ลูกชายดร.สมคิดวิเคราะห์การเมืองลุงตู่ มองเลือกตั้ง 2566 ตัดสินประชาธิปไตยไทย

ลูกชายดร.สมคิดวิเคราะห์การเมืองลุงตู่ มองเลือกตั้ง 2566 ตัดสินประชาธิปไตยไทย
ประชาธิปไตยเต็มใบ หรือ อำนาจนิยม สถาบันวิจัยสิงคโปร์มองการเมืองไทยบนทางแยกเลือกตั้ง 2566

การเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทยปีนี้ อาจเป็นได้ทั้งความหวังให้ไทยผลัดสู่ประชาธิปไตยเต็มใบหลังรัฐประหาร แต่ก็อาจทำให้กระบวนการนิติบัญญัติชะงักงั้นเช่นกัน

สถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค (ISEAS Yusof-Ishak Institute) องค์กรวิชาการอิสระในประเทศสิงคโปร์  ตีพิมพ์บทความวิเคราะห์การเมืองไทยโดย ณพล จาตุศรีพิทักษ์ มองว่า ในปีนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ การเลือกตั้งทั่วไปที่อาจจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ จะเป็นตัวตัดสินว่าประชาธิปไตยของไทยจะยังคงอยู่ภายใต้เงาของระบอบทหารหรือไม่ หรือสามารถสร้างผู้นำคนใหม่ที่เป็นแบบประชาธิปไตยเต็มใบ 

ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทยมีแนวโน้มกลับมาผงาดอย่างยิ่งใหญ่ แต่พรรคก็ถูกสกัดดาวรุ่งด้วยข้อจำกัดมากมายผ่านกระบวนการเลือกตั้งอันซับซ้อน ประกอบกับคำตัดสินของศาลที่สั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติซึ่งถูกมองว่าเป็นพรรคแนวร่วมเดียวกัน ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยคว้าน้ำเหลวในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสมพร้อมนายกรัฐมนตรี แม้ว่าพรรคจะครองที่นั่งในสภาผู้แทนฯ มากถึง 136 เสียงก็ตาม

ด้วยแนวทางนำระบบการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ ซึ่งคล้ายกับรูปแบบที่พรรคไทยรักไทยเคยคว้าชัยชนะเมื่อปี 2544 และ 2548 ปัจจุบันพรรคเพื่อไทยนำโดย แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็กของทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยได้แสดงความมั่นใจว่าจะสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งได้อย่างถล่มทลาย 'แลนด์สไลด์' อีกครั้งหนึ่ง


ความมั่นใจของพรรคเพื่อไทยเป็นผลมาจากตัวเลขของผลสำรวจหลายสำนักซึ่งแสดงให้เห็นฐานสนับสนุนอันแข็งแกร่ง ขณะที่พรรคการเมืองแนวร่วมสายรัฐบาลทหารยังไม่อาจแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันได้ สะท้อนจากความตึงเครียดในด้านความสัมพันธ์ระหว่าง 2ป. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่่ส่งผลให้มีพรรคการเมืองจากสายทหารสองพรรคเกิดขึ้น

เมื่อ 9 มกราคมที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรีประกาศตัวอย่างเป็นทางการเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ แยกทางกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งนำโดยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่สุดในขณะนี้ 

คาดว่าพรรครวมไทยสร้างชาติที่มีพลเอกประยุทธ์เป็นหนึ่งในดาวเด่นสมาชิก จะดึงดูดการสนับสนุนคะแนนเสียงตลอดจนนักการเมืองสายอนุรักษ์นิยมซึ่งเคยสังกัดพรรคอื่นอย่าง พรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ให้ย้ายพรรคมาร่วมกับรวมไทยสร้างชาติ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าจับตามองว่า พรรครวมไทยสร้างชาติจะสามารถคว้าที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรอย่างน้อย 25 หรือไม่ ซึ่งจำเป็นต่อการเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตร  หากพรรคต้องการให้พลเอกประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย แม้ว่าตามกฎหมายแล้วพลเอกประยุทธ์จะดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้อีกเพียง 2 ปีเท่านั้น


ในขณะเดียวกับ พลเอกประวิตรภายหลังที่ไร้เงาพลเอกประยุทธ์ข้างกาย สามารถเริ่มต้นทำงานการเมืองได้อย่างอิสระมากขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เหลืออยู่ในพลังประชารัฐเป็นเครื่องมือต่อรองเพื่อปกป้องอนาคตทางการเมืองของเขา ในขณะเดียวกันความสัมพันธ์ส่วนตัวของพลเอกประวิตรกับกลุ่มครอบครัวชินวัตรก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่อาจเป็นนัยยะสำคัญถึงความเป็นไปได้ที่พรรคพลังประชารัฐ อาจจับมือเป็นแนวร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ผ่านทางร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า  อดีต รมว.เกษตรฯ ที่ถูกขับออกจาก ครม. หลังจากพยายามปลด พล.อ. ประยุทธ์ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ การออกจากพรรคพลังประชารัฐของของพลเอกประยุทธ์ คาดว่าอาจทำให้อดีตส.ส.พลังประชารัฐหลายคนที่ย้ายไปอยู่กับกลุ่มพรรคของร้อยเอกธรรมนัส จะย้ายกลับมาซบพรรคพลังประชารัฐอีกครั้ง

