สวนดุสิตโพล เผย ดัชนีการเมืองไทย เดือน มิ.ย. ร่วง จากปัญหาปากท้อง "เศรษฐา" นักการเมืองโดดเด่นซีกรัฐบาล แต่ยังตามหลัง "พิธา" ที่โดดเด่นในซีกของฝ่ายค้าน
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนมิถุนายน 2567” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 2,367 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 23-29 มิถุนายน 2567 พบว่า กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนภาพรวมดัชนีการเมืองไทยประจำเดือนมิถุนายน 2567 เฉลี่ย 4.33 คะแนน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ได้ 4.72 คะแนน
ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนสูงสุด คือ ผลงานของฝ่ายค้าน เฉลี่ย 4.94 คะแนน (ลดลงจากเดือนพฤษภาคม) ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนต่ำสุด คือ การแก้ปัญหาความยากจน เฉลี่ย 3.94 คะแนน (ลดลงจากเดือนพฤษภาคม) นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน คือ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ร้อยละ 43.86 ด้านนักการเมืองฝ่ายค้านที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร้อยละ 54.56 ผลงานฝ่ายรัฐบาลที่ชื่นชอบประจำเดือน คือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ร้อยละ 39.31 ผลงานฝ่ายค้านที่ชื่นชอบ คือ อภิปรายงบประมาณ 68 ร้อยละ 40.26
ข่าว/ประเด็นที่ประชาชนสนใจติดตามในเดือนมิถุนายน อันดับ 1 คือ ราคาสินค้า ค่าครองชีพ ร้อยละ 45.43 รองลงมาคือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ร้อยละ 32.07 และ ความขัดแย้งวงการตำรวจ ร้อยละ 22.50
นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล ระบุว่า จากผลสำรวจดัชนีการเมืองไทยเดือนมิถุนายน 2567 แสดงถึงความรู้สึกไม่พึงพอใจเท่าใดนักของประชาชนที่มีต่อสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน เมื่อปากท้องมีปัญหาจึงฉุดให้ดัชนีเกี่ยวกับเศรษฐกิจคะแนนดิ่งลง อีกทั้งกระแสแคลงใจเรื่องการเลือกตั้ง สว. ก็ส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชนด้วย รัฐบาลจึงต้องเร่งแก้ปัญหาหลักของประชาชน เช่น ความยากจน ราคาสินค้า การว่างงาน และค่าครองชีพ ฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเรียกการสนับสนุนจากประชาชนให้เพิ่มขึ้นโดยไม่หวังใช้เพียงความนิยมของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เรียกได้ว่าภาพรวมดัชนีการเมืองไทยเดือนนี้ “ปากท้องคับข้องใจ การเมืองก็ไม่สดใส” เท่าที่ควร
ด้าน ผศ.กัญญกานต์ เสถียรสุคนธ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า จากผลสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการเมืองไทยในภาพรวมของเดือนมิถุนายนนั้น ลดลงจากเดือนพฤษภาคมอย่างเห็นได้ชัดในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจและด้านค่าครองชีพของประชาชนที่ลดลงต่ำสุดในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา จากปัจจัยทั้งการปรับขึ้นราคาอย่างต่อเนื่องของสินค้าอุปโภคและบริโภค ทั้งพลังงาน ข้าว เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ ซึ่งกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนโดยตรง ความไม่ชัดเจนของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการได้ หรือข่าวการเร่งแก้กฎหมายให้ชาวต่างชาติสามารถเช่าที่ดินเพิ่มเป็น 99 ปี และมีกรรมสิทธิ์ถือครองคอนโดมิเนียมเพิ่มเป็น 75% จากเดิม 49% อาจส่งผลต่อการปรับขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต
“ความเชื่อมั่นที่ลดลงดังกล่าวสอดคล้องกับผลสำรวจที่ระบุว่าประเด็นราคาสินค้าและค่าครองชีพเป็นประเด็นที่ประชาชนสนใจมากที่สุดในเดือนมิถุนายน ยิ่งตอกย้ำถึงความกังวลของภาคประชาชนต่อการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้หลังจากผ่านมาแล้ว 9 เดือนของการทำงาน” ผศ.กัญญกานต์ กล่าว