นับถอยหลัง วันพิพากษา 3 พุธ 3 คดีร้อนการเมือง ชี้ชะตา "พิธา ก้าวไกล" "ศักด์สยาม-ภูมิใจไทย"
การเมืองนับจากนี้ต้องจับตามมองกันอย่างกระชั้นชิด โดยเฉพาะในทุกวันพุธของสัปดาห์ จนถึงสิ้นเดือน ม.ค.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดตัดสินคดีร้อนทางการเมือง 3 คดีที่จะชี้ชะตาอนาคตทางการเมืองของ 2 พรรคใหญ่ อย่างพรรคก้าวไกล และพรรคภูมิใจไทย
ประเดิม คดีแรกวันพุธ 17 ม.ค.2567 เวลา 14.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดตัดสินคดีคำร้องให้ "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลลุงตู่ ขณะนั้น สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี เพราะ ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้น และเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ตามที่ ส.ส.ฝ่ายค้านในขณะนั้น ได้ยื่นคำร้อง
ทั้งนี้ศาลรธน.ได้รับคำร้อง และสั่งให้ "ศักดิ์สยาม" ยุติการทำหน้าที่รัฐมนตรี ตั้งแต่ 3 มี.ค.2566 และ แม้ขณะนี้ "ศักดิ์สยาม"จะไม่ได้ดำรงตำแหน่งอะไรในรัฐบาลเศรษฐา แต่ผลของคดีดังกล่าวยังไม่สิ้นสุด และหากศาลตัดสินให้ "ศักดิ์สยาม" ผิดจริง ต้องพ้นจากเก้ารมว.คมนาคม จะทำให้ "ศักดิ์สยาม"ไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ภายในสองปี
ในขณะที่ ผลกระทบต่อ "ศักดิ์สยาม"และพรรคภูมิใจไทย จะไม่จบเพียงแค่นี้ เนื่องจากในข้อเท็จจริงเรื่องของการถือหุ้นนั้น "ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์" ได้ ยื่นคำร้องต่อป.ป.ช.ให้ตรวจสอบการถือครองหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ และตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเชิงลึกของ "ศักดิ์สยาม" ทำนองอาจเข้าข่ายผิดปกปิดบัญชีทรัพย์สิน อีกด้วย
นอกจากนี้ "ชูวิทย์"ยังได้ยื่นให้กกต.ยุบพรรคภูมิใจไทย ปมบริจาคตาม ม.72 ที่กำหนดว่า ห้ามพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีนอมินีรับงานคมนาคม และนำเงินมาบริจาคให้พรรคภูมิใจไทย
ประเด็นคำร้องของ "ชูวิทย์" เชื่อมโยงกับข้อเท็จจริงในการถือหุ้นฯในคดีดังกล่าว หากศาลพิพากษาผิดจริง งานเข้า "ศักดิ์สยาม" เพราะจะลากโยงไปสู่คดียุบพรรคภูมิใจไทยได้
ถัดมา คดีที่สองวันพุธที่ 24 ม.ค. 2567 เป็นคดีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สมาชิกภาพ ส.ส. "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ จากกรณีเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ "พิธา" หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. นับแต่วันที่ 19 ก.ค. 2566 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
อย่างไรก็ตามคดีนี้หลายฝ่ายประเมิน "พิธา"น่าจะรอด เนื่องจากระยะหลังศาล ฎีกา ศาลรธน.ได้นำเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาร่วมวินิจฉัย คือ หากถือหุ้นในสัดส่วนน้อย จะไม่สามารถครอบงำสื่อได้ เพราะ "พิธา"ถือครองนั้นมีสัดส่วนเพียงประมาณ 0.0035% เท่านั้น ซึ่งไม่สามารถมีอิทธิพลใดๆ ต่อการครอบงำไอทีวีแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีความผิด "พิธา" ก็จะพ้นจากการเป็น ส.ส. และ กกต.จะยื่นฟ้อง "พิธา" ในคดีอาญา มาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งมีบทลงโทษคือ จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับ 20,000- 200,000 บาท และ ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นกำหนด 20 ปี
ปิดท้ายที่คดี ม.112 ในวันพุธที่ 31 ม.ค. 2567 คดีนี้ แม้ผู้ร้องคือ "ธีรยุทธ สุวรรณเกษร"ทนายอดีตพระพุทธะอิสระ ไม่ได้ฟ้องยุบพรรคก้าวไกล โดยตรง แต่ถ้าผิดจริง ก็จะเป็นสารตั้งต้นให้มีการยื่นยุบพรรคก้าวไกลได้ทันที โดย "ธีรยุทธ"ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า การกระทำของ "พิธา " หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ขณะนั้น) และ พรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่ง "พิธา" และ "พรรค ก้าวไกล "เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพอันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ
คดีนี้เป็นคดีน่าสนใจยิ่ง โดยผู้สันทัดทางการเมือง ประเมินว่าโอกาสพรรคก้าวไกลจะถูกตัดสินว่า กระทำผิดมีสูงเพราะเกี่ยวกับม.112 แต่จะไม่ถูกยุบพรรคทันที ต้องรอให้มีผู้ไปยื่นยุบภายหลัง ซึ่งการยุบพรรคจะตัดสิทธิ์ทางการเมืองคณะกรรมการบริหารพรรคอีกด้วย
ดังนั้น 3คดีดังกล่าวข้างต้น ต้องลุ้นกันอย่างระทึก ทุกคดีล้วนมีผลต่อทิศทางทางการเมืองไทยในอนาคตทั้งสิ้น