"พิธา"ลุ้นเหนื่อยคดีหุ้นไอทีวีแม้รอดได้ก็เจอบ่วงคดีม.112 

"พิธา"ต้องลุ้นหนักคดีหุ้นไอทีวีพรุ่งนี้(24 ม.ค.) รอดไม่รอดยังต้องเจอด่านหินคดีปมมาตรา112 ศาลนัดตัดสินพุธหน้า 31 ม.ค.2567

ต้องลุ้นกันตัวโก่ง วันพุธที่ 24 ม.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ นัดวินิจฉัย ปมสมาชิกภาพ ส.ส. ของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ จากกรณีเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งรับคำร้องไว้พิจารณา และสั่งให้ "พิธา" ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. นับแต่วันที่ 19 ก.ค.2566 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

ทั้งนี้แนวโน้มผลแห่งคดีนี้ เมื่อไปเทียบเคียงกับคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำพิพากษา การถือหุ้นสื่อในทำนองเดียวกัน โอกาสที่ "พิธา"ไม่รอด มีสูง  เพราะมีคดีเทียบเคียงกับคดีของ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ"อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่  กรณีถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด และ คดี "ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์" อดีตส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคก้าวไกล ปมถือหุ้นในบริษัท บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น และ บริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด ซึ่งศาลฯ ตัดสินขาดคุณสมบัติการเป็นส.ส.ทั้งคู่

แม้จะมีคำพิพากษาคดีในทำนองเดียวกันจากในหลายคดี ทั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง และ ศาลปกครองสูงสุด ที่มีการยกมากล่าวอ้างกัน เพื่อหักล้างผลแห่งคดีกันของแต่ละฝ่าย แต่คดีนี้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่อำนาจศาลฎีกา ซึ่งใน พรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ไม่มีบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญให้จำต้อง ถือข้อเท็จจริงตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลฎีกา

ที่สำคัญคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภาคณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ส่วน คำพิพากษาของศาลฎีกานั้นมีผลผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่งเท่านั้น ไม่ผูกพันบุคคลภายนอก 

ดังนั้นจึงต้องให้น้ำหนักกับคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินมาแล้วมาเทียบเคียง

คดีการถือหุ้นสื่อที่ศาลฯวินิจฉัย ให้ส.ส.พ้นจากตำแหน่งมาแล้วเบื้องต้นมี   2 คน คือคดี "ธนาธร "กรณีถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ในระหว่างสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งศาลวินิจฉัยว่า แม้ "ธนาธร" จะแจ้งว่า ได้โอนหุ้นก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง แต่ศาลไม่เชื่อ และบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ระบุวัตถุประสงค์ในการจดทะเบียนบริษัทไว้ว่า ประกอบกิจการออกหนังสือพิมพ์ฯ รวมถึงในเอกสารนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช.3) ยังระบุว่า มีรายได้จากการให้บริการโฆษณา

แม้บริษัทจะหยุดประกอบกิจการไปแล้ว แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการแจ้งยกเลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการ ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ดังนั้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จึงยังคงเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่ จึงวินิจฉัยให้ "ธนาธร" ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง ส.ส.

ถัดมาเป็น คดี "ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์" อดีตส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคก้าวไกล ศาลฯวินิจฉัยว่า มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น และ บริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด ในระหว่างดำรงตำแหน่ง ส.ส. แม้ "ธัญญ์วาริน" ต่อสู้ว่า ได้ทำการโอนหุ้นก่อนวันเลือกตั้ง แต่ศาลเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานที่หนักแน่นพอว่ามีการโอนหุ้นดังกล่าวจริง และ ทั้งสองบริษัท ประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนและมีรายได้ จึงวินิจฉัยให้ "ธัญญ์วาริน"  ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง ส.ส.

