"พิธา" พอใจชี้แจงศาลคำร้องถือหุ้นไอทีวี ยันแสดงเจตนาสละไม่รับมรดกหุ้นก่อนร่วมพรรคอนาคตใหม่ มั่นใจกลับทำหน้าที่ สส. ทันทีหากพ้นข้อกล่าวหา ศาลนัดชี้ขาดสถานะ สส. 24 ม.ค. 67 บ่ายสอง
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เผย หลังเสร็จการไต่สวนพยานบุคคล ที่ศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ กกต. (ผู้ร้อง) ส่งคำร้องขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยกรณี นายพิธา เป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส. ของนายพิธา สุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ ว่า การไต่สวนวันนี้ ได้พูดถึงข้อเท็จจริงทุกประการ ถือว่าน่าพอใจ แต่ตนไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดการไต่สวนได้ ถือเป็นการละเมิดศาล แต่ข้อเท็จจริงที่สื่อมวลชนได้นำเสนอเกี่ยวกับการยุติประกอบกิจการของ บ.ไอทีวี หรือฐานะผู้จัดการมรดก ได้รับการไต่สวนจากศาลรัฐธรรมนูญ ฝ่ายกฎหมายของผู้ร้องและผู้ถูกร้องก็มีครบถ้วน ซึ่งตามเอกสารของศาลรัฐธรรมนูญ มีชื่อ นายแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงาน กกต. นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ITV ปี 66 และตนที่ต้องมาร่วมไต่สวนในวันนี้
เมื่อถามว่า มีการยื่นหลักฐานหรือชี้แจงอะไรบ้าง ในการไต่สวนครั้งนี้ นายพิธา เผยว่า รายละเอียดตนสัมภาษณ์ไม่ได้ และไม่สามารถประเมินคำวินิจฉัยของศาลได้ เพราะเป็นการละเมิดศาล ซึ่งก็ถือว่าพอใจและหวังว่าเป็นไปตามที่คาดหวัง อย่างไรก็ตามต้องรอเอกสารข่าวจากศาลในบ่ายนี้ และต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้นัดฟังคำพิพากษา
ส่วนความมั่นใจก่อนที่จะเข้าไปและออกมา มีเพิ่มขึ้นหรือลดลง นายพิธา ย้ำว่า วันนี้ผมทำเต็มที่ มั่นใจตั้งแต่ก่อนที่จะเข้าไปในศาล มั่นใจว่าได้ตามหน้าที่ของผู้ถูกร้องอย่างเต็มที่ มั่นใจว่าได้รับความความยุติธรรม หวังว่าคำพิพากษาจะเป็นคุณ เพื่อจะได้กลับไปเป็น สส. รับใช้ประชาชน รู้สึกพอใจกับกระบวนการยุติธรรม“
ในวันที่สมัคร สส. ปี 2560 ยืนยันได้หรือไม่ว่ายังคงถือหุ้นสื่อไอทีอยู่ นายพิธา เผยว่า ถือในฐานะผู้จัดการมรดก เป็นการถือแทนน้องชาย ซึ่งได้สละเจตนาตั้งแต่ก่อนอยู่พรรคอนาคตใหม่ และมีการปันทรัพย์มรดกกัน ตนจะตอบมากกว่านี้ไม่ได้ และนี่เป็นหนึ่งในข้อที่มีการพูดคุยกัน ถ้าตอบไปจะเป็นการชี้นำสังคมและเป็นการละเมิดศาล
เมื่อถามว่า ไอทีวี ได้ยุติการออกอากาศแล้วสามารถกลับมาทำสื่อได้อีกครั้งหรือไม่ นายพิธา ระบุว่า เรื่องนี้ขอให้ถาม นายคิมห์ น่าจะเหมาะสมมากกว่า ส่วนตัวจะไปพูดแทนไม่ได้ แต่ถ้าได้ดูตามเอกสารที่ออกมาก็จะเห็นว่าไอทีวีได้ยุติการประกอบกิจการไปตั้งแต่ ปี 50 ทรัพยากรอีกครึ่งหนึ่งก็ไปอยู่ไทยพีบีเอส ใบอนุญาตก็ไม่มี การจะกลับมาประกอบกิจการเดิมก็ต้องมีทั้งคดีความที่เกี่ยวโยงกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. ที่ศาลปกครองสูงสุด รวมถึงคลื่นความถี่ที่ไม่มีแล้ว ใบอนุญาตประกอบกิจการ ที่สอบถามไปยัง กสทช. ก็ไม่มี
สำหรับคำพิพากษาผู้จัดการมรดกต้องมาจากศาลแพ่งส่วนที่เหลือเป็นการปันทรัพย์ ที่มีการส่งข้อมูลทางดิจิทัลที่สามารถเห็นได้ ว่าฝ่ายนั้นถูกสร้างขึ้นมาเมื่อไหร่ และเรื่องของแสตมป์อากรก็ได้ชี้แจงไปแล้วครบทุกอย่าง
ทั้งนี้ได้รับการรายงานว่าศาลรัฐธรรมนูญจะนัดเข้ารับฟังคำวินิจฉัยในวันพุธ ที่ 24 มกราคม 2567 เวลา 14.00 น.