มติ "วุฒิสภา" ผ่านประชามติ แก้รธน.ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น

มติ
เพื่อไทยเตรียมถก พรรคร่วม วางแนวทางแก้รธน.ทั้งฉบับให้ชัด หลังวุฒิสภาหักสภาผู้แทน แก้ไขกม.ประชามติ กลับไปใช้ การทำประชามติ 2 ชั้น ทำกระบวนการแก้ไขรธน.ทั้งฉบับนำไปสู่การตั้งสสร. ยาก-ล่าช้าออกไป 

ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเสียงข้างมาก 164 ต่อ 21 งดออกเสียง 9 เห็นชอบให้มีการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ตามการปรับแก้ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ วุฒิสภา พิจารณา ภายหลังสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเสร็จสิ้น เพื่อกลับไปใช้หลักการเสียงข้างมาก 2 ชั้น หรือ Double Majority สำหรับการออกเสียงประชามติ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ  ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น

ทั้งนี้  กมธ.เสียงข้างน้อย ได้สงวนความเห็น และอภิปรายขอให้กลับไปใช้เนื้อหาเดิมที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ   โดย น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. ฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า การกลับมติของ กมธ. ในวันที่ 25 ก.ย. ทั้งที่ก่อนหน้านั้นกมธ.ได้ลงมติในทิศทางเดียวกัน เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมีใบสั่ง เพราะเมื่อวันที่ 24 ก.ย. นั้น มีหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลแสดงความไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ที่เสนอให้ใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้นในเรื่องรัฐธรรมนูญ สำหรับการออกเสียงประชามติ  อภิปรายชี้แจงว่า หลักการเสียงข้างมาก 2 ชั้น สำคัญกับการออกเสียงประชามติเรื่องสำคัญ และในการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ 2 ครั้งที่ผ่านมา ก็ถือว่า ผ่านหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ทั้ง 2 ครั้งทั้งหมด ซึ่งสะท้อนว่า หลักการเสียงข้างมาก 2 ชั้น ก็ไม่ได้เป็นปัญหา เว้นแต่หากต้องการจะแก้ประเด็นคุณสมบัติ และจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งประชาชนไม่ได้ประโยชน์ใด ๆ และยืนยันว่า การเสนอแก้ไขครั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทย ไม่ได้ต้องการเตะถ่วงใด ๆ

นายพิสิษฐ์ ยังได้ตั้งคำถาม พร้อมยกตัวอย่างในกรณีที่มีผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ 50 ล้านคน มีผู้ออกมาใช้สิทธิ 4 คน, เห็นชอบ 2 คน,ไม่เห็นชอบ 1 คน และงดออกเสียง 1 คน นั่นหมายความว่า 50 ล้านคน จะต้องเห็นชอบกับคน 2 คนใช่หรือไม่

ขณะที่ น.ส.นันทนา ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ได้อภิปรายตั้งข้อสังเกตว่า  การกลับมติครั้งนี้ เป็นไปตามใบสั่ง และหากวุฒิสภา ไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร ก็จะทำให้กระบวนการยืดเยื้อ ทำให้การจัดการออกเสียงประชามติไม่ทันการเลือก อบจ.ได้ และ สว.จะตกเป็นจำเลยของสังคม

เช่นเดียวกับ นายกฤช เอื้อวงศ์ กรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย ในสัดส่วนคณะรัฐมนตรี ได้ยกเหตุผล 5 ประการ คัดค้านการกลับไปใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นในการจัดการออกเสียงประชามติ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า การใช้หลักการเสียงข้างมาก 2 ชั้น ส่วนใหญ่จะใช้ในประเทศที่เป็นรัฐรวม หรือมีหลาย ๆ รัฐ แบ่งเป็นมลรัฐ เพื่อรักษาสิทธิของรัฐที่มีประชากรน้อย แต่ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว และประเทศไทย เคยมีการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ ก็ใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากธรรมดาชั้นเดียว รวมถึงในการจัดการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งถือเป็นกฎหมายหลัก และเป็นยานแม่ ก็ใช้หลักการเสียงข้างมากธรรมดา ไม่ได้ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ดังนั้น เมื่อกฎหมายแม่ ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว จึงมีเหตุผลใดที่ในการจัดการออกเสียงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องกลับไปใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น

นายกฤช ยังได้ยกตัวอย่างหากจะใช้เกณฑ์หลักการเสียงข้างมาก 2 ชั้นในการออกเสียงประชามติว่า ขณะนี้ ประเทศไทย มีผู้มีสิทธิออกเสียง 52 ล้าน เกินกึ่งหนึ่งคือราว 26 ล้าน และใน 26 ล้านนี้ หากใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น จะต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 13 ล้าน ซึ่งในทางปฏิบัติของ 26 ล้านนั้น หากมีประชาชน ออกมาใช้สิทธิเห็นชอบ 12 ล้าน ไม่เห็นชอบ 9 ล้าน งดออกเสียง 2 ล้าน ก็จะกลายเป็นว่า ผู้ใช้สิทธิ 9 ล้านเสียง ชนะ 12 ล้านเสียง รวมถึงในการจัดการออกเสียงประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดทำใหม่ ต้องจัดการออกเสียงประชามติถึง 3 ครั้ง หากครั้งใดครึ่งหนึ่งไม่ผ่านด้วยหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ก็จะถือว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ไม่ผ่านมาเห็นชอบ ซึ่งจะทำให้เสียงบประมาณสูญเปล่า