อย่างไรก็ดี ศาลรัฐธรรมนูญ เคยยกคำร้อง ของ ส.ส.หลายคน ในช่วงที่ผ่านมาเช่นกัน แม้จะเป็นเจ้าของหรือถือครองหุ้นในกิจการที่มีการระบุวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน อาทิ คดีของ "ภาดาท์ วรกานนท์" อดีต ส.ส.พลังประชารัฐ ที่ย้ายสังกัดมาภูมิใจไทย ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า "ภาดาท์" ถือหุ้นในบริษัท ทาโร่ทาเลนท์ จำกัด ที่มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับทำโฆษณา โรงพิมพ์ ออกหนังสือพิมพ์  แต่จากเอกสารนำส่งงบการเงิน และแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทพบว่า บริษัทไม่มีรายได้จากการให้บริการดังกล่าว แต่มีรายได้ ที่มาจากการประกอบกิจการจัดฝึกอบรม  จึงวินิจฉัยให้ "ภาดาท์"ไม่ขาดคุณสมบัติส.ส. 

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตุ คดีที่ยกคำร้องส.ส.หลายคน คือบริษัทดังกล่าวไม่ได้ทำสื่อจริง มีแค่วัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสื่อเท่านั้น

ขณะที่ ศาลฎีกาแผนกเลือกตั้ง ได้มีคำพิพากษาคดี ในทำนองเดียวกัน อาทิ คดี "ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ " อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ เขต 2 จ.นครนายก ซึ่ง "ชาญชัย" ถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้ง  เหตุถือหุ้นของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) จำนวน 200 หุ้น ซึ่งศาลฎีกา วินิจฉัย ว่า  "ชาญชัย" ถือหุ้นเป็นสัดส่วนน้อย ย่อมไม่มีอำนาจสั่งการให้บริษัทฯ ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง และพรรคการเมืองตนเอง หรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองอื่น การตีความบทบัญญัติของกฎหมายลายลักษณ์อักษรให้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะเหตุเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท แอดวานซ์ฯเพียง 200 หุ้น ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงให้คืนสิทธิ์การสมัคร ส.ส.ให้ "ชาญชัย"

อย่างไรก็ตามศาลฎีกาแผนกเลือกตั้ง ได้มีคำพิพากษาตัดสิทธิ์ผู้ลงสมัครส.ส.ในปี2562 อีกหลายราย แม้ผู้สมัครเหล่านั้น จะอ้างว่าไม่ได้ยุ่งเกี่ยวข้อง หยุดกิจการตีพิมพ์มานานเป็น 10 ปี แต่เมื่อไม่ยื่นจดเลิกเป็นทางการจึงขาดคุณสมบัติลงเลือกตั้ง และบางรายถือหุ้นเพียงจำนวนน้อย ก็ยังโดนตัดสิทธิ์  แต่ที่น่าสนใจ คือคดี "สุรโชค ทิวากร "อดีตว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กาญจนบุรี เขต 2 พรรคไทยภักดี ที่ ศาลกาญจนบุรี ตัดสิน ในฐานความผิดลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง ,แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน และแจ้งให้พนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ เป็นเวลา 1 ปี 9 เดือน แต่จำเลยรับสารภาพ ลดโทษเหลือครึ่งหนึ่ง และให้รอลงอาญา 2 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท พร้อมกับตัดสิทธิ์ทางการเมือง 20 ปี

ทั้งนี้ เนื่องจาก "สุรโชค"ได้ ลงสมัครสมาชิกสภาเทศบาล หรือ ส.ท.ตำบลหนองตากยา อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทั้งที่ตนเองมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากถือหุ้นในบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 หุ้น มูลค่า 5 บาท ซึ่งบริษัท อสมท. เป็นบริษัทที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ทำให้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 50 วงเล็บ 3 ที่บัญญัติว่า บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งวงเล็บ 3 บัญญัติเพิ่มเติมว่า “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ”

อย่างไรก็ตาม ทางพรรคก้าวไกล มั่นใจ "พิธา"รอดกลับมาทำหน้าที่ได้ในสภาได้ โดยยกเหตุผลดังนี้

1.ไม่มีใบอนุญาตคลื่นความถี่ เนื่องจากไอทีวีถูกรัฐบาลไทยแจ้งยกเลิกสัญญาตั้งแต่ พ.ศ.2550  2.ภายหลังมีการออก พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ก่อให้เกิด “สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส” ส่งผลให้ไอทีวีต้องเลิกประกอบกิจการโทรทัศน์ รวมถึงยังมีคดีพิพาทเกี่ยวกับค่าเสียหายในศาลปกครองกับรัฐบาลไทยด้วย

