“ก้าวไกล” ร่วมมือเพื่อไทย ยื่นแก้ พ.ร.บ.ประชามติ “พริษฐ์” กาง 3 ข้อเสนอก้าวไกล แก้กติกาออกเสียงประชามติให้เป็นธรรม-มีประสิทธิภาพ-ทันสมัย มากขึ้น
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวยื่นร่าง พ.ร.บ. ประชามติ เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นผู้รับเอกสาร
นายพริษฐ์ กล่าวว่า วันนี้ตนเป็นตัวแทนของพรรคก้าวไกล ยื่นร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ฉบับของพรรคก้าวไกล เข้าสู่สภาฯ ร่วมกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ฉบับของพรรคเพื่อไทยเช่นกัน
เวลาพูดถึงการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ หลายคนอาจมองไปถึงความเชื่อมโยงกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ต้องมีการทำประชามติอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ความจริงแล้ว การเสนอปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ครั้งนี้ เป็นการปรับปรุงกติกาเรื่องการออกเสียงประชามติให้ “เป็นธรรม” “มีประสิทธิภาพ” และ “ทันสมัย” มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการจัดประชามติเกี่ยวกับหัวข้ออื่นๆ ในอนาคต
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ประเด็นที่พรรคก้าวไกลเสนอให้มีการแก้ไขใน พ.ร.บ. ประชามติ มี 3 ประเด็นหลัก
ประเด็นแรก คือทำให้กฎหมายประชามติ “เป็นธรรม” ขึ้น ผ่านการแก้ไขกติกา “เสียงเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น” (Double Majority) เป็น “เสียงเกินกึ่งหนึ่ง 1 ชั้น” เนื่องจากปัจจุบัน ประชามติจะได้ข้อยุติทางใดทางหนึ่ง ต่อเมื่อผ่าน 2 เกณฑ์ คือ ชั้นที่ 1 ผู้ที่ลงคะแนนเสียงทางใดทางหนึ่ง มีจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียง และชั้นที่ 2 ผู้ที่ออกมาใช้สิทธิออกเสียง มีจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง
ปัญหาคือ แม้การวางเกณฑ์ชั้นที่ 2 เรื่องสัดส่วนการออกมาใช้สิทธิ มีเจตนาที่ต้องการจะให้ประชามติมีผล ต่อเมื่อคนให้ความสนใจกับประเด็นดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ แต่การวางเกณฑ์ดังกล่าว อาจเปิดช่องให้ฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ประชามติผ่าน เลือกใช้วิธีนอนอยู่บ้านและไม่ออกมาใช้สิทธิ เพื่อหวังคว่ำประชามติ โดยการกดสัดส่วนผู้ออกมาใช้สิทธิลง แม้ฝ่ายตนเองจะมีจำนวนน้อยกว่าฝ่ายที่ต้องการให้ประชามติผ่านก็ตาม
ทั้งหมดนี้อาจทำให้กติกาถูกมองว่าไม่เป็นธรรม เพราะไม่ว่าหัวข้อประชามติจะเป็นเรื่องอะไร ฝ่ายที่อยากคว่ำประชามติ ทำได้ด้วยยุทธศาสตร์ “นอนอยู่บ้าน” แม้ฝ่ายที่ไม่อยากให้ประชามติผ่าน มีน้อยกว่าฝ่ายที่อยากให้ประชามติผ่าน ดังนั้นข้อเสนอคือ เปลี่ยนเป็นเกณฑ์ “เสียงเกินกึ่งหนึ่ง 1 ชั้น” กล่าวคือ ประชามติจะผ่าน หากผู้ที่ลงคะแนนเสียงให้ผ่าน มีมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ
