"เดียร์ ขัตติยา ลูกสาวเสธแดง" เสียงสั่นชงตั้ง "กมธ.ศึกษานิรโทษกรรม" ปัดยื้อเวลา ยันเป็นการปลดโซ่ตรวนขัดแย้ง ด้าน "พิธา" ยัน นิรโทษกรรม ไม่น่ากลัว ลั่นอย่าปล่อยเกิดวัฒนธรรม "คนสั่งฆ่าลอยนวล" ถึงจะบรรลุ
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่การประชุม ได้เข้าสู่การพิจารณาญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม โดยมีน.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอญัตติว่า การเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯดังกล่าว เพื่อศึกษาหลักเกณฑ์และแนวทางที่เป็นสาระสำคัญการนิรโทษกรรมให้ได้ข้อยุติ ก่อนเสนอเป็นร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร แม้ในอดีตจะเคยศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองสมานฉันท์มาแล้ว โดยคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อสร้างความปรองดองแห่งชาติ(คอป.) แต่บริบทและมูลเหตุความขัดแย้งมีความแตกต่างจากในปัจจุบัน จึงต้องดำเนินการให้สอดคล้องสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ให้มีคนไทยถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวนทางกฎหมาย กุญแจที่ปลดโซ่ตรวนคือ การออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นจุดเริ่มต้นว่า ทุกคนเห็นต่างขัดแย้งกันได้ภายในกรอบกติกา แม้การเสนอตั้งกมธ.วิสามัญฯอาจถูกตั้งคำถามเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดแก่ผู้กระทำผิด เป็นการยื้อเวลาของรัฐบาลหรือไม่ และอาจกังวลจะยัดไส้นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่รัฐทำผิดกฎหมายต่อผู้ชุมนุม ขอยืนยันว่า การออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ใช่การสร้างบรรทัดฐานที่ผิด แต่เป็นการปลดโซ่ตรวนความขัดแย้ง ไม่ใช่ยื้อเวลา เมื่อมีความเห็นต่างจึงต้องตั้งกมธ.เชิญชวนทุกกลุ่มมาหาทางออกอย่างรอบคอบ ไม่ให้เกิดชนวนขัดแย้งครั้งใหม่
“ในฐานะที่เคยเป็นผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการกระทำที่รุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ ขอยืนยันในหลักการจะไม่ให้มีการนิรโทษกรรมต่อความผิดที่เกิดแก่ชีวิตโดยเด็ดขาด”น.ส.ขัตติยา กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ
ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเสมอไป ถ้ามีเป้าหมายชัดเจน เราเคยนิรโทษกรรมมาแล้ว 22 ครั้ง ถ้าจะนิรโทษกรรมเพื่อลดความขัดแย้ง ก็คิดว่า ไม่น่ากลัว หรือเป็นภาพลบ และโอกาสที่จะได้รับนิรโทษกรรมไม่ควรถูกผูกขาดให้คณะรัฐประหารหรือคนที่คิดล้มล้างการปกครองอย่างเดียว เราต้องยอมรับอยู่ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองที่สร้างบาดแผลร้าวลึกในสังคม เป็น10กว่าปีที่สูญหาย ตั้งแต่ปี2549 -2567 มีนายกฯ 7คน รัฐประหาร 2ครั้ง มีม็อบต้านรัฐบาล 9ระลอก คนตายเป็นร้อย บาดเจ็บเป็นพัน เศรษฐกิจเสียหายเป็นแสนล้านบาท การนิรโทษกรรมครั้งนี้ ไม่ควรคิดถึงคนทำรัฐประหาร แต่ควรคิดถึงเหยื่อของคนที่ทำรัฐประหาร คนได้รับผลกระทบจากนโยบายและรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจรัฐประหาร ไม่ใช่แค่นิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ออกมาเรียกร้องทางการเมือง แต่มีผู้ที่ต้องติดคุกเพราะนโยบายในช่วงรัฐประหาร 80,000กว่าคดี คดีประมงไอยูยูอีก 3หมื่นกว่าคดี และคดีการฟ้องร้องปิดปากประชาชนอีกไม่รู้เท่าไร
“กระบวนการที่จะทำต้องไม่ใช่แค่ยุติคดีอาญา แต่จะต้องมีการเยียวยา การรับผิดชอบต่อสาธารณะ ไม่ให้เกิดการวัฒนธรรมลอยนวลของคนสั่งฆ่า จึงจะเป็นการนิรโทษกรรมที่รอบคอบ บรรลุเป้าหมาย” นายพิธา กล่าว