ชำแหละมติครม.ฉบับ"แบ่งเค้ก-ซื้อใจ-ทิ้งทวน" ครั้งประวัติศาสตร์ กรอบวงเงินกว่า 4 ล้านล้าน

ชำแหละมติครม.ฉบับ
ครม.ลุงตู่ฉบับส่งท้ายก่อนยุบสภาทิ้งทวนสะบัดกว่า 70 เรื่องทั้งอนุมัติงบประมาณรายกระทรวงปี67 โครงการสำคัญๆ รวมกรอบวงเงินกว่า 4 ล้านล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์

การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 14 มี.ค.2566 ถือเป็นนัดส่งท้ายของคณะรัฐมนตรีลุงตู่ เนื่องจากจะมีการยุบสภาในวันที่20 มี.ค.นี้  และหลังจากมีการยุบสภาแม้ ครม.ยังคงประชุมได้ แต่ไม่สามารถพิจารณาอนุมัติงบประมาณได้ หรือโยกย้ายแต่งตั้งราชการได้ เว้นแต่ต้องขออนุญาติคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ก่อน 

ดังนั้นการประชุมครม.ทิ้งทวนดังกล่าวนี้ ใช้เวลาการประชุมนานกว่า 6 ชั่วโมง โดยมีวาระการประชุม 71 วาระ แบ่งเป็นวาระเพื่อทราบ 17 เรื่อง วาระพิจารณา 29 เรื่อง และวาระจรอีก 25 เรื่อง เรื่อง โดยมีการอนุมัติงบประมาณและโครงการต่างๆทั้งคิดเป็นมูลค่ากรอบวงเงินสูงสุดเป็นประวัติกาล กว่า 4 ล้านล้าน โดยมีโครงการน่าสนใจดังนี้

1.เห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน  3,350,000 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ (2,490,860.5 ล้านบาท) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง (33,759.1 ล้านบาท) รายจ่ายลงทุน (717,199.6 ล้านบาท) รายจ่ายชำระคืนเงินกู้ 117,250.0 ล้านบาท วงเงินเพื่อชดเชยการขาดดุล  (593,000.0 ล้านบาท) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (19,421,600 ล้านบาท) โดยตั้งงบกลางสูงสุด 601,745.0 ล้านบาท ส่วน กระทรวงกลาโหม 198,562.9 ล้านบาท 

2.ครม.อนุมัติหลักการให้บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด(มหาชน) ดำเนินโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G/5G บนคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์(MHz) มีกรอบวงเงินตามโครงการทั้งสิ้น 61,628  ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 14 ปี โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดบริการได้ภายในปี 66 เป็นต้นไป

3.อนุมัติให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)ดำเนินโครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) ระยะทาง 16.21 กม. เพื่อรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่ กทม. และจังหวัดใกล้เคียง ช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดขัดบนถนนรังสิต-นครนายก และโครงข่ายถนนโดยรอบ รวมถึงเพิ่มทางเลือกการเดินทางของประชาชนระหว่างจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดใกล้เคียงเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน รองรับการขยายตัวของแหล่งชุมชน ที่อยู่อาศัย สถานศึกษาและนันทนาการของภาครัฐทั้งที่เปิดบริการแล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยโครงการฯ มีมูลค่าการลงทุน 24,060.04 ล้านบาท

4.เห็นชอบหลักการการกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลประจำปี 2565 ได้แก่  สลากฯ 6 หลัก (Lottery 6: L6) และสลากฯ ตัวเลข 3 หลัก (Numbers 3: N3)  หวังเพิ่มช่องทางจำหน่ายสลากฯ ในรูปแบบดิจิทัล จากการจำหน่ายผ่านตัวแทนจำหน่าย เพิ่มทางเลือกในการซื้อสลากแบบถูกกฎหมายมากขึ้น โดยผู้ซ้ือสามารถเลือกตัวเลข ได้ตามความต้องการ ช่วยลดการเสี่ยงโชคนอกระบบและผิดกฎหมายให้ลดน้อยลง

