต่อไป นอกจากนี้เป็นสิทธิที่จะมีผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบ เพื่อความละเอียดรอบคอบ แม้กฎหมายจะออกมาช้า แต่ตนเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลแน่นอน พร้อมเชื่อว่าท้ายที่สุดจะเป็นที่ยอมรับร่วมกันได้ เหมือนปี 2544 ช่วงที่จะมีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค แม้ในสภาจะโต้เถียงอย่างหนัก แต่สุดท้ายโครงการดังกล่าวก็สามารถเกิดขึ้นได้และใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน
 

TAGS: #เงินดิจิทัล #อดิศร #สมคิดเชื้อคง #ดิจิทัลวอลเล็ต #ศาลรัฐธรรมนูญ #ศาลรธน.กฤษฎีกา