ประเด็นที่สองที่พรรคก้าวไกลเสนอให้แก้ไขใน พ.ร.บ. ประชามติ คือการทำให้กฎหมายประชามติ “มีประสิทธิภาพ” มากขึ้น โดยการปลดล็อกเรื่องการจัดประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน และ ประหยัดงบประมาณ
เมื่อปลายปี 2565 พรรคก้าวไกลเคยเสนอให้จัดประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญพร้อมกับการเลือกตั้ง สส. ตอนในเดือนพฤษภาคม 2566 แต่ สว. และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคยแสดงความกังวลโดยให้เหตุผลว่า ข้อเสนอดังกล่าวมีอุปสรรคหลายอย่างทางกฎหมาย ในเชิงภาคปฏิบัติ
ข้อเสนอของเราคือการปรับกฎหมายเพื่อให้ ในมุมหนึ่ง กกต. จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการจัดประชามติพร้อมกับวันเลือกตั้ง เช่น กรอบเวลาในการกำหนดวันออกเสียง เขตออกเสียง หน่วยและที่ออกเสียง และผู้ปฏิบัติหน้าที่ แต่ในอีกมุมหนึ่ง เราจะปิดช่องและป้องกันไม่ให้ ครม. หรือ กกต. ใช้เรื่องการจัดประชามติวันเดียวกับวันเลือกตั้ง มาเป็นเหตุผลในการถ่วงเวลาเรื่องการทำประชามติออกไปนานเกินควร
และประเด็นที่สามที่พรรคก้าวไกลเสนอให้แก้ไขใน พ.ร.บ. ประชามติ คือทำให้กฎหมายประชามติ “ทันสมัย” มากขึ้น โดยการรับประกันสิทธิของประชาชน ในการเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอประชามติ ผ่านช่องทางออนไลน์ เนื่องจากแม้ปัจจุบันประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อเสนอให้จัดประชามติ แต่การเข้าชื่อจะต้องทำผ่านเอกสารที่พิมพ์ออกมา (print) ออกมาเท่านั้น อย่างที่เราเห็นในแคมเปญ conforall เมื่อเดือนสิงหาคม 2566
ข้อเสนอของก้าวไกล คือปรับให้ พ.ร.บ. ประชามติ รับรองให้ประชาชนเข้าชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ เหมือนกับที่ พ.ร.บ. เข้าชื่อเสนอกฎหมาย รับรองให้ประชาชนเข้าชื่อเพื่อยื่นร่างแก้ไขกฎหมายหรือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านช่องทางออนไลน์ได้
นายพริษฐ์ กล่าวว่า 2 ใน 3 ประเด็นของพรรคก้าวไกล น่าจะสอดคล้องกับประเด็นของพรรคเพื่อไทย ส่วนที่พรรคเพื่อไทยเสนอให้เพิ่มช่องทางในการออกเสียงผ่านไปรษณีย์หรือทางเทคโนโลยี และที่เสนอให้ กกต. ต้องเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยรณรงค์ได้อย่างทัดเทียมกัน ทางพรรคก้าวไกลเห็นด้วยกับหลักการอยู่แล้ว โดยจะขอรอดูรายละเอียดว่าข้อเสนอของเพื่อไทยจะรับประกันใน 2 ประเด็นดังกล่าว มากกว่าที่มีอยู่แล้วใน พ.ร.บ.ประชามติ ปัจจุบันอย่างไร
นาย พริษฐ์กล่าวว่า วันนี้ดีใจที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย มายืนแถลงร่วมกันในการเสนอร่างกฎหมาย ที่เราเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ตนหวังว่าวันนี้จะเป็นตัวอย่างและนิมิตหมายที่ดี ว่าแม้เราจะนั่งอยู่กันคนละฝั่งในสภาฯ ในฐานะรัฐบาลและฝ่ายค้าน แต่อะไรที่เราเห็นตรงกัน เราก็พร้อมจะร่วมมือกันผลักดัน อะไรที่เราเห็นต่างกัน เราก็พร้อมจะแข่งกันเต็มที่ ซึ่งแนวทางในการร่วมมือและแข่งขันกันแบบนี้ จะเป็นแนวทางที่ทำให้ประโยชน์สูงสุดตกอยู่กับประชาชน