เตือนรัฐบาลคิดให้ดี กฤษฎีกา ยังไม่ไฟเขียว ‘พรบ.กู้เงิน’ ชี้เป็นแค่เงื่อนไขกฎหมาย  

เตือนรัฐบาลคิดให้ดี กฤษฎีกา ยังไม่ไฟเขียว ‘พรบ.กู้เงิน’ ชี้เป็นแค่เงื่อนไขกฎหมาย  
‘ศิริกัญญา’ ส่งสัญญาณถึงรัฐบาลสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย ให้คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ลงมติอย่างระวัง หลังคณะกรรมหารกฤษฎีกายังไม่ได้ไฟเขียว พ.ร.บ.กู้เงิน แต่เป็นการชี้แจงข้อกฎหมาย

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 8 ม.ค. 2567 ที่รัฐสภา ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวกรณีคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต กลับมาที่รัฐบาล ว่า หากจะมองว่ากฤษฎีกาไฟเขียว และหากตนเป็นข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็จะรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ เพราะสิ่งที่กฤษฎีกาบอก คือ หากโครงการนี้เป็นไปตามกฎหมาย มาตรา 53 มาตรา 57 มาตรา 6 และมาตรา 9 ของวินัยการเงินการคลัง จะสามารถกระทำได้ แต่หากผิดเงื่อนไขเหล่านั้นก็ไม่สามารถกระทำได้

ขณะที่ คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความตามข้อกฎหมายโดยตรง จึงขอฝากไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนว่า กฤษฎีกาให้นำเรื่องนี้กลับเข้ามาประชุมในคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตคณะใหญ่อีกครั้ง ซึ่งมีข้าราชการและผู้มีความรู้หลายท่าน จึงขอให้ระมัดระวังเรื่องการลงมติเกี่ยวกับพ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อให้กระทรวงการคลังกู้เงินด้วย

โดยที่คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้ชี้ชัดอะไรมาเลยว่า อะไรที่สามารถกระทำได้และไม่สามารถกระทำได้ สุดท้ายต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลฯ ชุดใหญ่ ว่าการดำเนินการจะเป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมายที่กำหนดไว้หรือไม่

“ตนยังรอคอยรายงานการศึกษาความคุ้มค่าของโครงการ เพราะเราไม่มีข้อมูลในเชิงลึก จึงได้แต่ตั้งคำถามจากประสบการณ์ที่ประเทศต่างๆ พยายามแก้ไขปัญหาด้วยวิธีนี้ ซึ่งไม่ใช่วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีที่สุด แต่อาจจะเป็นวิธีการที่เร็วที่สุด และไม่ได้คุ้มค่าต่อเม็ดเงินมากที่สุด ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เห็นรายละเอียดอย่างครบถ้วนว่า โครงการมูลค่า 5 แสนล้านบาทจากกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าไหร่” ศิริกัญญา กล่าว

พร้อมกล่าวต่อถึงข้อสังเกตฝ่ายค้าน ต่อรัฐบาลควรประเมินสิ่งแรกว่า สรุปแล้วประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่ ซึ่งมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลายครั้งว่า นิยามของคำว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะต้องไปในแนวทางที่เห็นเด่นชัดว่าเป็นวิกฤตที่เหมือนกับวิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือโควิด ดังนั้น จึงอยู่กับทางรัฐบาลแล้วว่าจะไปหากลวิธีอย่างใดเพื่อทำให้ข้อมูลทางเศรษฐกิจดูวิกฤต

ขณะที่ ลักษณะของวิกฤตคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจสะดุดลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น รายได้ของประชาชน GDP การจ้างงาน จึงจะเรียกว่าวิกฤต ต้องดูว่ารัฐบาลจะหาตัวเลขใดมา สุดท้ายหากกำลังพิจารณาพ.ร.บ.กู้เงินกันอยู่ แล้วเศรษฐกิจเกิดกระเตื้องขึ้นมา สรุปแล้วจะยังอยู่ในเงื่อนไขเดิมหรือไม่ ก็ต้องไปลุ้นกัน

TAGS: #ศิริกัญญา #กฤษฎีกา #ดิจิทัลวอลเล็ต