"ปารมี" ก้าวไกล ห่วง กยศ. ขาดสภาพคล่องหนัก ของบครั้งแรกในรอบหลายปี

“ปารมี” ก้าวไกล  ชี้ กยศ.ขาดสภาพคล่องหนัก ของบครั้งแรกในรอบหลายปี หวั่นตัดเงินกู้ทำ “นักเรียน” ไม่ได้เรียน ด้าน “จุลพันธ์” แจง จัดงบเงิน กยศ.มาพอดี ยันนักเรียน 6 แสนคนได้กู้แน่ในปีนี้

นายปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ ที่พบว่า ในร่างพ.ร.บ.งบฯ68 เป็นปีแรกที่กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ขอรับการจัดสรรงบประมาณครั้งแรกในหลายปี ซึ่งรัฐบาลจัดสรรงบให้ 800 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอขอทั้งสิ้น 1.9หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ กยศ.ขาดสภาพคล่องอย่างหนัก หากไม่ได้งบประมาณอีก อาจต้องตัดเงินกู้ยืมของนักเรียนที่เข้าโครงการ ไม่มีเงินเรียนต่อ มัธยมศึกษาตอนปลายและอุดมศึกษา ที่อาจทำให้นักเรียนถูกตัดออกจากระบบการศึกษา ดังนั้นตนขอเรียกร้องให้สภาฯ พิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.กยศ.เพื่อแก้ปัญหา จากที่รัฐสภาชุดที่ผ่านมาแก้ไขเนื้อหาลดอัตราดอกเบี้ย และไม่มีการฟ้องร้อง จนทำให้เกิดปัญหา

นายปารมี อภิปรายด้วยว่าขณะนี้มีปัญหาการขาดแคลนครูในชนบท เนื่องจากครูในชนบทต้องรับภาระงานจำนวนมาก ตั้งแต่ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนถึงภารโรง แต่ได้เงินเดือนเท่ากับครูในเมือง ดังนั้นจึงทำให้ครูชนบทขอย้ายไปในเมือง และประเด็นดังกล่าวทำพบการทุจริต ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ กิโลเมตรละ 1แสนบาท โดยเป็นการวัดระยะทางจากโรงเรียนเก่าไปโรงเรียนใหม่ ถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้า

ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ลุกขึ้นชี้แจง รายการงบประมาณหลังถูกพาดพิงการจัดสรรงบประมาณ กยศ. ไม่ตรงตามเป้าประสงค์ จะยิ่งทำให้มีผู้ถูกผลักออกจากระบบการศึกษามากขึ้น ว่า งบประมาณของกยศ. ที่มีการขอมาเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ในส่วนของการที่มีการปรับแก้ การปรับโครงสร้าง เป็นคนที่กำกับ กยศ. เป็นช่วงปรับตัวเข้ากับ พ.ร.บ.ใหม่ของ กยศ.มีการของบประมาณมาก 19,000 ล้านบาท และจากการหารือร่วมกันระหว่างกลไกที่ดำเนินการ สำนักงบประมาณ สามารถบริหารจัดการได้ภายใต้กรอบเงินที่ยังคงเหลือในกองทุน และเงินที่รับมาจากลูกหนี้ และเงินอื่น ๆ สามารถบริหารจัดการได้ในกรอบที่จะรับเงินเพิ่มเติมอีก 800 ล้านบาท แน่นอนว่ากลไกของรัฐที่จัดสรรแล้วยังไม่เพียงพอ ยังคงมีช่องทางงบกลาง และกลไกอื่นที่รองรับ 

พร้อมยืนยันได้ว่า จะไม่มีนักศึกษาหรือนักเรียนคนใดที่หลุดจากการศึกษาเพราะไม่สามารถกู้ยืมจาก กยศ.ได้ กระทรวงการคลังได้ตั้งเป้าการกู้ยืมเงินจาก 600,000 กว่าคน จากกลุ่มเดิมที่กู้อยู่แล้ว 75 % และกลุ่มใหม่ 25 % ซึ่งเรื่องของการรับตัวกับ พ.ร.บ.กยศ. ที่ออกใหม่นั้น เบี้ยปรับลดลงจาก 18 % เป็น 0.5 % และห้ามฟ้อง ห้ามเอาชื่อคนค้ำประกันออก ซึ่งมีผลย้อนหลังวันแรกที่กู้จนวันที่ชำระวันสุดท้าย หลังจากมีการคำนวณใหม่ กยศ.ยังค้างเงินที่ต้องจ่ายคืนใหม่นักเรียนเป็นจำนวนมากถึง 1,000 ล้านบาท แต่ทั้งหมดนี้อยู่ในกรอบบริหารจัดการเงินที่ยังสามารถควบคุมได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือวันนี้ กยศ.กลายเป็นเป้าสุดท้ายที่ประชาชนจะทยอยชำระหนี้ เพราะไม่ถูกฟ้องแน่นอน ดอกเบี้ยก็ถูกที่สุด เทียบกับหนี้สินส่วนอื่น ๆ ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการพอสมควร แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีการปรับแก้กฎหมายแต่อย่างใด ซึ่งก็ต้องรับเอาโจทย์นี้มาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถือเป็นประโยชน์กับผู้กู้ และนักเรียนนักศึกษา รวมถึงได้ออกนโยบายสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้มาชำระหนี้ ซึ่งได้พูดคุยกับทางธนาคาร การออกแพ็คเกจเพื่อให้มีผู้มาชำระเงินเพิ่มมากขึ้นจากการออกแนวทางหากชำระกับ กยศ. เพิ่มขึ้นตรงเวลา จะเป็นผู้กู้ระดับ A ที่สามารถกู้บ้านกู้รถผ่านเร็วขึ้น 

แม้ว่าการบริหารจัดการมองแล้วอาจดูตึงตัว แต่การจัดสรรงบประมาณจัดแต่เพียงพอดีไม่มีการถมเงินเข้าไปที่กองทุนใดกองทุนหนึ่ง เพื่อให้เหลือเงินในปีงบประมาณนั้นเป็นพัน-หมื่นล้าน ต้องเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติให้สูงที่สุด พร้อมย้ำว่า นักเรียนกว่า 600,000 คน จะต้องได้กู้เงินอย่างแน่นอน
 

TAGS: #งบ68 #ปารมี #กยศ #จุลพันธ์ #ประชุมสภา