"พ.ร.ก.อุ้มหาย" สะดุดค้างเติ่งในสภาหลัง สส.รัฐบาลยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ขัดรธน.ม.172 ขณะที่ ผู้นำฝ่ายค้าน ชี้ รัฐบาลเล่นเกมยื้อเพราะกลัวสภาลงมติคว่ำ จึงใช้กระบวนการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยื้อเวลา
เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2566 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดพิเศษนัดส่งท้ายของสภาชุดนี้ โดยมีวาระพิจารณา พระราชกำหนด (พ.ร.ก.)แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายหรือพ.ร.ก.อุ้มหาย โดยในระหว่างที่มีการอภิปราย นายชวน หลีกภัย ประธาน ได้แจ้งว่า นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล และคณะได้เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาว่า พ.ร.ก.ดังกล่าว ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรค 1 ให้ประธานส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญภายใน 3 วัน นับแต่วันที่รับความเห็นเพื่อวินิจฉัยและให้รอการพิจารณาไว้ก่อนตามมาตรา 173 จนกว่าจะได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะนี้ได้ใช้เวลาตรวจสอบรายชื่อคำร้องทั้งหมดแล้ว ปรากฏว่ามีจำนวนสมาชิกลงลายมือชื่อ 100 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ดังนั้นเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ จึงให้รอการพิจารณาพระราชกำหนดนี้ไว้ก่อน จนกว่าจะได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงขอจบการพิจารณาในวาระนี้เพียงเท่านี้
อย่างไรก็ดีในประเด็นดังกล่าว ถูกโต้แย้งจากส.ส.ฝ่ายค้าน โดย น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า รู้สึกเสียใจที่การพิจารณากฎหมายไม่แล้วเสร็จไม่สามารถลงมติได้ ซึ่งมีแนวโน้มจะไม่อนุมัติกฎหมายฉบับนี้ เพราะฟังจากสมาชิกในสภาส่วนใหญ่คัดค้านและไม่เห็นด้วย จึงตั้งข้อสังเกตการยื่นศาลรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลว่า รัฐบาลคาดการณ์ว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้จะถูกสภาคว่ำจึงใช้กระบวนการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยื้อเวลา
ทั้งนี้จะเป็นประวัติศาสตร์ประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ชง โดย ครม. กินโดย ครม.และ อุ้มหายโดยครม.เองถือเป็นเรื่องที่น่าอับอาย สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะผู้ที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญควรจะเป็นเสียงที่ไม่อนุมัติ การยื่นครั้งนี้จึงแปลเจตนาอื่นไม่ได้นอกจากการใช้กลไกของศาลรัฐธรรมนูญยื้อเวลา เพราะศาลฯต้องใช้เวลาในการวินิจฉัย อย่างน้อยเวลา 60 วัน ซึ่งทำให้ พ.ร.ก.มีผลบังคับใช้ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรืออาจยื้อไปถึงรัฐบาลหน้า
น.พ.ชลน่าน ยังตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีปัญหาในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างไม่ทัน ตามที่ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส. พรรคเพื่อไทยออกมาแฉ ไม่ใช่การหาอุปกรณ์ไม่ทันตามที่กล่าวอ้าง และหากมีปัญหาเกิดปัญหาเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิประชาชน บุคคลที่เข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ต้องรับผิดชอบ และขอให้ประชาชนตัดสินในคูหาเลือกตั้ง
ขณะที่ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะวิปรัฐบาล ยืนยันต่อการใช้สิทธิดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชัดเจนและไม่มีปัญหาในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ และถือเป็นการใช้สิทธิครั้งแรก ของ ส.ส.รัฐบาล สะท้อนว่า มีความเป็นห่วงของประชาชน ฝ่ายของตนก็ยึดหลักนิติธรรมที่เห็นว่าเมื่อได้มีการลงชื่อเพราะเห็นว่าพ.ร.ก.ดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขพระราชกำหนดตามมาตรา 172 แห่งรัฐธรรมนูญ
