เปิดเสียงข้างน้อยหนึ่งเดียว "นครินทร์ เมฆไตรรัตน์"ไม่ให้ "พิธา"ไปต่อ

เปิดเสียงข้างน้อยหนึ่งเดียว
เปิดมติ 8 ต่อ1 ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องปม "พิธา"ถือหุ้นไอทีวี "นครินทร์ เมฆไตรรัตน์"ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างน้อยหนึ่งเดียว

ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าว ผลการวินิจฉัยกรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถือหุ้นในบริษัทไอทีวี โดยระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่า จากข้อเท็จจริงในทางไต่สวนรับฟังได้ว่าบริษัทไอทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการหรือมีรายได้จากกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ผู้ถูกร้องจึงมิใช่ผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) 

สำหรับ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จำนวน 1 คน คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เห็นว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98(3)

ทั้งนี้ นายนครินทร์ ตุลาการเสียงข้างน้อยคนเดียวนั้น  เพิ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 ที่ผ่านมาเนื่องจาก นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ หมดวาระ โดย นายนครินทร์

จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการเมืองการปกครอง (เกียรตินิยมอันดับ 2) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระดับปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาเอก International Studies Waseda University ประเทศญี่ปุ่น

ก่อนป็นตุลาการศาลรัฐธรรมในปี2558 นายนครินทร์ เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ด้านการเมือง) รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ศูนย์ท่าพระจันทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม นายนครินทร์ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 1ใน 3 เสียงข้างน้อย ที่วินิจฉัยว่าสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ โดยให้พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565 เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี 

ด้านรายละเอียดในเอกสารเผยแพร่คำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้

ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ ดังนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ร้อง) ส่งคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ถูกร้อง) เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด (อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องว่างลงนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย
ให้แก่คู่กรณีฟังตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (2)

ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า คำร้องถูกต้องครบถ้วนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 42 จึงมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยและเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง หลักฐานทะเบียนผู้ถือหุ้น วัตถุประสงค์ตามหนังสือบริคณห์สนธิและงบการเงิน (แบบ ส.บช. 3) ของบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) เป็นเหตุเพียงพอให้ผู้ร้องควรเชื่อว่าผู้ถูกร้องเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องอาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายและการคัดค้านโต้แย้งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุมรัฐสภาและที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ จึงมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาสรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ผู้ถูกร้องยื่นคำร้อง ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ขอขยายระยะเวลาการยื่น คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2566 และคำร้องฉบับลงวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ขอขยายระยะเวลายืนคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ครั้งที่ 2 ออกไปอีก 30 วันนับถัดจาก วันครบกำหนดขยายระยะเวลาครั้งแรกแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอ

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา คำชี้แจงและเอกสารหลักฐานของบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งไต่สวนพยานและรับคำแถลงการณ์ปิดคดีของคู่กรณีรวมไว้ในสำนวนแล้ว เห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด

ผลการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก ( 8 ต่อ 1 ) วินิจฉัยว่า ในวันที่พรรคก้าวไกลยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้อง ผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) แต่ข้อเท็จจริงในทางต่สวนรับฟังได้ว่าบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ประกอบกิจการหรือมีรายได้จากกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ผู้ถูกร้องจึงมิใช่ผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3)

สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จำนวน 1 คน คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เห็นว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98(3)

อนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ก่อนศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย คู่กรณีไม่สมควรแสดง ความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีเพราะอาจเป็นการชี้นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้

TAGS: #นครินทร์ #เมฆไตรรัตน์ #พิธา #หุ้นสื่อไอทีวี #หุ้นสื่อ #ศาลรัฐธรรมนูญ