"โรม" ยื่น ก.ต. สอบ ผู้พิพากษาเพิกถอนหมายจับ ส.ว.คนดัง

"รังสิมันต์ โรม" ยื่นหนังสือ ก.ต. ให้ตรวจสอบ ผู้พิพากษา ที่มีส่วนในการพิจารณา เพิกถอนหมายจับ ส.ว.คนดัง ปมเอี่ยวคดียาเสพติด

นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เดินทางมายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต. เพื่อให้ตรวจสอบ ผู้พิพากษาที่พิจารณาเพิกถอนหมายจับ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) คนดัง กรณีการอภิปรายในสภาพาดพิงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและการฟอกเงิน 

นายรังสิมันต์ โรม กล่าวว่า วันนี้มายื่นหนังสือถึง คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เป็นกรณีที่สืบเนื่องจากการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 โดยในรอบนี้ตนเองทำตามระเบียบและพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการยุติธรรม มันจะเป็นไปซึ่งประโยชน์จริงๆ อย่างที่ทุกคนทราบว่า ตนเองมีการอภิปรายในสภา ข้อมูลหนึ่งที่ตนเองเปิดเผยออกมาคือ ส.ว.ทรงเอ ซึ่งเป็นตัวละครที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดและการฟอกเงิน ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด หรือ บช.ปส. ที่รับผิดชอบคดีนี้ ได้มายื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอออกหมายจับ หลังจากมาขอออกหมายจับในช่วงเช้า ของเดือนตุลาคม 2565 ศาลได้อนุมัติหมายจับแล้ว แต่ปรากฏว่า ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน มีการยกเลิกหมายจับ ดังกล่าว โดยสาเหตุสำคัญในคำอธิบายของผู้พิพากษา ว่าได้รับฟังคำแนะนำจากอธิบดีผู้พิพากษาว่า บุคคลที่ถูกออกหมายจับ หรือ ส.ว.ทรงเอ เป็นบุคคลที่มีความสำคัญ และศาลไม่ทราบมาก่อนว่า พนักงานสอบสวนมายื่นคำร้องเพื่อออกหมายจับบุคคลดังกล่าว จึงขอให้มีการถอนหมายจับ และขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกก่อน

ซึ่งหากพิจารณา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คดีที่มีอัตราโทษสูง ซึ่งคดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและการฟอกเงิน โดยทั่วไปไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องมีการออกหมายเรียกก่อน สามารถที่จะดำเนินการออกหมายจับได้เลย และในชั้นต้น เดิมทีศาลก็คงจะเห็นด้วยว่า บุคคลดังกล่าว เป็นวุฒิสมาชิกหรือไม่ จึงออกหมายจับให้ แต่ปัญหาในระบบกฎหมายของไทย ไม่ได้แบ่งแยกว่าการปฏิบัติกับวุฒิสมาชิก กับการปฏิบัติต่อบุคคลธรรมดา ต้องมีความแตกต่างกัน เพราะหลักการของกฎหมาย ทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ดังนั้นทุกคนจึงต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ การไปขอถอนหมายจับแบบนี้ อาจจะมีปัญหาในเรื่องของความถูกต้อง ของกระบวนการยุติธรรม หรือความถูกต้องในเรื่องความชอบเรื่องกฎหมาย ของหลักปฏิบัติของผู้พิพากษา ซึ่งบุคคลที่ตนเองจะยื่นเป็นข้อมูลและเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มี 3 ท่าน ประกอบด้วย อธิบดีผู้พิพากษาฯ รองอธิบดีผู้พิพากษาฯ และ ผู้พิพากษาที่นั่งบัลลังก์ ในวันดังกล่าว โดยนำหลักฐานเป็นเอกสาร ต่างๆที่หวังว่า จะนำไปสู่การดำเนินการเพื่อขอให้มีการตรวจสอบต่อไป และหวังว่า ถ้ามีการตรวจสอบเรื่องนี้ จะสร้างความเป็นธรรม และความยุติธรรมให้กับคดีนี้ได้

นายรังสิมันต์ โรม ยืนยันว่า สิ่งที่ต้องการเห็นจากการยื่นตรวจสอบผู้พิพากษาในครั้งนี้ เพราะต้องการเห็นความยุติธรรม ซึ่งหน้าที่ของตนเองเมื่อรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และไม่น่าจะถูกต้องตามกฎหมาย สิ่งที่ตนเองทำได้ก็คือแจ้งเป็นข้อมูลให้กับหน่วยงานที่มำอำนาจในการตรวจสอบ เพราะส่วนตัวไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปแทรกแซง หรือ สั่งการให้เกิดผลอย่างใด อย่างหนึ่งได้ แต่เป็นข้อมูลหลักฐานสำคัญที่ตนเองคิดว่าถ้าตนเองไม่แจ้งข้อมูล ก็คงเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแบบนี้ ดังนั้นเมื่อตนเองรู้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ก็เอามายื่น ต่อองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่

ทั้งนี้ ภายหลังนายรังสิมันต์ โรม ให้สัมภาษณ์เสร็จ จึงได้ไปยื่นเอกสารที่งานสารบรรณ ชั้น 3 และเปิดเผยว่า หลังจากนี้ก็เป็นขั้นตอนการตรวจสอบของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนเองจะติดตามความคืบหน้าในการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง 
 

TAGS: #รังสิมันต์ #โรม #สว.ทรงเอ #ผู้พิพากษา #หมายจับ #ก้าวไกล #ยาเสพติด