"เสรี"หวัง เวทีซักฟอก สว."นายกฯ"มาแจงเอง ขอ2วัน ช่วงก.พ.เหมาะ

"เสรี" รับเวทีซักฟอก สว. ไม่ดุเดือด ไม่เข้มข้น เท่า สส. แต่เป็นการแนะรัฐบาลให้แก้ไข  หวังนายกฯมาแจง ด้วยตัวเองย้ำ ขอ2วัน ช่วงก.พ.เหมาะ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิวุฒิสภา กล่าวถึงความพร้อมในการอภิปรายรัฐบาลแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ว่า ญัตติได้ยื่นไปยังประธานวุฒิสภาแล้ว และประธานฯได้นำเข้าที่ประชุมวิปกิจการวุฒิสภา ไปเมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมา พร้อมกับตั้งคณะทำงานขึ้นมาหนึ่งคณะ เพื่อดำเนินการประสานงานกับสมาชิกวุฒิสภาที่จะอภิปรายในญัตติดังกล่าว โดยมี พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และมีคณะทำงานคนอื่นๆคอยช่วยรวบรวมประเด็นที่สมาชิกแต่ละท่านประสงค์ที่จะพูด ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างจัดทำแบบสอบถาม เพื่อให้เห็นประเด็นที่ชัดเจน ก่อนจะนำไปจัดลำดับตามประเด็นที่กำหนดไว้ 7 หัวข้อ และจัดสรรเวลาให้เหมาะสม รัฐบาลจะได้หารัฐมนตรีมาตอบข้อซักถามและชี้แจงต่อที่ประชุมต่อไป

นายเสรี เปิดเผยว่า สมาชิกวุฒิสภาได้เสนอแนวทางการอภิปรายไว้ ว่าอยากจะขออภิปราย 2 วัน ฉะนั้นหากเป็นไปได้ก็อยากจะอภิปรายในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ระหว่างวันจันทร์ กับวันอังคาร เพราะตรงกับวันประชุมวุฒิสภาอยู่แล้ว จึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะตัดสินใจอย่างไร มีความพร้อมหรือไม่ และจะอภิปรายวันใด แต่วันอังคารอาจจะตรงกับวันประชุมคณะรัฐมนตรี ดังนั้นรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีจะมาเองก็แล้วแต่ แต่ส่วนตัวอยากให้นายกรัฐมนตรีมา เพราะท่านเป็นหัวหน้ารัฐบาล หากหัวหน้าไม่มา ก็อาจจะทำให้ความชัดเจนของเนื้อหาที่จะตอบไม่ครบถ้วนไม่สมบูรณ์ได้ และไม่เห็นนโยบายของรัฐบาลที่แท้จริง จึงหวังว่านายกรัฐมนตรีจะมาชี้แจงแถลงต่อรัฐสภาด้วยตนเอง 

ส่วนกรณีที่ญัตติยังไปไม่ถึงมือรัฐบาลมีความเป็นห่วงหรือไม่ว่าจะมีการดึงให้อภิปรายล่าช้าและอาจจะไปชนช่วงเดียวกับการอภิปรายของสส. ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน นายเสรี กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ที่ความสะดวกและความจริงใจของรัฐบาล หากสุจริตก็ควรที่จะมาร่วมชี้แจง โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ไม่ก็เดือนมีนาคม อย่างไรก็ดี ย้ำว่าทางสมาชิกวุฒิสภาไม่อยากให้ล่าช้าเกินเดือนกุมภาพันธ์ เพราะอาจมีความเสี่ยงชนกับวาระที่ใกล้จะหมดในสมัยการประชุมนี้

สำหรับกรณีที่มีการสำรวจความเห็นประชาชนว่าอยากจะให้รัฐบาลชะลอโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไว้ก่อน และสอดคล้องกับความเห็นของสว.นั้น นายเสรี ระบุว่าเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกัน เพราะเป็นเรื่องเศรษฐกิจปากท้องที่ประชาชนอยากจะแก้ไขปัญหา จึงเป็นเรื่องที่ควรหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันในสภา ส่วนจะมีประเด็นของการเรียกรับสินบนด้วยหรือไม่ เนื่องจากมีคนในรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้อง ยืนยันว่าจะมีอยู่ในหัวข้อกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเกี่ยวโยงกับหมูเถื่อน รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐด้วย

นายเสรี ยังกล่าวอีกว่า กรรมาธิการการพัฒนาการเมือง ได้กำหนดผู้อภิปรายไว้เบื้องต้นแล้วเป็นผู้ที่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ เป็นผู้ที่เห็นปัญหาและเสนอปัญหา  และนำปัญหาเหล่านั้นมากำหนดเป็นประเด็น 7 ข้อ และทำหนังสือแสดงความจำนงไว้เป็นหลักฐานอย่างชัดเจน แต่การอภิปรายของสว. จะมีความแตกต่างกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎร เพราะสว. ยื่นขอญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ โดยเสนอประเด็นปัญหา เพื่อให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไข ขณะที่ของสส.จะเป็นไปในแนวทางที่เข้มข้น ชี้ให้เห็นว่าการทำงานของรัฐบาลล้มเหลวอย่างไร แต่ ดังนั้นการที่เห็นความเข้มข้น ดุเดือดของสว.ก็คงไม่เหมือนกัน ย้ำว่าเราจะพูดด้วยเหตุผล ในการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองและพี่น้องประชาชนเป็นหลัก

นายเสรี ยังกล่าวว่าการเปิดอภิปรายของ สว. และการตั้งกระทู้ถามสด ถือเป็นหนึ่งในกระบวนการตรวจสอบ อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไร ให้ปัญหาที่คณะรัฐมนตรีรับผิดชอบ ชี้แจงต่อรัฐสภา ส่วนการตั้งกระทู้ถามสด เป็นเรื่องระหว่างตัวสมาชิกกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีข้อแตกต่างกันอยู่ตรงนี้

TAGS: #อภิปราย #วุฒิสภา #เสรีสุวรรณภานนท์ #ซักฟอก #ประชุมวุฒิ