นายกฯ สั่งรื้อทบทวนปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

นายกฯ สั่งรื้อทบทวนปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
นายกฯ ประชุม คกก.ยุทธศาสตร์ชาติ สั่งการ สศช.ทบทวนปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติให้ทันกับบริบทการพัฒนาโลกอย่างสม่ำเสมอ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 2/2566 ร่วมกับนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้ที่เกี่ยวข้อง นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุมดังนี้

นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในที่ประชุมเพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติสามารถเป็นเครื่องมือในการพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับบริบทการพัฒนาที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน อาทิ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ cloud computing พลังงานสะอาด ซึ่งจะส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานคุณภาพ รวมทั้งภูมิรัฐศาสตร์ จึงขอให้คณะกรรมการร่วมกันคิดรูปแบบวิธีการดำเนินงานและการขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติที่เหมาะสม โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ควรดำเนินการทบทวนปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติให้ทันกับบริบทการพัฒนาโลกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาประเทศที่มีความยืดหยุ่น ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพื่อให้ประชากรรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังการพัฒนาประเทศที่สำคัญได้เป็นส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป

“การวางยุทธศาสตร์ถือเป็นการวางกรอบโครงยุทธศาสตร์ที่ให้รัฐบาลและคนทั้งประเทศได้รับรู้และทำงานไปในทิศทางประเทศไทยในอนาคต ที่เราอยากให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และเพื่อให้รู้ว่าจะไปสู่ภาพนั้นจะต้องทำอย่างไรบ้าง ผมคิดว่าการมียุทธศาสตร์ มีกลยุทธ์ในการทำงานเป็นเรื่องที่ดี แต่ผมไม่เชื่อกับการวางแผนแล้วล็อกตัวเองไว้ยาวนานเกินไป ไม่มีใครที่วางแผนไว้ยาวนานถึง 20 ปี เพราะแม้กระทั่ง 5 ปียังทำได้ยาก โลกนี้เปลี่ยนไปแล้วและจะเปลี่ยนเร็วขึ้นเรื่อย ๆ จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งอาจจะเมื่อ 6 เดือนที่แล้วหรือ 10 เดือนที่แล้วเราไม่เคยได้ยิน Chat GPT เรื่อง Artificial Intelligence เรื่องของเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะมากำหนดทิศทางโลก เรื่องพลังงานสะอาดเป็นเรื่องที่เวลาเดินทางไปเจรจากับต่างประเทศจะเป็นเรื่องแรกที่หยิบยกมาพูดคุยกัน เป็นเรื่องที่โลกเราเปลี่ยนไปมาก โดยเรื่องเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของ war of talent ที่ทุกบริษัท ทุกรัฐบาล ทุกประเทศทั่วโลกดึงดูดคนที่มีความสามารถไปทำงาน และเป็นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ ประเทศไทยต้องคอยปรับยุทธศาสตร์ให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงเวลาด้วย ฉะนั้น ผมอยากให้แผนยุทธศาสตร์ต้องมีความคล่องตัว ให้มีการทบทวนและมีความยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก โดยขอฝากให้ที่ประชุมช่วยกันพิจารณารูปแบบการดำเนินงานที่เหมาะสม จะทำอย่างไรให้ยุทธศาสตร์เกิดประโยชน์ได้จริง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกในวันนี้และไม่ปิดกั้นอนาคตของประเทศชาติ เพื่อให้การพัฒนาของลูกหลานพวกเราในอีก 20 ปีข้างหน้าไม่ถูกผูกมัดด้วยความคิดของคนรุ่นเรา ให้พวกเขาได้มีโอกาสปรับเข้ากับคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตขึ้น ให้มีโอกาสที่จะเลือกทิศทางในการวางยุทธศาสตร์และก้าวไปพร้อม ๆ กับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป” นายกรัฐมนตรีกล่าว  

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบ 4 เรื่อง และมีมติรับทราบ 3 เรื่อง สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. รับทราบผลการประเมินความคุ้มค่าการปฏิบัติภารกิจของสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ สำนักงาน ป.ย.ป. โดยให้สำนักงาน ป.ย.ป. ยังคงคงปฏิบัติหน้าที่ที่รัฐบาลมอบหมายต่อไปเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยให้สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงาน ก.พ. ร่วมกันพิจารณาทบทวนและปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของ สำนักงาน ป.ย.ป. ให้มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งให้ประเมินความคุ้มค่าของสำนักงาน ป.ย.ป. ต่อไป

