"อดุลย์" ร้องทุกพรรคมีนโยบายปรองดอง จวก "ประยุทธ์" ไม่เข้าใจความขัดแย้งอยู่ในอำนาจมา 9 ปี ไม่คิดปฏิรูป ย้ำ "ทักษิณ" ต้องเคารพกฎหมาย อย่ามีราระซ่อนเร้นจะซ้ำรอยเดิม
นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’๓๕ อดีตประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวถึงโจทย์สำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ ว่า สถานการณ์ของบ้านเมืองยังติดอยู่ในหล่มความขัดแย้งทางความคิด 2 ขั้ว ซึ่งเป็นอุปสรรคในการพัฒนาบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตยและทำให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองได้ พรรคการเมืองแต่ละพรรคก็ทำทุกอย่างในการช่วงชิงอำนาจเพื่อประโยชน์ของกลุ่มพวกพ้องตัวเอง
ไม่มีพรรคการเมืองคนใดที่เสนอแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างความสามัคคีปรองดองอย่างแท้จริง โดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำการรัฐประหารครั้งล่าสุด ที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าจะเป็นผู้นำที่มาแก้ปัญหาความขัดแย้งสร้างความรักสามัคคีของคนในชาติ และปฏิรูปประเทศให้เป็นรูปธรรมในทุกด้าน แต่สุดท้ายก็ ”เสียของ”และเสียเวลามา 9 ปี โดยอ้างทุกคนต้องอยู่ใต้กฎหมาย แต่กลับออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตัวเองที่รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ
แล้วส่งประชาชนทุกกลุ่มขึ้น”สายพานมรณะ”ติดคุกตารางกันทั่วหน้า จึงสรุปได้ชัดเจนว่าไม่ประสงค์ที่จะให้มีความปรองดองเกิดขึ้นในชาติ และยังมองว่าสังคมไทยไม่มีความขัดแย้ง ยิ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะตนเองก็เป็นเงื่อนไขความขัดแย้ง ลงพื้นที่หาเสียงก็ยังมีประชาชนต่อต้านอยู่เสมอ โดยเฉพาะ”ความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง” ที่สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำแทบทุกด้าน ซึ่งตลอดเวลาที่อยู่ในอำนาจก็ไม่ได้ใส่ใจปฏิรูปโครงสร้างประเทศ จึงเปรียบเสมือน”ระเบิดเวลา”ของสังคมไทยที่กำลังปะทุอยู่ตลอดเวลา
นายอดุลย์ กล่าวว่า ที่เห็นเด่นชัดคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่มองว่าสังคมไทยมี ”กลุ่มอนุรักษ์นิยม” กับ” กลุ่มเสรีนิยมประชาธิปไตย” ผลัดกันช่วงชิงอำนาจ กลายเป็นความล้มเหลวทั้ง2 ฝ่าย จึงตั้งใจจะนำพาบ้านเมืองก้าวข้ามความขัดแย้ง ซึ่งตรงกับแนวคิดและจุดยืนของญาติวีรชนพฤษภา’๓๕ ที่ได้พยายามสานต่อปณิธานที่ได้รับการสอนสั่งจากพ่อหลวง ร.9 มาตลอด กว่า 30 ปี จนถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่อยากให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันเพื่อความรักสามัคคีจะได้ร่วมกันพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองและเกิดสันติสุข
แต่พล.อ.ประวิตร ก็ยังไม่ได้แสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมจนทำให้สังคมเชื่อใจได้ว่าตนเองจะก้าวข้ามความขัดแย้งได้จริง ส่วนพรรคก้าวไกล ที่จะเอาคนที่มีส่วนฆ่าคนเสื้อแดงในเหตุการณ์ปี53มาลงโทษนั้นยิ่งจะตอกลิ่มความขัดแย้งให้ขยายร้าวลึกไปกว่าเดิมอีก เพราะความขัดแย้งทั้งหลายทั้งปวงทุกคนต่างก็มีส่วนไม่มากก็น้อย และทุกคนก็เป็นเหยื่อของโครงสร้างที่อยุติธรรม และอย่าลืมว่า ญาติวีรชนพฤษภาฯ ได้ให้อภัย อโหสิกรรม แก่พล.อ.สุจินดา คราประยูร จากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ จึงทำให้สังคมอยู่อย่างสงบสุขมาได้
