“รังสิมันต์” เผยสัปดาห์หน้าประชุม กมธ.ศึกษาแนวทางนิรโทษกรรม อ้างไม่ควรนำบางมาตรา มาเป็นเงื่อนไข ชี้ไม่ใช่ทางออกแก้ไขวิกฤต แนะนำผลศึกษาศูนย์ทนายฯ-ไอลอว์มาปรับใช้
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาฯ เผย กรรมาธิการจะประชุมในวันที่ 15 ก.พ. เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป โดยจะพูดคุยกันเรื่องกรอบของการทำงาน ระยะเวลาในการนิรโทษกรรมต้องไปถึงเมื่อไหร่ ส่วนกรณีที่จะมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ คือ นายคณิต ณ นคร และนายโคทม อารียา ซึ่งเคยมีประสบการณ์ในการศึกษาเรื่องนิรโทษกรรม และการปรองดอง มาให้ความเห็นต่อกรรมาธิการ จะซักถามหรือสอบถามเรื่องใดเป็นพิเศษหรือไม่นั้น ความจริงคงต้องเอารายงาน เช่นของนายคณิตที่เคยมีข้อเสนอที่จะแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองมาดูว่า ถึงที่สุดแล้วเราสามารถใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันได้มากน้อยแค่ไหน และต้องถามความเห็นเช่นกันว่าหากเราจะแก้ไขความขัดแย้งในวันนี้จะสามารถทำได้อย่างไร อย่างไรก็ตามเราไม่ควรไปติดกรอบเรื่องของคดีนั้น หรือคดีนี้ แต่ควรอยู่บนฐานว่าสรุปแล้วจะแก้ปัญหาบ้านเมืองหรือไม่ จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีหรือไม่ ซึ่งหากเราตั้งโจทย์เช่นนี้แล้วก็ไม่ควรเอาเรื่องของมาตรามาเป็นข้อกำหนดดังนั้นการบอกว่าห้ามเอามาตรานั้น มาคิดเรื่องนิรโทษกรรม ตนคิดว่าไม่ใช่ทางออกที่แท้จริงในการที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นในขณะนี้
ส่วนการศึกษาของกรรมาธิการอาจมีประเด็นที่หลากหลาย มองว่ากรอบระยะเวลา 60 วันเพียงพอหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของการประชุม และขึ้นอยู่กับวิธีการทำงานของประธานกรรมาธิการ ถามว่า 60 วันเราสามารถประชุม 2-3 วันต่อสัปดาห์ได้หรือไม่นั้น ก็สามารถทำได้ จริงๆ ไม่ควรต้องติดกรอบว่าจะต้องประชุม 1 วันต่อสัปดาห์เลยด้วยซ้ำ หากจะเอาให้เยอะ ซึ่งหากประชุม 1 สัปดาห์ก็สามารถทำได้หากประสิทธิภาพในเนื้อหาสาระมันดี อีกทั้งถามว่าวันนี้หากพูดถึงในรายละเอียดเรื่องการนิรโทษกรรม ก็มีภาคประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เขามีข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ไอลอว์ หรือแม้กระทั่งรายงานที่มีการศึกษามาก่อนหน้านี้ ซึ่งตนคิดว่าเราสามารถนำสิ่งเหล่านี้มาปรับใช้ เพื่อเร่งให้การทำงานเร็วขึ้นได้ แต่ทั้งนี้หากไม่ทันจริงๆ ก็สามารถต่ออายุได้ แต่ก็ไม่ควรที่จะช้าจนเกินไป เพราะสังคมก็อาจจะวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่าสุดท้ายแล้วไม่ได้นำไปสู่การที่จะแก้ปัญหาวิกฤตทางการเมืองที่แท้จริง แต่เป็นการตั้งกรรมาธิการเพื่อที่จะยื้อและถ่วงเวลาไว้เรื่อยๆ