แม้ ศาลรธน.ไม่ได้สั่งให้ "เศรษฐา" หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่การที่ศาลรับคำร้องย่อมส่งผลให้ รัฐบาลเพื่อไทย ต้องวิตก เพราะเท่ากับว่าตอนนี้ "เศรษฐา"ตกอยู่ในกำมือ เสี่ยงหลุดจากเก้าอี้ได้ทุกตลอดเวลา
การที่ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติให้รับพิจารณาคำร้องของ 40 ส.ว.ที่เสนอให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลง กรณี นายเศรษฐา ได้ตั้งนายพิชิต เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ นั้น
แม้ศาลรธน.จะมีมติ 5 ต่อ 4 ไม่ได้สั่งให้ "เศรษฐา" หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่การที่ศาลรับพิจารณา ย่อมส่งผลให้ "เศรษฐา"และรัฐบาลเพื่อไทย ต้องหวั่นวิตก เสียสมาธิในการบริหารประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเท่ากับว่าตอนนี้ "เศรษฐา"อยู่ในกำมือ เผชิญความเสี่ยงในการที่จะหลุดจากตำแหน่งได้ทุกเมื่อ ตราบจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมาให้พ้นผิด
ขณะเดียวกันหลังจากนี้ นโยบายต่างๆที่มีเสียงท้วงติง เสี่ยงเข้าข่ายผิดกฎหมาย จะทำให้ "เศรษฐา" และรัฐบาล เพื่อไทย พะวง ไม่กล้าตัดสินใจผลีผลาม อาทิ นโยบาย การแจกเงิน 1หมื่นบาท
นอกจากนี้กลุ่มการเมือง พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล จะเสียงดังมากขึ้น ในการต่อรองโครงการต่างๆกับพรรคเพื่อไทย อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม มติของศาลรธน.ที่ไม่พักงาน "เศรษฐา"ด้วยคะแนนที่เฉียดฉิวนั้น เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถูกพักงาน 5 ต่อ 4 กรณีอยู่ในตำแหน่งเกิน 8 ปี ก่อนที่ท้ายสุดศาลรธน.จะตัดสิน พลิกกลับมาให้ "ลุงตู่"อยู่ในตำแหน่งต่อไป ด้วย มติ 6 ต่อ 3 นั้น และแม้ในขณะนี้ตุลาการได้พ้นวาระ 2 คน โดยมีคนใหม่มาทำหน้าที่แทนแล้ว แต่ผลการโหวตลงมติ ของตุลาการศาลรธน.แต่ละคน น่าสนใจดังนี้
เสียงข้างมาก 5 คน ที่ลงมติ ไม่พักงาน "เศรษฐา"ประกอบด้วย
1.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2.นายอุดม รัฐอมฤต 3.นายสุเมธ รอยกุลเจริญ 4.นายนภดล เทพพิทักษ์ 5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
เสียงข้างน้อย 4 คน ที่พักงาน "เศรษฐา"ประกอบด้วย 1.นายปัญญา อุดชาชน 2.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 3.นายวิรุฬ แสงเทียน 4.นายจิรนิติ หะวานนท์
ในขณะที่ครั้งศาลรธน.ลงมติ 5 ต่อ 4 ให้ พลเอกประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ปมเป็นนายกฯเกิน 8 ปีนั้น
เสียงข้างมาก 5 เสียง ที่สั่งให้ พลเอกประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย
1.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2.นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ (พ้นตำแหน่งไปแล้ว) 3.นายจิรนิติ หะวานนท์ 4.นายวิรุฬห์ แสงเทียน 5.นายนภดล เทพพิทักษ์
เสียงข้างน้อย 4 เสียงที่ไม่เห็นด้วยให้ พลเอกประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่
1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ (พ้นตำแหน่งไปแล้ว) 2.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 3.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ 4.นายปัญญา อุดชาชน
สำหรับรายชื่อตุลาการศาลรธน.ที่ลงมติให้รับพิจารณาคดี "เศรษฐา" 6 ต่อ 3 นั้นประกอบด้วย
เสียงข้างมา 6 คน 1.นายปัญญา อุดชาชน 2.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 3.นายวิรุฬ แสงเทียน 4.นายจิรนิติ หะวานนท์ 5.นายนภดล เทพพิทักษ์ และ 6.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
ด้าน 3 ตุลาการเสียงข้างน้อย ประกอบด้วย 1.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2.นายอุดม รัฐอมฤต และ 3.นายสุเมธ รอยกุลเจริญ
ในขณะที่มติตุลาการศาลรธน.ขณะนั้นให้ "ลุงตู่"อยู่ในตำแหน่งต่อไป 6 ต่อ 3 ประด้วยเสียงข้างมาก 6 เสียง 1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม 2.นายปัญญา อุดชาชน 3.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 4.นายจิรนิติ หะวานนท์ 5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ 6.นายวิรุฬห์ แสงเทียน
ด้านเสียงข้องน้อย 3 เสียง ประกอบด้วย 1.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2.นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ และ 3.นายนภดล เทพพิทักษ์
ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าท้ายสุด"ลุงตู่"รอด ส่วน "เศรษฐา"ต้องลุ้นกันตัวโก่งต่อไป