ความล้มเหลวของพรรคเพื่อไทยที่ชวดการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เนื่องจากข้อจำกัดด้านรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2560 ที่ให้อำนาจวุฒิสภาในการลงมติเลือกนายรัฐมนตรีจนถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2567  อาจทำให้พรรคเพื่อไทยใช้ประโยชน์จากความแตกแยกของระบบ 2ป. ในความพยายามกลับสู่อำนาจทางการเมืองอีกครั้งผ่านกระบวนการเลือกตั้ง  ซึ่งยากจะปฏิเสธว่า แม้พรรคเพื่อไทยจะมีฐานเสียงสนับสนุนอันแข็งแกร่ง แต่ก็มีปัจจัยจากพรรคอื่นอย่าง พรรคภูมิใจไทย หรือพรรคก้าวไหล ที่สกัดดาวรุ่งในชัยชนะแลนด์สไลด์ของเพื่อไทยได้

ส.ว.ส่วนใหญ่ในวุฒิสภาล้วนได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือก 10 คนที่มีพลเอกประวิตรเป็นประธานภายใต้การกำกับของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่พลเอกประยุทธ์เป็นหัวหน้า ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีในวุฒิสภา จะยังคงได้รับอิทธิพลจากระบบทหารแม้ว่า 2ป.จะแตกออกเป็นสองขั้วก็ตาม


ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้รัฐสภาไทยไม่อาจหนีสภาวะ "สภาแขวน" ไปได้ พรรคเพื่อไทยอาจไม่สามารถผงาดขึ้นเป็นรัฐบาลได้ตามฝันโดยเฉพาะยิ่งมี 250 ส.ว.ดักทางอยู่ ในขณะเดียวกัน แม้ว่าวุฒิสมาชิกส่วนใหญ่ยังคงมีหน้าที่ต้องโหวตเลือกนายกซึ่งอาจเป็นได้ทั้งประยุทธ์หรือประวิตร แต่พรรคฝ่ายทหารก็อาจไม่สามารถรักษาเสียงข้างมากในสภาเพื่อผ่านร่างกฎหมายงบประมาณหรือรอดพ้นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ 

ในกรณีที่ไม่มีการแทรกแซงนอกรัฐธรรมนูญ สถานการณ์ที่หยุดชะงักอาจนำไปสู่พลวัตแนวร่วมใหม่ที่อาจเห็นนายพลใช้ข้ออ้างเหล่านี้กลับคืนสู่อำนาจ หรือประสบความสำเร็จโดยฉวยโอกาสทางการเมืองที่สามารถเล่นได้ทั้งสองด้าน

ส่วน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นับว่าเป็นที่น่าจับตามองในฐานะผู้รับไม้ต่อนายกรัฐมนตรี  ไม่ว่าพลเอกประยุทธ์จะได้รับเลือกใหม่หรือไม่ก็ตาม เพราะพรรคของเขาเป็นแม่เหล็กทางการเมืองที่ดึงดูดส.ส. มากกว่า 40 คนจากทุกขั้วการเมือง นั่นทำให้ภูมิใจไทยมีความเป็นไปได้ทั้งเป็นพรรคแกนนำฝ่ายทหาร หรือเป็นพรรคแนวร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับเพื่อไทย เรียกว่าความหวังของอนุทินที่จะผงาดนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีนั้นไม่ไกลเกินจริง

สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวไทยและสมาชิกวุฒิสภา ความเป็นไปได้เหล่านี้จะกลายเป็นความจริงหรือไม่  แต่สุดท้ายภาพการรวมระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยจะยังคงเป็นเพียงความฝัน เว้นแต่รัฐบาลชุดต่อไปจะมีเจตจำนงและความสามารถที่จะบังคับให้กองทัพกลับเข้าอยู่ในร่องในรอย ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และกำหนดขอบเขตอำนาจที่เหมาะสมต่อไป 
 

TAGS: #การเมือง #ลุงตู่ #ประยุทธ์ #รวมไทยสร้างชาติ #เพื่อไทย #แลนด์สไลด์ #พลังประชารัฐ #ประวิตร วงษ์สุวรรณ #ประยุทธ์ จันทร์โอชา #อนุทิน ชาญวีรกุล #ภูมิใจไทย