"เรืองไกร" ร้อง กกต. ส่งศาล รธน. วินิจฉัย "เศรษฐา" พบ "ทักษิณ" ต้องพ้นจากตำแหน่ง หรือไม่

เรืองไกร ร้อง กกต. ส่งศาล รธน. วินิจฉัย "เศรษฐา" พบ "ทักษิณ" เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามรธน.ม.160 (5) หรือไม่  อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรธน. ม. 170 วรรคหนึ่ง (4) หรือไม่

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เผย ตามข่าวศาลรัฐธรรมนูญที่ 27/2567 ที่กำลังพิจารณาวินิจฉัยกรณีนาย เศรษฐา ทวีสิน จะต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่ นั้น

นายเรืองไกร กล่าวว่า คดีดังกล่าว มีส่วนมาจากการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมด้วย ซึ่งในกรณีดังกล่าว ไม่มีกรณีที่ร้องว่า นายกฯเศรษฐา พบ อดีตนายกฯ ทักษิณ ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ด้วยหรือไม่ 

นายเรืองไกร กล่าวว่า จากข้อเท็จจริงที่นายกฯเศรษฐา ไปพบอดีตนายกฯ ทักษิณ ซึ่งอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 17 ข้อ 19 ด้วย กรณี จึงมีมูลเหตุอันควรขอให้ กกต. ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยต่อเนื่องกับกรณีตามข่าวที่ 27/2567 (เรื่องพิจารณาที่ 17/2567)

นายเรืองไกร กล่าวว่า วันนี้ ตนจึงส่งหนังสือถึง กกต. ทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ดำเนินการ ตามข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ต่อไปนี้
     
ข้อ 1. รัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) มาตรา 170 (4) บัญญัติว่า
             
“มาตรา 160 รัฐมนตรีต้อง

(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง”
 
“มาตรา 170 ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ
             
(4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160”
             
ข้อ 2. มาตรฐานทางจริยธรรมของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 17 ข้อ 19 กำหนดว่า
             
“ข้อ 17 ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง”
             
“ข้อ 19 ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติ หรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน ในการปฏิบัติหน้าที่”             
  
ข้อ 3. การไม่คบหาสมาคมกับผู้ประพฤติผิดกฎหมาย อาจเทียบเคียงได้จากคำพิพากษาศาลฎีกาหลายๆ คดี เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1377/2563 ซึ่งศาลชั้นต้น กำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติจำเลยดังนี้ ... (2) ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ สิ่งมึนเมาและสิ่งเสพติดทุกชนิด ห้ามคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี ห้ามเที่ยวเตร่ยามวิกาล ห้ามเล่นการพนัน และห้ามกระทำผิดอาญาใดอีก”

ข้อ 4. ด้วยปรากฏข้อเท็จจริงตามสื่อต่างๆ โดยทั่วไปว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ไปคบหาสมาคมกับอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร หลายครั้งหลายคราว ทั้งที่รู้หรือควรรู้ว่า อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี (ตามสำเนาที่แนบ) ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพักโทษและยังไม่ได้พ้นโทษ(ตามแนวฎีกาที่ 266/2518) ดังนั้น การกระทำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ไปคบหาสมาคมกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ตามที่ปรากฏหลักฐานในสื่อต่าง ๆ (ตามตัวอย่างที่แนบ) จึงอาจเข้าข่ายเป็นการไปคบหาสมาคมกับผู้ประพฤติผิดกฎหมาย และอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง อันจะเป็นเหตุให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว  

นายเรืองไกร สรุปว่า ตนจึงส่งหนังสือถึง กกต. เพื่อขอให้ กกต. อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (5) หรือไม่  อันจะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) หรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยต่อเนื่องจากเรื่องพิจารณาที่ 17/2567   
 

TAGS: #เรืองไกร #เศรษฐา #ทักษิณ #ศาลรัฐธรรมนูญ