 3.คิมห์ ประธานการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ยืนยันต่อศาลว่า ไอทีวีไม่มีพนักงาน ไม่มีรายได้จากการทำสื่อ ไม่มีการทำสื่อ และยังไม่มีแผนจะทำสื่อ และถ้ายึดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ก็ไม่น่าเป็นห่วง เพราะศาลเคยเห็นว่าหากไม่มีรายได้จากการทำสื่อก็ไม่ถือเป็นสื่อ 4.ไม่มีหลักฐานจดแจ้งการพิมพ์ จึงไม่อาจเป็นผู้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นได้ 5.ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และสื่อโฆษณา จึงไม่อาจประกอบกิจการดังกล่าวได้ 

6.ศาลปกครองสูงสุดเคยชี้ ว่าไอทีวีไม่ปรากฏหลักฐานการดำเนินการสื่อวิทยุโทรทัศน์แล้วประเด็นนี้สืบเนื่องจาก คำสั่งศาลปกครองสูงสุดปี 56 กรณี "วุฒิพร เดี่ยวพานิช" ผู้สมัครสรรหาซูเปอร์บอร์ด กสทช. ถูกตัดชื่อออกเพราะเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ถูกระบุว่า "หุ้นโทรทัศน์" "วุฒิพร" ร้องศาลปกครองสูงสุดจนมีคำสั่งคุ้มครอง โดยศาลเห็นพ้องว่า ในตอนนั้น ไอทีวี ปิดไปแล้ว ไม่มีสื่ออยู่จริง เพียงแต่บริษัทยังอยู่ เพราะยังมีคดีฟ้องกับรัฐ

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดระบุว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือด่วนที่สุดที่ นร. 0106/1289 ลงวันที่ 7 มี.ค.2550 แจ้งบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ ระบบ ยู เอช เอฟ กับ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) พร้อมทั้งให้บริษัทฯ ส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดซึ่งใช้อยู่ในการดำเนินกิจการตามสัญญาเข้าร่วมงานคืย ขณะนี้บริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ เนื่องจากไม่มีคลื่นความถี่เพราะการประกอบกิจการธุรกิจต้องขออนุญาตจาก กสทช. และบริษัทไม่ได้ดำเนินธุรกิจใดๆ ทั้งสิ้นตั้งแต่ปี 2552 

และ 7.ถ้านายพิธาถือหุ้นจริงก็ถือเพียง 0.00348% ไม่สามารถสั่งการ ครอบงำใดๆ ได้โดยเทียบเคียงกับคดี "ชาญชัย"ข้างต้น

งานนี้ "พิธา"จะรอดไม่รอด ต้องลุ้นกันสุดๆ  แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า "พิธา" ผิด ก็จะพ้นจากการเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลทันที   และ ขั้นตอนจากนั้น กกต.จะยื่นฟ้อง "พิธา" ในคดีอาญา ตาม มาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ซึ่งระบุว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอม ให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อ เพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี

อย่างไรก็ตามหาก "พิธา"รอดก็ต้องไปลุ้น คดี ม.112 ในวันพุธที่ 31 ม.ค. 2567 คดีนี้ แม้ผู้ร้องคือ "ธีรยุทธ สุวรรณเกษร"ทนายอดีตพระพุทธะอิสระ ไม่ได้ฟ้องยุบพรรคก้าวไกลโดยตรง แต่ถ้าผิดจริง ก็จะเป็นสารตั้งต้นให้มีการยื่นยุบพรรคก้าวไกลได้ทันที โดยคดีนี้ "ธีรยุทธ"ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า การกระทำของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ขณะนั้น)  และ พรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่ง "พิธา" และ "พรรค ก้าวไกล "เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพอันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ

สำหรับแนวโน้มในคดีนี้ผู้สันทัดประเมินว่าโอกาสพรรคก้าวไกลกระทำผิดมีสูงเพราะเกี่ยวกับม.112  แต่จะไม่ถูกยุบพรรคทันที ต้องรอให้มีผู้ไปยื่นยุบอีกครั้ง จึงต้องตามกันอย่างกระชั้นชิด

TAGS: #พิธา #ลิ้มเจริญรัตน์ #คดีหุ้นไอทีวี #ถือหุ้นสื่อ #ก้าวไกล #ศาลรัฐธรรมนูญ