2. เห็นชอบ (ร่าง) โครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 309 โครงการ โดยมอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สำนักงานฯ) นำเสนอผลการพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป รวมทั้งเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินการโครงการสำคัญตามที่สำนักงานฯ เสนอ โดยทุกหน่วยงานควรเร่งสร้างบุคลากรผู้ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ในการจัดทำโครงการฯ (ครู ก.) เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดกระบวนการ หลักการ และขั้นตอนการทำโครงการสำคัญฯ ที่สามารถนำไปสู่การจัดทำโครงการแบบคานงัดที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง โดยให้ทุกหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการจัดทำโครงการภายใต้เป้าหมายแผนแม่บทย่อยที่ยังไม่มีโครงการสำคัญมารองรับ โดยให้ความสำคัญกับเป้าหมายฯ ที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล

3. เห็นชอบการปรับเปลี่ยนหน่วยงานเจ้าภาพขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติเพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมระหว่างเนื้อหาของแผนแม่บทฯ กับภารกิจหน้าที่หน่วยงานมากขึ้น โดยมอบหมายสำนักงานฯ นำผลการพิจารณา เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป โดยประธานในที่ประชุมได้กำชับให้หน่วยงานเจ้าภาพทุกระดับต้องเร่งประสานและบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานร่วมขับเคลื่อน เพื่อจัดทำโครงการการ/การเนินงานให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติได้แบบพุ่งเป้าต่อไป

4. เห็นชอบการจัดทำคำสั่งกลไกการดำเนินการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้การดำเนินการพัฒนาคนทุกช่วงวัยและการแก้ไขปัญหาความยากจนสามารถเป็นไปอย่างบูรณาการ มีประสิทธิภาพ ต่อเนื่อง เป็นประโยชน์สูงสุด และมีความยั่งยืนในการพัฒนา รวมทั้งมอบหมายทุกหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเร่งจัดส่งข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงด้วยเลขบัตรประชาชน 13 หลักให้สำนักงานฯ เพื่อที่สำนักงานฯ จะได้นำไปประมวลผลหากลุ่มคนเป้าหมายประจำปี 2567 ต่อไป

นอกจากนี้ คณะกรรมการมีมติรับทราบ 3 เรื่อง ดังนี้

1. รับทราบความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติของ สศช. ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติร่วมกับทุกหน่วยงานของรัฐในห้วง 5 ปีแรก (พ.ศ. 2561 - 2565) ของยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในห้วงที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) ตามกรอบหลักการบริหารงานคุณภาพ (PDCA) ที่มีการมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถนำไปสู่การพุ่งเป้าการดำเนินงานได้ โดยทุกหน่วยงานของรัฐต้องมุ่งเน้นการทำงานบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อสามารถยกระดับและปิดช่องว่างการพัฒนาต่าง ๆ ตามนโยบายรัฐบาลได้อย่างเป็นรูปธรรม

2. รับทราบแนวทางการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ โดยสำนักงานฯ ในฐานะสำนักงานเลขานุการ จะดำเนินการสรรหาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และเสนอรายชื่อต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเห็นชอบการแต่งตั้งรายชื่อดังกล่าวต่อไป รวมทั้งแนวทางการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยเป็นการแต่งตั้งขึ้นใหม่ 1 คณะ ประกอบด้วยผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ที่ครอบคลุมยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน จำนวน ไม่เกิน 15 คน และให้สำนักงานฯ ในฐานะสำนักงานเลขานุการ ดำเนินการสรรหารายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่มีคุณสมบัติ และเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติตามขั้นตอนต่อไป

3. รับทราบผลการประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของของพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบกฎหมายดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายเมื่อครบ 5 ปี โดยให้พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ยังมีผลบังคับใช้ต่อไป และสำนักงานฯ ในฐานะผู้รับผิดชอบกฎหมายดำเนินการยกเลิก พ.ร.บ. แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด และให้หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวอย่างบูรณาการ

TAGS: #นายกฯ #คกก.ยุทธศาสตร์ชาติ #ยุทธศาสตร์ชาติ