5.เห็นชอบปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ โดย ปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  ฯลฯ แบบปรับฐาน จำนวน  4,393.50 ล้านบาทต่อปี และแบบขั้นวิ่ง จำนวน 402.15 ล้านบาทต่อปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 4,795.65 ล้านบาทต่อปี

6.เห็นชอบเพิ่มเงินค่าตอบแทนผู้บริหารและสมาชิกอบต.โดยให้จ่ายค่าตอบแทนตามบัญชีอัตราค่าตอบแทนใหม่ต้ังแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป โดยรวมใช้เงิน จากเดิม 9,522.05 ล้านบาท เป็น 13,774.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเงิน
ค่าตอบแทนปัจจุบัน  4,252 ล้านบาท 

7.เห็นชอบหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2565/2566 วงเงิน 716.10 ล้านบาท และมาตรการคู่ขนาน ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2565/2566 วงเงินสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท 

8.เห็นชอบการเปิดโครงข่ายขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต (โครงการงบ Big Rock) ตามหลักการโครงข่ายแบบเปิด (Open Access Network) ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ เพื่อให้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายไปให้บริการปลายทาง (Last Mile Access) ยังทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นการใช้โครงข่ายดังกล่าวให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม

9.อนุมัติแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567  ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมทั้งสิ้น 1,747  โครงการ วงเงินรวม 41,903.46 ล้านบาท และ อนุมัติข้อเสนอโครงการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่สอดคล้องกับเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค พ.ศ.2566-70 รวม 364 โครงการ วงเงิน 787,765.03  ล้านบาท ซึ่งแยกเป็นโครงการที่สอดคล้องและมีการกระจายประโยชน์ในระดับภาคสูง 88 โครงการ วงเงิน 101,711.41 ล้านบาท  และโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค 276 โครงการ วงเงิน 686,053.62 ล้านบาท

10.อนุมัติให้กระรวงสาธารณสุขก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2566-69 สำหรับดำเนินโครงการจัดแสดงนิทรรศการในงาน Expo 2025 Osaka Kansai ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งสิ้น 867.88 ล้านบาท

11.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 514.22 ล้านบาท ให้กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดำเนินโครงการฟื้นฟู เตรียมความพร้อม และเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (สตาร์ทอัพ) กลุ่มอาชีพในชุมชน หลังสถานการณ์โควิด19 ด้วยองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้แนวคิดการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมั่นคงตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG

12.เห็นชอบหลักการโครงการโคล้านครอบครัว วงเงิน 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐจะชดเชยต้นทุนการเงินให้สถาบันการเงิน (ธ.ก.ส.) อัตราร้อยละ 4 ต่อปี  ภายในวงเงิน  600 ล้านบาท โดยในปีแรกให้ใช้งบประมาณจากโครงการเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง ระยะที่ 3 จำนวน 350  ล้านบาท เพื่อชดเชยต้นทุนการเงินให้กับสถาบันการเงิน ภายในวงเงิน 200 ล้านบาทและงบบริหารโครงการ ภายในวงเงิน 150  ล้านบาท และให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ตั้งงบประมาณเพื่อชดเชยต้นทุนการเงินให้สถาบันการเงินในปีที่ 2-4 ภายในวงเงิน 400  ล้านบาท 

13. เห็นชอบโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม สำหรับผู้ได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ อีก 20 บาท/คน/3 เดือน ในช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน  2566 สำหรับผู้ใช้สิทธิ  7.5  ล้านราย รวมเงิน 150 ล้านบาท

14.เห็นชอบแนวทางการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟู และพัฒนาเกษตรกรลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง  คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)   ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส. ) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)   โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อจ่ายชดเชยให้กับธนาคารทั้ง 4 แห่ง เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายตามโครงการฯ  50,621 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 15,481.657 ล้านบาท

TAGS: #ครม.ลุงตู่นัดส่งท้าย #มติครม. #การเมือง