สภา มติเอกฉันท์ รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่14 ‘ปชป.-ก้าวไกล-เพื่อไทย’ เห็นพ้อง จวกคณะรัฐประหารเพิ่มอำนาจ กอ.รมน. แต่ลดบทบาทตัวแทนประชาชนในพื้นที่ พร้อมตั้งกมธ.วิสามัญ 31 คนพิจารณา
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ลงวันที่ 4 เม.ย. 2559 พ.ศ. .... ที่ นายยูนัยดี วาบา สส.ปัตตานี พรรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้พิจารณาร่วมกับร่าง พ.ร.บ.ทำนองเดียวกันอีก 2 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยกับคณะ และฉบับที่ นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลกับคณะ เป็นผู้เสนอ
นายยูนัยดี วาบา สส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ. เนื่องด้วยคำสั่ง คสช. ที่ 14/2559 ได้กำหนดให้ยกเว้นบทบัญญัติบางมาตราของ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้ไม่มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นสมาชิก และเป็นส่วนสำคัญให้การแก้ปัญหาเกิดผลสัมฤทธิ์ ขณะที่คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ของ คสช. ไม่สามารถตอบสนองการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งประชาชนในพื้นที่ก็ไม่ได้มีส่วนร่วม
นายยูนัยดี ยังระบุว่า แต่เดิมสภาที่ปรึกษาฯ ซึ่งมีตัวแทนจากหลายภาคส่วน สามารถเสนอแนะ มีส่วนร่วมในการตรวจสอบประเมินการทำงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และให้ความเห็นแก่นายกรัฐมนตรี และเลขาธิการ ศอ.บต. เพื่อประกอบการพิจารณาให้เจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือน ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ให้ออกไปจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ แต่คำสั่ง คสช. ทำให้สภาที่ปรึกษาฯ ถูกลดทอนอำนาจหน้าที่ลงไป จึงขอเสนอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ดังกล่าว เพื่อให้สภาที่ปรึกษาเดิม ได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอหลักการแทนนายรอมฎอน ว่า ปัญหาชายแดนภาคใต้มีมายาวนนานมากกว่า 100 ปี ร่างของพรรคก้าวไกลต้องการยกเลิกคำสั่ง คสช. เป็นการล้างมรดกของการรัฐประหาร เป็นการฟื้นสภาที่ปรึกษาชายแดนภาคใต้ ฟื้นพลเรือนให้มีบทบาทในการแก้ไขเหนือทหาร แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ การพูดถึงเขตปกครองพิเศษอาจมีความจำเป็น การพูดถึงการให้เขาได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่จะดูแลปัญหาพื้นที่ภาคใต้ด้วยรูปแบบการปกครองนั้นอาจมีความจำเป็น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดหลังจากรัฐประหาร 2557 ที่ผ่านมา อย่างน้อยที่สุด มีทั้งหมด 4 คำสั่ง รวมถึงประกาศที่ส่งผลถึงการทำหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายณัฐวุฒิ ยังเล่าถึงคำสั่งต่างๆ ทั้ง 4 ฉบับ พร้อมถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการมาชี้แจงต่อวิปฝ่ายค้านว่าความจำเป็นคืออะไร แต่หน่วยงานตอบว่าก็เป็นตามคำสั่ง ตนจึงต้องไปอ่านว่าคำสั่งเขียนว่าอย่างไร ก็พบว่ามีเหตุผลจำเป็นบางประการที่ทำให้การใช้กฎหมายในชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะสภาที่ปรึกษา ไม่อาจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่มีคำตอบว่าเป็นอย่างไร
