สภารุมชำแหละงบทส.จวกแก้ฝุ่นเหลว มีแต่งานอีเวนต์

สภารุมชำแหละงบทส.จวกแก้ฝุ่นเหลว มีแต่งานอีเวนต์
สภารุมชำแหละงบ "กระทรวงทรัพย์ฯ" จวกแก้ "ฝุ่นพิษPM2.5"ล้มเหลว มีแต่งานอีเวนต์ตัวตั้ง ไม่แก้ปัญหายั่งยืน ข้องใจ เน้นประเคนงบ "กรมอุทยานฯ"

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในวาระที่สอง มาตรา 17 งบประมาณกระทวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 15,025,964,400 บาท 

นายกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี สส.นครสวรรค์ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ในฐานะอนุกรรมาธิการฯ  ว่ามีข้อสงสัยหน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรฯ 2 หน่วยงาน คือ สำนักนโยบายแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งได้รับงบประมาณ 1,002.5 ล้านบาท เป็นงบดำเนินการ 152 ล้านบาท งบลงทุน 45 ล้านบาท งบอุดหนุน 760 ล้านบาท งบรายจ่าย 43 ล้านบาท  โดยตั้งข้อสังเกตงบประมาณ 24.61 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบเบี้ยประชุม กรรมการ อนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม คณะกรรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นต้น  เนื่องจากในรายงานไม่มีรายละเอียดจำนวนครั้งในการประชุมจึงเข้าไปดูในรายงานประจำปีของหน่วยงานนี้ในปี 65 พบว่ามีการประชุมเพื่อพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จำนวน 725 ครั้ง และมีการประชุมรวม 230 ครั้ง หมายความว่าใช้งบประมาณเฉลี่ยในการประชุมครั้งละ 1 แสนบาท/ครั้ง/วัน ตนถามผู้ที่มาชี้แจงได้ทราบว่ามีค่าเบี้ยประชุมสูงถึง 2,500- 1 หมื่นบาท/คน/วัน ซึ่งในอนุกรรมการฯ  ขณะที่เราประชุมกันเบี้ยประชุมเพียง 800 บาท/คน/วัน ตนคิดว่าน่าจะประหยัดงบประมาณนี้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์หากใช้งบอย่างเหมาะสมในการประชุม ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณสูงสุดที่กำหนดไว้ 

นายกฤษฐ์หิรัญ กล่าวว่า อีกหน่วยงานคือสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ หน่วยงานนี้ได้รับงบประมาณ 1,682 ล้านบาท เป็นงบดำเนินงาน 133 ล้านบาท งบลงทุน 592 ล้านบาท มีการปรับลดชั้นกรรมาธิการฯ เพียง 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบระบบคอมพิวเตอร์ แต่มีโครงการหนึ่งซึ่งเป็นงบผูกพันปี 66-70 ใช้ชื่อแผนอย่างสวยหรูว่าแผนงานพื้นฐานด้านการจัดการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ความรู้เรื่องไม้มีค่าเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินเฉลิมพระเกียรติอันเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยจากการชี้แจงอนุกรรมาธิการฯ แบ่งเป็น 2 โครงการ ในเฟสแรก เป็นงานก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ 1,230 ล้านบาท และเป็นงานก่อสร้างเฉพาะอาคาร ค่าควบคุมงานก่อสร้าง 21 ล้านบาท  ตนเห็นชื่อโครงการนี้จากข่าวเมื่อเดือน มิ.ย.66 ว่า มีมูลค่าการก่อสร้าง 2,000 ล้านบาท ในพื้นที่ 2,550 ตร.ม.ตนประเมินเบื้องต้นอยู่ที่ ตร.ม. ละ 8.1 หมื่นบาท แพงแค่ไหนนั้นตนเปรียบเทียบกับโครงการที่ใกล้เคียงกัน เป็นอาคารห้างสรรพสินค้าที่มีค่าก่อสร้าง 2.1 หมื่นบาท/ตร.ม. ถือว่าแพงมากกว่าการก่อสร้างอาคารทั่วไปถึง 4 เท่า  ซึ่งน่าจะปรับลดได้มากกว่านี้หากมีการจัดซื้อจัดจ้างที่เหมาะสม 

