"สวนดุสิตโพล" เผยดัชนีการเมืองไทยเดือนมี.ค.เฉลี่ย 5.10 คะแนน ลดลงเล็กน้อย ฝ่ายค้านยังครองใจประชาชนมากกว่า
“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนมีนาคม 2567” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 2,254 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 21-29 มีนาคม 2567 โดยมีตัวชี้วัด 25 ประเด็นที่บ่งบอกถึงความเชื่อมั่นต่อการเมืองไทยในด้านต่าง ๆ ซึ่งแต่ละตัวชี้วัดจะมีคะแนนเต็ม 10 คะแนน สรุปผลเรียงลำดับจากค่าคะแนนสูงสุดไปถึงต่ำสุด ได้ดังนี้
1.“ดัชนีการเมืองไทย” เดือนมีนาคม 2567 ภาพรวมคะแนนเต็ม 10 ได้ 5.10 คะแนน (เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ได้ 5.16 คะแนน)
2. ประชาชนให้คะแนน 25 ตัวชี้วัด “ดัชนีการเมืองไทย” โดยคะแนนเต็ม 10 เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้ดังนี้
3. นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ประชาชนคิดว่ามีบทบาทโดดเด่นในเดือนมีนาคม 67
นักการเมืองฝ่ายรัฐบาล 1.เศรษฐา ทวีสิน 53.22% 2.อนุทิน ชาญวีรกูล 28.30% 3.แพทองธาร ชินวัตร 18.48%
นักการเมืองฝ่ายค้าน 1.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 59.32% 2.รังสิมันต์ โรม 20.91% 3.ศิริกัญญา ตันสกุล 19.77%
4. ผลงานของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ประชาชนชื่นชอบในเดือนมีนาคม 67
ผลงานฝ่ายรัฐบาล 1.สงกรานต์ 21 วัน ดัน Soft Power 47.51% 2.จับบ่อน ปราบมาเฟีย ผู้มีอิทธิพล 30.94% 3.ย้าย 2 บิ๊กตำรวจ 21.55%
ผลงานฝ่ายค้าน 1.อภิปรายงบประมาณ ปี 2567 48.36% 2.กระตุ้นเรื่องแก้ฝุ่น PM2.5 ดับไฟป่า 31.75% 3.ผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม 19.89%
5. ปัญหาที่ประชาชนอยากให้เร่งแก้ไข คือ 1.ยาบ้า กัญชา ยาเสพติด 50.62% 2.เศรษฐกิจ ปากท้อง ค่าครองชีพ 31.78% 3.ฝุ่น PM2.5 มลพิษทางอากาศ 17.60%
นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า จากผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าดัชนีการเมืองไทยเดือนนี้ยังคงอยู่ในระดับปานกลาง คะแนนลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน สาเหตุหลักอาจมาจากปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจที่ประชาชนกังวล ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ได้คะแนนไม่ดีนัก นอกจากนี้ผลสำรวจชี้ว่าฝ่ายค้านยังคงครองใจประชาชน อาจเป็นเพราะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพของฝ่ายค้านในการทำงาน แต่ฝ่ายรัฐบาลเองก็เริ่มมีผลงานที่โดนใจประชาชนมากขึ้น ทั้งการผลักดัน Soft Power การจับบ่อน และแก้ปัญหาวงการตำรวจ
ด้าน ผศ.ดร.เบญจพร พึงไชย ผู้ช่วยคณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า สำหรับการเมืองไทยในช่วงเดือนมีนาคมนี้ แม้จะมีประเด็นทางการเมืองเกิดขึ้นหลาย ๆ เหตุการณ์ อาทิ การทัศนาจรของอดีตนายกรัฐมนตรีไปยังที่ต่าง ๆ หรือประเด็นการอภิปรายของ สว. เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเศรษฐา แต่ผลการสำรวจมีคะแนนลดลงเล็กน้อยในภาพรวมเดือนมีนาคม 5.10 คะแนน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ได้ 5.16 คะแนน นั่นแสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่โฟกัสไปที่การแก้ไขปัญหาปากท้องว่ารัฐบาลจะทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งคะแนนเดือนนี้อยู่ที่ 4.80 เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา คือ 4.78 คะแนน ซึ่งแทบไม่ต่างจากเดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังมีคะแนนลดลงจากเดิม 5.14 โดยในเดือนนี้ ได้เพียง 5.00 คะแนน ยิ่งชี้ชัดว่าการแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ยังไม่เห็นผล
ในทางตรงกันข้าม ผลงานของฝ่ายค้านกลับได้คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 5.52 เป็น 5.56 คะแนน ซึ่งอาจมาจากความเห็นใจของประชาชนกรณีการยุบพรรค ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการที่จะให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นจะต้องแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ประชาชนอยากให้เร่งแก้ไขปัญหายาเสพติดมีคะแนนถึง ร้อยละ 50.62 อาจเป็นเพราะประเด็นข่าวหรือสถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเกิดขึ้นบ่อยครั้งในรอบเดือนที่ผ่านมา คงต้องจับตาดูกันว่าปัญหาในประเด็นนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปสำหรับเดือนหน้า