"พริษฐ์" อัด จัดงบไม่แก้วิกฤตการศึกษา ชวนผ่าตัดโครงสร้างใหญ่-ปฏิรูปกระทรวง

"พริษฐ์" อัด จัดงบไม่แก้วิกฤตการศึกษา ชวนผ่าตัดโครงสร้างใหญ่ คืนครูให้ห้องเรียน ปฏิรูปกระทรวง ลดความซ้ำซ้อน กระจายอำนาจ แนะ เพิ่มงบอุดหนุนเด็กยากจนที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วาระแรก ต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ถึงงบประมาณด้านการศึกษา ว่า วิกฤตที่ตนเชื่อว่าส.ส.ทุกคนในที่นี้ และประชาชนเห็นตรงกันว่าเป็นวิกฤตจริงและเป็นวิกฤตลำดับต้นๆ นั่นคือวิกฤตด้านการศึกษา ซึ่งผลการประเมินระบบการศึกษาหรือ PISA ได้ตอกย้ำ 3 วิกฤตการศึกษาไทยที่เรื้อรัง ได้แก่ 1.วิกฤตสมรรถนะ คือ การที่เด็กไทยมีทักษะสู้ต่างชาติไม่ได้และลดลงมาเป็นอันดับที่ 60 จาก 70 กว่าประเทศ 2.วิกฤตความเหลื่อมล้ำที่เด็กไทยมีโอกาสทางการศึกษาไม่เท่ากัน และ 3.ความเป็นอยู่คือนักเรียนไม่มีความสุขในโรงเรียน ซึ่งไทยอยู่ในลำดับต้นๆ เรื่องความทุกข์ของนักเรียนไทย และมีความรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยในโรงเรียนเป็นอันดับ 4 ของโลก ที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่ว่าไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา แต่หากเราไม่เร่งจัดการการจัดสรรทรัพยากร วิธีการใช้เงิน เราจะเพิ่มงบประมาณอีกกี่ล้านบาท เราจะทอดผ้าป่าด้านการศึกษาอีกกี่ครั้ง ก็แก้ปัญหาด้านการศึกษาในประเทศนี้ไม่ได้ เหมือนคนไข้ที่มีปัญหาด้านหัวใจจะเพิ่มเลือดให้เขาเท่าไหร่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตเขาได้ หากเราไม่ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเขา

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ตนจึงชวนทุกคนมาร่วมผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจที่มีชื่อว่างบประมาณด้านการศึกษา ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ห้องตามประเภทการใช้จ่าย โดยหัวใจห้องที่ 1 มีชื่อว่างบบุคลากร เป็นห้องที่ใหญ่ที่สุด มีขนาด 64% ห้องที่ 2 ชื่อเงินอุดหนุนนักเรียนมีขนาด 26% โดยครอบคลุมถึงการเรียนฟรี 15 ปีหรือโครงการ กศศ. ห้องที่ 3 ห้องงบลงทุน ที่ครอบคลุมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ห้องเรียนต่างๆ มีขนาด 4% และห้องที่ 4 งบนโยบายมีขนาด 6% แม้ปีนี้จะมีงบประมาณเพิ่มมา 1,000 กว่าล้านบาท แต่จะเห็นความพยายามที่รัฐบาลลดงบลงทุนลงเพื่อไปเติมให้ห้องอื่นโดยเฉพาะห้องงบอุดหนุนนักเรียน ซึ่งหากจะดูแค่นี้ไม่เพียงพอ เพราะปีศาจอยู่ในรายละเอียดเสมอ

นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับห้องงบนโยบายนั้น เพราะเป็นห้องที่รัฐบาลมีอำนาจในการปรับเปลี่ยนการจัดสรรหรือออกแบบงบประมาณใหม่ได้ทันที โดยงบในส่วนนี้ถูกกระจายไปให้โครงการต่างๆ ในลักษณะเป็นเบี้ยหัวแตก เห็นด้วยที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาการศึกษา แต่วันนี้ที่ท่านมาของบจากสภาฯ ตนต้องขอให้รับประกัน 2 อย่างคือ การพัฒนาแพลตฟอร์มจะไม่ทำซ้ำซ้อนกันในแต่ละหน่วยงานและกระบวนการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับจัดทำแพลตฟอร์มจะดำเนินการโปร่งใส บริษัทที่จะเข้ามาพัฒนาแพลตฟอร์มต้องถูกคัดเลือกจากผลงานและความคุ้มค่าจากสิ่งที่เสนอ ไม่ใช่ความสัมพันธ์ใกล้ชิดของผู้บริหาร ส่วนปัญหาที่เจอในงบส่วนนี้คือโครงการที่ไม่ควรมีแต่ยังมีต่อ เช่น โครงการรวมมิตรความดี ที่ทำให้เด็กจบออกมาเป็นคนดี เกี่ยวข้องกับจริยธรรม คุณธรรม ซึ่งปีนี้เพิ่มขึ้นมา 160 ล้านบาท ทั้งนี้ไม่ใช่ตนต่อต้านการสร้างศีลธรรม สุจริต แต่ต้องทบทวนในประเด็นที่เป็นปัญหาเกี่ยวข้อง เช่น แป๊ะเจี๊ยะ, ไม่ลงโทษครูที่ทำผิดจริยธรรมหรือกฎหมาย เป็นต้น

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ส่วนห้องงบลงงทุนที่ตนกังวลคือ ใช้เกณฑ์อะไรที่จะปรับงบลงทุนส่วนไหน และใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินว่าจังหวัดไหนจะได้งบมากกว่าหรือน้อยกว่า แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าจังหวัดไหนที่มีสส.เขตมาจากพรรคเดียวกับรัฐมนตรีจึงได้งบสูงถึง 24% แต่จังหวัดที่ไม่มีสส.เขตที่มาจากพรรคเดียวกับรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงศึกษาจึงได้งบน้อยกว่า ตนหวังว่าการพิจารณาให้งบแต่ละจังหวัดจะอยู่บนพื้นฐานความเดือดร้อนของนักเรียนโดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลตอบแทนกันทางการเมือง สำหรับห้องเงินอุดหนุนนักเรียนนั้น เป็นเรื่องน่ายินดีที่รัฐบาลจัดสรรงบในส่วนนี้มากขึ้นถึง 5.2% แต่ก็ยังห่างไกลจากการศึกษาที่ฟรีจริง เพราะเช่นใน 100 บาทที่รัฐบาลให้นั้นเป็นเงินของรัฐบาล 70 บาทและผู้ปกครองยังต้องจ่ายเพิ่มอีก 30 บาท จึงมีข้อเสนอ 3 อย่างคือ 1.เพิ่มเงินอุดหนุนให้นักเรียนที่มีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา, 2.การตัดค่าใช้จ่ายด้านศึกษาที่ไม่จำเป็นออกไปเพื่อลดภาระผู้ปกครอง เช่น การลดการบังคับใส่ชุดลูกเสือเนตรนารี และ 3.ปรับวิธีการใช้งบอุดหนุนไปที่โรงเรียน ส่วนห้องงบบุคลากรนั้น ควรแก้ปัญหาเรื่องครูกระจุกและแก้ปัญหาอำนาจกระจุกโดยการปฏิรูปกระทรวง เพื่อให้การทำงานที่ซ้ำซ้อนลดน้อยลงมาและกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาอย่างเต็มที่

“ย้ำว่าการแก้วิกฤตการศึกษาต้องผ่าตัดโครงสร้างใหญ่ คือเรื่องบุคลากร คืนครูให้ห้องเรียน รวมถึงปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงลดความซ้ำซ้อน และกระจายอำนาจ, จัดทำหลักสูตรการศึกษาใหม่, กระจายงบลงทุนด้านการศึกษาให้กับจังหวัด ขณะที่เงินอุดหนุนนั้นต้องเพิ่มให้กับเด็กยากจนที่มีแนวโน้มหลุดจากการศึกษา วิกฤตการศึกษาที่เผชิญแก้ไม่ได้จากการจัดงบประมาณแบบเดิมๆ แต่ต้องผ่าตัดใหญ่ รื้อโครงสร้าง โดยไม่ต้องรอให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลเพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้ลูกหลาน” นายพริษฐ์ กล่าว

TAGS: #งบการศึกษา #งบ67 #ก้าวไกล #ประชุมสภา #พริษฐ์ #วัชรสินธุ