“ด้วยเหตุดังกล่าว ญาติวีรชนพฤษภาฯ เห็นว่าหากปล่อยให้บ้านเมืองยังแตกแยกทางความคิด 2 ขั้วและมีการเลือกตั้งภายใต้บรรยากาศแห่งความแตกแยกร้าวฉานเช่นนี้ แม้ผลของการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไรก็จะทำให้บ้านเมืองกลับมาอยู่ในวงจรเดิมอีก เพราะความรักความสามัคคีคนในชาติ คือรากฐานสำคัญของความมั่นคงของชาติ ไม่ได้หมายถึงความมั่นคงทางทหารเท่านั้น ซึ่งทุกชาติในโลกนี้หากไม่มีความสามัคคีก็ย่อมไม่มีความเจริญและแตกแยกล้มเหลวในที่สุด
จึงต้องเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคมีนโยบายเป็นอันดับแรก คือการสร้างความสามัคคีสมานฉันท์ปรองดองของในชาติตามประเพณีวัฒนธรรมโบราณที่เคยมีมาเพื่อคลี่คลายปัญหาการแตกแยกทางความคิด2ขั้วของสังคมไทย หากบ้านเมืองเกิดความปรองดองแล้วจึงจะสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างของประเทศชาติได้ ดังนั้นภาคประชาชนทุกหมู่เหล่าและองค์กรในประเทศต้องร่วมกันทำให้เป็น วาระสำคัญของชาติ และต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน ในโอกาสที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังมาถึง ซึ่งประชาชนเจ้าของประเทศจะมีสิทธิ์มีเสียงในการเลือกพรรคการเมืองที่พิจารณาแล้วว่าเหมาะสมจะเข้ามาบริหารบ้านเมืองด้วยนโยบายการสร้างความปรองดองสามัคคีสมัครสมานในชาติ”นายอดุลย์ กล่าว
ส่วนกรณีอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร บอกว่าพร้อมกลับมารับโทษจำคุกนั้น นายอดุลย์ กล่าวว่า ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี หากความคิดตกผลึกมีความตั้งใจแต่กลับมาเลี้ยงลูกหลาน เป็นการแสดงความเคารพต่อกฎหมายไทยภายใต้พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายในการปกครองประเทศ แต่อย่าเข้าใจผิดว่าการนิรโทษกรรมทำเพื่อตนเองหรือบุคคลใด แต่เป็นการทำเพื่อทุกคนในประเทศที่มีแนวคิดและศรัทธาทางการเมืองต่างกัน ต่างก็มีคดีเพราะผู้นำประเทศไม่เข้าใจโครงสร้างและเกิดความล้มเหลวของทั้ง 2 ฝ่าย
หลักศาสนาพุทธ สอนว่าเกิดเป็นมนุษย์ต้องทำผิดพลาดในชีวิตได้ และเมื่อรู้ตัวก็แก้ไขใหม่ดังเช่น องคุลีมาล เริ่มต้นใหม่ เช่น คนเราต้องมีโอกาสที่ 2 second chance สำหรับหลักการนิรโทษกรรมคือประชาชนได้มีโอกาสเปลี่ยนแปลงชีวิตที่ดีขึ้น โดยออกกฎหมายนิรโทษกรรมตามที่คณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง ได้ศึกษาและมีข้อเสนอแนะไว้หมดแล้ว และได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากรัฐสภาโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน โดยไม่รวมคดีทุจริตประพฤติมิชอบ คดีอาญาร้ายแรง และคดีมาตรา 112 ซึ่งเป็นพระราชอำนาจ ไม่มีผู้ใดสามารถก้าวล่วงได้ จึงเห็นว่ากรณีของนายทักษิณ เป็นเรื่องนอกเหนือที่ผู้ใดจะสามารถยุ่งเกี่ยวได้ แต่ก็เป็นก้าวแรกของสังคมไทย ที่มีความตั้งใจที่จะเริ่มต้นใหม่ แต่ขอเตือนว่าอย่ามีวาระซ่อนเร้น ด้วยการใช้เสียงประชาชนไปกดดันกระบวนการยุติธรรมเหมือนที่ผ่านมา จะทำให้เกิดความขัดแย้งละวิกฤตซ้ำรอยอีก