"พวกผมก็มีข้อสงสัยและในสภาแห่งนี้ก็มีการพูดว่าพระราชกำหนดฉบับนี้ไม่ชอบด้วยมาตรา 172 แต่การยื่นตนมีเหตุผลประกอบเชื่อว่าเรื่องของการออกพระราชกำหนดที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 22 ,23 ,24 ,25 นั้นไม่เพียงแต่ เป็นเรื่องตามพระราชบัญญัติอุ้มหายแต่ยังมีพันธะกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยต้องดำเนินการ" นายชินวรณ์ กล่าว
นายชินวรณ์ กล่าวว่า เหตุผลที่ฝ่ายรัฐบาลยื่นตีความก็เพื่อให้ไปตามรัฐธรรมนูญที่มีเหตุผลสำคัญ 3 ข้อคือ 1. การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 173 และปราศจากข้อสงสัย 2. เป็นการร่นระยะเวลาที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนถ้าปล่อยไปให้ผ่านก็จะต้อง ชะลอ พ.ร.บ. นี้ออกไปอีก 6 เดือน แต่ถ้ายื่นศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาเพียง 2 เดือนที่จะมีคำวินิจฉัยออกมา และ 3. ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ส.ส. ที่พรรคร่วมรัฐบาลได้ร่วมยื่นเสนอกฎหมายที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้เสนอ
จากนั้น นายชวน กล่าวขอบคุณ ส.ส.และข้าราชการสำนักงานลขาธิการสภาฯ ที่ร่วมทำงานหนักตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ตนหวังว่าแม้ไม่มีโอกาสกลับมาทุกคน แต่ขอให้ส.ส.ส่วนใหญ่กลับมาทำหน้าที่ของตนเองต่อไป การเมืองไม่มีแน่นอนน ฝ่ายค้านวันนี้อาจเป็นรัฐบาล คนเป็นรัฐบาลขณะนี้อาจเป็นฝายค้านในวันนั้น สิ่งสำคัญ คือการพูดอะไรไป ว่าไม่ดี วันนั้น ต้องไม่ดี อะไรที่ดีวันนี้ วันนั้นต้องดี ขออวยพรให้ประสบความสำเร็จ
ต่อจากนั้นสมาาชิกสภาฯได้ยืนเพื่อรับฟังพระบรมราชโองการปิดสมัยประชุม และปิดประชุมเวลา 13.41 น. โดยที่ที่ประชุมสภาไม่มีการลงมติจะเห็นชอบกับ พรก.อุ้มหายหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในการอภิปรายในช่วงเช้าที่มีการพิจารณาพรก.อุ้มหาย บรรดาสส.รัฐบาลและ ฝ่ายค้านต่างเรียงหน้าอภิปรายไม่เห็นด้วยกับ พรก.อุ้มหายที่เสนอให้ ยกเว้นการบังคับใช้ 4 มาตราไปก่อนเพราะจะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยอ้างเหตุ ตำรวจยังไม่มีความพร้อมเนื่องจากต้องรอจัดซื้อกล้องเพื่อปฏิบัติตามอำนาจใหม่ ในร่างพรบ.อุ้มหาย
เหตุผลรวมในการคัดค้านระบุว่า การออกพ.ร.กนี้ของรัฐบาล อาจไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่งเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนฉุกเฉิน และข้ออ้างเรื่องความไม่พร้อมด้านอุปกรณ์ และงบประมาณ ถือว่าฟังไม่ขึ้น ทั้งนี้ฝ่ายค้านมีมติคว่ำกฎหมายนี้ เพื่อให้การพิจารณาพ.ร.ก.นี้จบที่สภาฯ ไม่ต้องส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ที่ถือเป็นการยื้อเวลาการบังคับใช้กฎหมายที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทั้งที่กฎหมายนี้ผ่านสภาฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในเดือนตุลาคม 2565
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ชี้แจงถึงสาเหตุ และความเป็นมาของพ.ร.ก.ฉบับนี้ ว่า แม้จะจัดซื้อกล้องมาตั้งแต่ปี 2562 - 2565 รวมแสนกว่าตัวก็ยังมีไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงยังมีปัญหาในข้อปฏิบัติต่างๆ มากมาย
นอกจากนี้ ระเบียบกลางของกฎหมายนี้ ก็ยังทำไม่แล้วเสร็จ เพราะมีการโต้แย้งกันระหว่างหน่วย จนอาจส่งผลต่อการศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม เพราะยังมีความเห็นไม่ลงตัวในหลายประเด็น และยังไม่มีการซักซ้อมการจับกุมของผู้ปฏิบัติงาน
ทั้งนี้ ระบบการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ทั้งภาพ และเสียง ตลอดการทำงาน 24 ชั่วโมง ทั้ง 7 วันของตำรวจ ต้องมีความพร้อมทั้งระบบ และพื้นที่การจัดเก็บข้อมูล ซึ่งต้องจัดเก็บจนกว่าคดีจะสิ้นสุด
