ถก"พรรคร่วม"หารือแก้ รธน. 1 ต.ค.จ่อเสนอผลศึกษากมธ.นิรโทษฯ 26 ก.ย.นี้ 

ถก
ชูศักดิ์ เผย ภูมิธรรม เตรียมเรียกพรรคร่วมรัฐบาล หารือแก้ รธน. 1 ต.ค.  ย้ำ ไม่ได้ยกเลิกเรื่องจริยธรรม-เอื้อนักการเมือง แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจนขึ้น  จ่อเสนอผลศึกษา กมธ.นิรโทษกรรมต่อสภา 26 ก.ย.นี้

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงพรรคเพื่อไทยได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา จะมีการคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลหลังจากนี้อย่างไร ว่า ช่วงบ่ายของวันที่ 1 ต.ค. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะมีการนัดพรรคร่วมรัฐบาลหารือในเรื่องนี้ 

โดยจะมีการหารือใน 2 ประเด็น คือ 1.เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนนำเสนอในขณะนี้ ว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีความคิดเห็นอย่าง 2.จะหารือเรื่องที่ทำมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน หรือความคืบหน้าในเรื่องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ว่ามีปัญหาอย่างไรบ้าง เช่น มีการทำเรื่องประชามติไปถึงไหนแล้ว จะเริ่มทำได้เมื่อไหร่ และจะแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ได้เมื่อไหร่ ซึ่งคงได้ข้อยุติในช่วงเวลาประมาณนั้น

ส่วนข้อครหาว่าการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เป็นการเอื้อประโยชน์นักการเมือง จะผ่านวาระหนึ่งได้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เราเข้าใจดีว่าความรู้สึกของคนในสังคมเรื่องความเป็นมาของรัฐธรรมนูญ ปี 60 เป็นอย่างไร แต่เรื่องที่เราแก้ไขคือการแก้ให้เป็นธรรม ชัดเจนขึ้น มีระเบียบปฏิบัติ หรือแนวทางที่ชัดเจนขึ้น ย้ำว่าเราไม่ได้ยกเลิกเรื่องที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปราบโกง เพียงแต่ต้องมีการกำหนดที่ชัดเจนว่า ต้องนับพฤติกรรมตั้งแต่เมื่อไหร่ เพื่อให้ชัดเจนขึ้น จะได้ไม่มีปัญหาในแง่การทำหน้าที่
 
“เรื่องนี้เป็นปัญหาสำหรับการบริหารราชการแผ่นดิน วุ่นวายไปหมดกว่าจะตั้งรัฐบาลได้ เราไม่ได้อยากยกเลิกอะไร เพียงทำกฏหมายให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติมาตรฐาน ว่าจะชี้จะวัดอย่างไร“

เมื่อถามว่า การแก้ครั้งนี้ จะถือเป็นการแก้เพื่อปลดล็อกปัญหาอุปสรรคทางการเมืองหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เราเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่นานก็คงต้องมีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราจึงเลือกเฉพาะประเด็นที่คิดว่ามีความสำคัญที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการแผ่นดิน ไม่ได้เก็บมา 10 หรือ 20 ประเด็น ถ้าอย่างนั้นค่อยแก้ทั้งฉบับ 

ส่วนจะซ้ำซ้อนกันไม่ หรือเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า 3 ปีนี้ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เรามีระยะเวลาช่วงนี้ ซึ่งคิดว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาต่อไปหรือไม่ เพราะหลายคนก็วิเคราะห์ว่า รับรองว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาต่อไป เช่น หากมีเรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรี ก็จะต้องไปร้องกันอีก นี่ยังไม่ทันไร เห็นคนนั้นคนนี้ไปร้องแล้ว ก็ยกเรื่องจริยธรรม

เมื่อถามว่าได้มีการคุยกับ สว. เพื่อหาเสียง สนับสนุนแล้วหรือยัง นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกัน เพราะ สว. ก็เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของรัฐสภา อย่างไร สว. ก็ต้องเห็นชอบด้วย ไม่งั้นก็ไปไม่ได้เหมือนกัน

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนการเตรียมเสนอรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ต่อที่ประชุมสภาฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 26 ก.ย. นี้

นายชูศักดิ์ ชี้แจงว่า กระบวนการในการเตรียมยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมต่อจากนี้ ขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุมสภาฯ ส่วนในวันพฤหัสนี้เป็นเพียงการเสนอรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งตนเองเป็นประธาน และต้องย้ำว่ายังไม่ใช่ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ทั้งนี้ มติของที่ประชุมอาจจะให้รัฐบาลหรือพรรคการเมืองต่างๆ รับรายงานไปพิจารณาว่าสมควรจะยกร่าง พ.ร.บ. อย่างไร กรรมาธิการวิสามัญฯ ไม่มีอำนาจไปบังคับ

สำหรับประเด็นที่ยังมีความละเอียดอ่อน คือการนิรโทษกรรมคดีในความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นายชูศักดิ์ ระบุว่า ในรายงานไม่ได้บอกว่าจะให้รวมคดีมาตรา 112 ไว้หรือไม่ เพียงแต่นำทุกข้อเสนอทั้งหมดให้สภาและรัฐสภาพิจารณา ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสมาชิกทั้งหลายเหล่านั้นว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะอย่างไรเสียในขั้นตอนการยกร่างกฎหมายว่าจะรวมหรือไม่ เราก็ไม่มีอำนาจตรงนั้น

ส่วนจะมีสิ่งการันตีหรือไม่ว่ารัฐบาลจะหยิบยกกฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นมาจัดทำ นายชูศักดิ์ ตอบว่า ไม่มีอะไรไปบังคับรัฐบาลได้ เพราะเป็นคนละส่วนกัน รัฐบาลจะเสนอกฎหมายด้วยแนวทางไหนอย่างไร หรืออาจจะยังไม่เสนอ แต่ให้พรรคการเมืองดำเนินการ ก็สามารถทำได้

อย่างไรก็ตาม นายชูศักดิ์ ระบุว่า แม้รัฐบาลจะยังไม่ตอบสนองต่อการเสนอรายงาน  รายงานฉบับนี้ก็ยังไม่ถือว่าสูญเปล่า เพราะรัฐบาลก็อาจมีมติส่งให้พรรคการเมืองพิจารณาไปเสนอเป็นร่างกฎหมายเข้ามาก็ได้ ขณะที่ในส่วนของพรรคเพื่อไทยเอง ก็ยังไม่ได้มีการหารือว่าจะเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคหรือไม่ เพียงแต่ตั้งเรื่องศึกษาให้มีองค์ความรู้ว่าควรดำเนินการด้านกฎหมายอย่างไรในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

TAGS: #แก้รัฐธรรมนูญ #แก้รธน #ชูศักดิ์