นายกฤษฐ์หิรัญ  อภิปรายต่อว่า โดยโครงการนี้อนุมัติตั้งแต่ปี 2557 ตั้งแต่หลังการรัฐประหารใหม่ๆ รัฐบาล คสช. ได้อนุมัติโครงการนี้และมีมติ ครม. 4 ม.ค. 65 ให้กระทรวงทรัพยากรฯ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ จากนั้น ครม.อนุมัติงบ 4,055 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้าง เป็นงบผูกผันปี 66-70 ทั้งนี้ตนมีความสงสัยว่าการประมูลก่อสร้างครั้งนี้โปร่งใสหรือไม่ เนื่องจากพบว่าผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารรายนี้รับงานก่อสร้างจากหน่วยงานรัฐจำนวนมากกว่า 1,529 โครงการ หรือ 1,460 ล้านบาทใน 7 ปี แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาอาจจะเป็นเพราะความสามารถของผู้บริหารโครงการ แต่ข้อมูลที่เราได้รับเพิ่มเติม  เฉพาะในกทม. มี 181 โครงการ จากทั้งหมด 888 โครงการ  ที่บริษัทนี้ได้รับไป สังเกตว่ามีความปกติกว่า  1 ใน 5 จึงฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย อีกทั้งพบว่าบริษัทนี้ไม่ได้ซื้อซองเข้าเสนองาน แต่ได้งานในช่วงปี 62-63 จำนวนมาก ดังนั้นตนจึงขอให้ทบทวนปรับค่าก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์องค์ความรู้ไม้มีค่าฯ นี้  ที่จะมีในเฟสที่ 2 เพราะเราไม่สามารถปรับลดในเฟสแรกได้ เฟสที่สองในเรื่องของการตกแต่งภายในอยากให้ใช้งบประมาณที่เหมาะสมมากกว่านี้ สุดท้ายตนขอยืนยันให้ปรับลดงบ 67 มาตรา 17 ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรฯ ทั้งหมด 10 % ของโครงการ 

ด้านนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ที่กระทรวงทรัพยากรฯ ไม่ให้ความสำคัญ ทำให้ปัญหามีความรุนแรงขึ้น รวมถึงการเกลี่ยงบประมาณภายในหน่วยงานที่ไม่เป็นธรรม ไม่ให้งบประมาณอย่างเพียงพอกับหน่วยงานที่มีหน้าที่แก้ปัญหาภัยแล้งว่า งบกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ถูกปรับลดลงเหลือ 870 ล้านบาท ถูกตัดทิ้ง ทั้งที่ประเทศมีวิกฤตเรื่องน้ำ แต่กลับไม่ติดอาวุธให้หน่วยงาน ขณะที่งบกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมมีความทับซ้อนกับกรมควบคุมมลพิษ มีแต่งบงานอีเวนต์เป็นตัวตั้ง ที่ไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ควรเน้นเป้าหมายเรื่องการบรรลุยุทธศาสตร์ในการลดก๊าซเรือนกระจกให้ชัดเจน

ขณะที่นายจักรวาล ชัยวิรัตน์กูล สส.สุโขทัย พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า กระทรวงทรัพยากรฯ เกลี่ยงบไม่สมดุล กรมอุทยานแห่งชาติฯได้งบ 5,600ล้านบาท ทั้งที่มีรายได้จากการเก็บค่าเข้าอุทยานมากอยู่แล้ว มีรายได้ต่อปี 1,000 ล้านบาท แต่กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ที่มีส่วนสำคัญแก้ปัญหาภัยแล้ง กลับได้รับงบประมาณไม่เพียงพอ อย่างกรมป่าไม้ มีอุปกรณ์ดับไฟป่าแค่ไม้กวาด เครื่องเป่าลม ควรได้รับงบเพิ่มเพื่อไปซื้ออุปกรณ์ดับไฟป่าที่ทันสมัย 

ส่วนนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะกมธ.ชี้แจงว่า กระทรวงทรัพยากรฯ  ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาฝุ่นPM2.5 แก้ไขปัญหาอยู่ตลอดเวลา แต่เรื่องฝุ่นPM2.5เป็นเรื่องส่วนรวม ประชาชนต้องให้ความร่วมมือ ถ้าให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงฯเพียงอย่างเดียว การแก้ปัญหาจะใช้เวลานาน  

หลังจากสส.อภิปรายมาตรา 17ครบถ้วน แล้วที่ประชุมลงมติเห็นชอบมาตราดังกล่าวตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก

TAGS: #งบ67 #ประชุมสภา