อย่างไรก็ตามแม้หน่วยงานของรัฐหลายหน่วย จะแจ้งว่าพร้อมปฏิบัติตาม แต่ในทางปฏิบัติจริงยังมีความไม่พร้อม เช่น ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่มีอำนาจจับกุม และควบคุมตัว ก็มีความไม่พร้อมเหมือน สตช. ส่วนการใช้มือถือบันทึกภาพไม่ได้นั้น เป็นเพราะการทำงานของตำรวจทุกรูปแบบต้องใช้สองมือทำงาน เช่น การใส่กุญแจมือ ลองคิดสภาพว่าถ้าต้องมือถืออัดเทประหว่างทำงาน ก็จะไม่สะดวก ยิ่งหากมีสายเข้ามา ก็อาจทำให้ผลการบันทึกภาพไม่ต่อเนื่อง และมือถือแต่ละเครื่องก็มีคุณสมบัติแตกต่างกัน ทาง สตช. จึงแจ้งไปยังนายกฯ และนำมาสู่การออกพ.ร.ก.ฉบับนี้ ที่เป็นการเลื่อนการบังคับใช้เพียง 4 มาตรา คือ มาตรา 22-25 ซึ่งไม่กระทบกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามที่กังวลกัน
นาย ชาดา ไทยเศรษฐ รองประธานวิปรัฐบาล พรรคภูมิใจไทย ไม่เห็นด้วย กับการออก พ.ร.ก.มาชะลอการบังคับใช้ กฎหมายที่ออกโดยสภาผู้แทนราษฎร และเห็นใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามกฏหมาย ชี้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องที่เจ้าหน้าที่จะปฏิบัติงานได้หรือไม่ แต่เป็นเรื่องของรัฐบาล ที่แก้ปัญหาไม่ได้และไม่ให้เกียรติสภาผู้แทนราษฎร และไม่เห็นด้วยกับมติวิปรัฐบาลที่ให้เสนอศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
นาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเรียกร้องสมาชิก ช่วยกันโหวตคว่ำ พระราชกำหนดฉบับนี้ โดยอภิปรายมีเนื้อหาว่า ไม่น่าเชื่อว่าแม้แต่ พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหายฯ ยังโดนอุ้มหายจากสภาฯ ทั้งที่เรื่องนี้น่าจะเป็นฉันทามติเดียวระหว่างพรรคฝ่ายค้านกับพรรคฝ่ายรัฐบาล และระหว่าง ส.ส. กับ ส.ว. แต่กลับมาตกม้าตายเพราะเรื่องวัสดุอุปกรณ์
กฎหมายนี้ผ่านสภาฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในเดือนตุลาคม 2565 กำหนดให้เวลา 120 วันในการเตรียมตัว แต่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาถึง 81 วันในการยื่นขอรับสนับสนุนงบประมาณ กว่าเรื่องจะไปถึง ครม. คือวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 เหลือเวลาก่อนกฎหมายบังคับใช้เพียง 12 วัน จนต้องออกพระราชกำหนดออกมาเลื่อนการบังคับใช้
“คนที่ไม่ได้อยู่ในครอบครัวที่ถูกซ้อมทรมานและอุ้มหาย คงไม่เข้าใจว่าช้าไปเพียงหนึ่งนาทีหรือหนึ่งวันเป็นอย่างไร รัฐบาลมีเวลาในการเตรียมตัวแต่กลับไม่เตรียม ผมไม่รู้ว่าสาเหตุคือความประมาทเลินเล่อ ความไม่ใส่ใจ หรือความเลือดเย็นทางการเมือง นี่คือสาเหตุที่ผมและพรรคก้าวไกลไม่สามารถผ่าน พ.ร.ก. ฉบับนี้ได้” นายพิธา กล่าว
สำหรับ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 มีเนื้อหา 5 มาตรา สาระสำคัญอยู่ที่มาตรา2 มาตรา 3 และมาตรา 4 ซึ่งมาตรา 2 มีสาระสำคัญ คือการเลื่อนการบังคับใช้พระราชกำหนด ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป มาตรา 3 มีสาระสำคัญเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายในมาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24และมาตรา 25 มีเนื้อหาเกี่ยวกับการบันทึกการควบคุมตัว ต้องมีรายละเอียดประกอบด้วยข้อมูลอัตตลักษณ์ วันเวลา สถานที่ ควลคุมตัว การไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว และ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องสามารถเข้าถึงผู้ถูกควบคุมตัวได้ เป็นต้น โดยให้เลื่อนไปบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2566
ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย และหน่วยงานที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบการควบคุมตัวตามมาตรา 22 และมาตรา 23 เร่งเตรียมการให้มีความพร้อมรองรับการปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2566