“มีนักธุรกิจที่ไปพบผม บอกว่ารัฐบาลเคยไปสัญญาว่าปั๊มน้ำมันที่ถูกระเบิด จะมีการอุดหนุนเงินกู้ซอฟต์โลน แล้ววันหนึ่งไปตัดเงินกู้ เขามาพบด้วยความเสียดาย เขาบอกว่าถ้าวันนั้นไม่พร้อมจะอุดหนุนหรือไม่ต่ออายุเงินกู้ เขาก็จะไม่อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีตัวแทนของผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ วันหนึ่งออกคำสั่งคสช.ที่ 14/2559 ท่านตัดฉับเลยครับ ตัดให้ขาดเลย ฉับ ฉับ ฉับ ออกมาเป็นกรณีของการแต่งตั้งภายใต้การเสนอชื่อ กอ.รมน. และ ศอ.บต. ภายใต้การเสนอชื่อจากผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแน่นอนผู้ว่าราชการจังหวัดหลายท่านที่ผมไปพบท่านเป็นคนในพื้นที่ แต่ท่านต้องย้อนไปดูนะครับว่าปี 2559 ที่มีการออกคำสั่งนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดหลายท่าน รองผู้ว่าราชการจังหวัด หลายท่านก็มิใช่คนที่เกิดในพื้นที่อยู่ในพื้นที่ หรือมีความรู้ความเข้าใจต่อวัฒนธรรมประเพณีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” นายณัฐวุฒิ กล่าว
นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ตัดเขาไปได้อย่างไร ลูกหลานเจ้าหน้าที่ของรัฐ คนในพื้นที่ ตัดอำนาจเขาได้อย่างไร ตนไม่เข้าใจวิธีคิดและมุมมองของฝ่ายรัฐ ใช้วิธีแบบเดิม ผลก็เป็นแบบเดิมและมีความรุนแรงเพิ่มขั้น เป็นฤทธิ์เดชของ คสช.
ด้านนายชูศักดิ์ เสนอหลักการว่า คำสั่ง คสช 14/2559 เป็นการรวมศูนย์อำนาจไปไว้ที่ส่วนกลางเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีตัวแทนจากแต่ละภาคส่วน การบริหารเช่นนี้เป็นผลทำให้การบริหารปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งยังมีปัญหาเพิ่มขึ้น แม้แต่รัฐบาลปัจจุบันก็ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากหลายหน่วยงานว่า ควรยกเลิกคำสั่ง คสช. แล้วกลับไปใช้กฎหมายเดิม กล่าวได้ว่าทั้ง 3 ร่าง พ.ร.บ. ที่มีผู้เสนอมา มีเจตจำนงเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์
นายชูศักดิ์ ยังทิ้งท้ายว่า ระบบกฎหมายของไทยขณะนี้ ถ้าท่านยึดอำนาจการปกครองประเทศ แล้วออกคำสั่งประกาศต่างๆ ใช้เวลาเท่าใด บางท่านก็ว่าใช้เวลาวันเดียว พอยึดอำนาจแล้วศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ออกกฎหมายอะไรได้หมด ครั้นเราจะยกเลิก ต้องเสนอร่าง พ.ร.บ. ผ่านวาระต่างๆ อาจใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนหรือเป็นปี เรื่องนี้สภาผู้แทนราษฎรควรต้องตระหนัก ว่าระบบแบบนี้ควรหมดไปจากประเทศไทย โดยทั้งสภาฯ และศาล ต้องไม่ยอมรับประกาศคำสั่งใดๆ ไม่ยอมรับการยึดอำนาจรัฐประหาร ว่าไม่ใช่สิ่งดีงาม ไม่ร่วมมือด้วย ฝากเป็นข้อคิดอุทาหรณ์ไปยัง สส. ว่าเราควรต้องตระหนักถึงหน้าที่ของเราในส่วนนี้
จากนั้นให้สมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นว่าคำสั่งคสช.มีปัญหาต่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นด้วยให้ยกเลิกคำสั่งคสช.และสนับสนุนให้สภาฯตั้งกมธ.วิสามัญยกเลิกคำสั่งคสช.หลังอภิปรายเสร็จสิ้นที่ประชุมลงมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับ ด้วยคะแนน 421 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 1 เสียง และตั้งคณะกมธ.วิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่14 จำนวน 31 คน แปรญัตติ 15 วัน โดยใช้ร่างของนายชูศักดิ์ เป็นร่างหลัก