"ชูศํกดิ์" ชี้แจง "สนธิญา" ยื่นยุบพรรค "เพื่อไทย" ปม ชลน่าน โว อดีต รมต.วีระศักดิ์-อบจ.โคราช ผนึกแลนด์สไลด์ พร้อมร้องสอบ "ณัฐวุฒิ" ไร้จริยธรรม แต่ขึ้นปราศรัยด่านายกฯ
วันที่ 7 มีนาคม 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบกรณีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ปราศรัยบนเวทีพรรคเพื่อไทย แม้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ และกรณี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์เข้าข่ายขัดกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง
นายสนธิญา กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง เรื่องจากจะครบวาระรัฐบาล 4 ปี ในวันที่ 23 มี.ค. 66 โดยยังไม่มีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 เพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง หรือกำหนดการยุบสภาผู้แทนราษฎรอย่างชัดเจน แต่นักการเมืองมีกฎหมาย 3 ฉบับที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ได้แก่ รัฐธรรมนูญ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
ทั้งนี้ คำร้องฉบับแรกระบุว่า เป็นกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง คือ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ซึ่งกลับมาทำหน้าที่ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ขึ้นปราศรัยและเสนอนโยบายพรรค ด้อยค่า ด่าบุคคลอื่นตลอดมา
“แม้กระทั่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีไม่สบาย ก็นำขึ้นไปกล่าวบนเวที ทั้งที่คุณณัฐวุฒิเคยบอกว่า เผาเลยพี่น้อง รับผิดชอบเอง ปัจจุบันนี้มีพี่น้องภาคอีสานเกือบ 20 คน ใน 5 จังหวัด ที่ยังถูกจำคุกอยู่”
ดังนั้น การที่ นพ.ชลน่าน ให้นายณัฐวุฒิ มีส่วนร่วมในเวทีต่าง ๆ จึงเป็นการกระทำที่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญในหมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ มาตรา 285 ว่าด้วยการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ต้องมีความรับผิดชอบอันแท้จริงทางการเมือง และคัดเลือกผู้มีความรู้ ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรมจริยธรรม เข้าไปเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
กรณีของ นายณัฐวุฒิ ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง แล้วมีสิทธิอะไรขึ้นไปเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง เพราะฉะนั้น การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ
ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย ชี้แจง ต่อสื่อมวลชนและประชาชนว่า การปราศรัยของหัวหน้าพรรคเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมาที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นเพียงพูดว่านายวีรศักดิ์ ฯ และทีม อบจ. และพรรคเพื่อไทยเป็นกลุ่มเดียวกัน มีความหมายเพียงว่า บุคคลตามที่กล่าวมาเป็นผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย เพื่อนำไปสู่การแลนด์สไลด์เท่านั้น
ไม่ได้มีการกระทำใดที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้ามาควบคุม ครอบงำหรือชี้นำการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยในลักษณะที่จะทำให้พรรคเพื่อไทยและสมาชิกพรรคขาดความเป็นอิสระในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแต่อย่างใดซึ่งการที่บุคคลใดจะสนับสนุนพรรคการเมืองใดนั้น ยอมเป็นสิทธิเสรีภาพของบุคคลนั้นที่จะพึงกระทำได้ อันถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาในทางการเมือง และพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้มีการกระทำใดที่จะถือเป็นการยินยอมให้บุคคลเหล่านั้นกระทำการในลักษณะเช่นนั้นแต่อย่างใดเช่นกัน
ส่วนกรณีที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้ขึ้นเวทีปราศรัยในพื้นที่ต่างๆ นั้น พรรคเพื่อไทย ได้แต่งตั้งให้นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นผู้ช่วยหาเสียงของพรรค และยื่นเอกสารดังกล่าวต่อเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งไปก่อนหน้านั้นแล้ว แม้นายณัฐวุฒิ ฯ จะมีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัคร ส.ส. หรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเป็นสมาชิกพรรคก็ตาม แต่นายณัฐวุฒิ ฯ ยังคงเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามกฎหมายที่จะเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้กับพรรคและผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยได้
ตามระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งกำหนดคุณสมบัติของผู้ช่วยหาเสียงไว้ว่า เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น กรณีเช่นนี้พรรคได้ดำเนินการทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ไม่ว่าการเลือกตั้งระดับชาติและการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น และ กกต.ก็ประกาศรับรองการเลือกตั้งที่ผ่านมา การที่นายสนธิญากล่าวอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 (2) ซึ่งเป็นเรื่องการปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่บทบัญญัติที่ห้ามบุคคลกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่เป็นสาระ
ดังนั้น ข้อกล่าวอ้างของนายสนธิญา จึงไม่เข้าองค์ประกอบใดๆ ที่จะถือว่าพรรคเพื่อไทยกระทำการอันฝ่าฝืนต่อกฎหมายพรรคการเมืองและรัฐธรรมนูญ และพรรคเห็นว่านายสนธิญา ได้ยื่นคำร้องให้ยุบพรรคเพื่อไทยมาแล้วหลายครั้ง โดยมิได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้ครบถ้วนและถูกต้องเสียก่อน พรรคจึงเห็นว่าการกระทำของนายสนธิญาอาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 101 ของกฎหมายพรรคการเมืองที่บัญญัติว่า
“ผู้ใดแจ้งหรือกล่าวหาพรรคการเมืองหรือบุคคลว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ต่อคณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยรู้อยู่ว่าเป็นความเท็จต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น” พรรคเพื่อไทยจึงจะได้ยื่นคำร้องขอให้ กกต. ได้ดำเนินการสืบสวนไต่สวนและเอาผิดต่อไป