ขณะที่นายนิกร จำนง กมธ.เสียงข้างน้อยในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) อภิปรายว่าไม่เห็นด้วยกับกมธ.เสียงข้างมาก เนื่องจากการศึกษาของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน และตนทำงานในคณะดังกล่าวพบว่าเกณฑ์ออกเสียงประชามติด้วยเสียงข้างมาก 2 ชั้น เป็นอุปสรรคที่ทำให้ประชามติผ่านยาก จึงเสนอให้แก้ไขให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวซึ่งเป็นฉบับที่เสนอให้วุฒิสภาพิจารณา

นายนิกร อภิปรายด้วยว่าหาก สว. เห็นด้วยกับกมธ.เสียงข้างมาก ต้องกลับไปสภาฯ ทั้งนี้เชื่อว่าสภาฯ จะยืนยันตามร่างของตนเองเพราะได้ลงมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ดังนั้นสิ่งที่ตามมา คือ ตั้งกมธ.ร่วมกันฝ่ายละ 10 คน หากตกลงไม่ได้ไม่มีข้อสรุป และส่งไปยังแต่ละสภา พิจารณา หากสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบ ต้องถูกแขวนไว้ 180 วัน จากนั้นสภาฯ ถึงจะลงมติ ซึ่งจะใช้ร่างของสภาฯ ไม่ผ่านวุฒิสภา

“สิ่งที่จะกระทบคือ รัฐธรรมนูญของประชาชนจะเกิดไม่ทันในรัฐสภาชุดนี้แน่ เพราะมีเวลาไม่ถึง 3 ปี แล้วใครจะรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น ที่จะไม่มีรัฐธรรมนูญของประชาชน ตามที่คณะกรรมการฯ เล็งกันไว้ คือ ทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่น วันที่ 2 ก.พ.68 หากไม่ทันจะเพิ่มค่าใช้จ่าย ผมตั้งความหวังไว้ ผมอยากให้สว.เห็นดวยกับร่างของสภา ไม่เช่นนั้นจะสุ่มเสี่ยงถูกโทษว่ารั้งรัฐธรรมนูของประชาชนไว้” นายนิกร กล่าว

นายนิกร อภิปรายด้วยว่า ตนขอเสนอวันและเวลา รวมถึงโอกาส คือ แม้สว.จะโหวตตามกมธ.ที่แก้ไข ส่งไปสภาฯ 9 ต.ค. พิจารณาตั้งกมธ. ร่วมกัน จากนั้นมีเวลา 16 - 23 ต.ค. กมธ.พิจารณาหาทางออก ต่อมา วันที่24 ต.ค. กมธ.ร่วมกันส่งให้สองสภา 28 ต.ค. วุฒิสภาเห็นชอบตามร่างของกมธ.ร่วมกัน จากนั้น 30 ต.ค. ให้ความเห็นชอบ และ 31 ต.ค. สามารถทำตามกระบวนการของการประกาศใช้กฎหมาย และสามารถทำประชามติได้ทันวันที่ 2 ก.พ. 68 แต่หากทำไม่ทันเวลาจะไหลไป ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของพรรคใด แต่เป็นเรื่องว่าจะมีรัฐธรมนูญของประชาชนในยุคสมัยนี้ได้หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของการอภิปรายของ สว. ต่อที่ประชุมในมาตราดังกล่าว พบว่ามีทั้งผู้ที่สนับสนุน และคัดค้านกับการแก้ไขของกมธ.เสียงข้างมาก

ก่อนที่ที่ประชุมวุฒิสภา จะมีมติเสียงข้างมากในขั้นตอนสุดท้าย เห็นชอบกับการแก้ไขของกรรมาธิการฯ ในวาระที่ 3 ด้วยมติเห็นชอบ 167 เสียง, ไม่เห็นด้วย 19 เสียง, งดออกเสียง 7 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 2 คน

สำหรับขั้นตอนภายหลัง วุฒิสภา ไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอมา ตามขั้นตอนในรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ต้องยับยั้งไว้ และส่งร่างกฎหมายที่วุฒิสภาปรับแก้ กลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ถ้าสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วย ก็สามารถส่งร่างกฎหมายให้นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ถ้าไม่เห็นด้วย จะต้องตั้งกรรมาธิการร่วม 2 สภา เพื่อพิจารณาร่วมกัน และส่งให้แต่ละสภาพิจารณาอีกครั้ง ถ้าทั้ง 2 สภาเห็นชอบด้วย ก็สามารถส่งนายกรัฐมนตรี ทูลเกล้าฯ ได้

แต่ถ้าสภาใดสภาหนึ่ง ไม่เห็นชอบอีก ให้ยับยั้งร่างกฎหมายนั้นไว้ 180 วัน แล้วค่อยให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณายืนยันร่างกฎหมายของตนเองอีกครั้ง หากที่ประชุมฯ มีมติยืนยันร่างกฎหมายของตนเองด้วยมติเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ให้ถือว่า รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายนั้น และส่งนายกรัฐมนตรี ทูลเกล้าฯ ได้ทันที ซึ่งแม้สภาผู้แทนราษฎร จะสามารถยืนยันร่างกฎหมายของตนเองได้ แต่ขั้นตอนต่าง ๆ ก็จะให้เกิดความล่าช้า


นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย เผย  เมื่อวุฒิสภามีมติเช่นนั้น ก็อาจต้องมีการตั้ง กมธ.ร่วมกัน แต่ห่วงว่า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ก็จะช้ากว่าไทม์ไลน์ที่เป็นอยู่ที่ให้ทำพร้อมกับการเลือกสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในเดือนก.พ.ปี 68 ซึ่งไม่สามารถทำได้ อาจต้องมีการแยกการพิจารณาทำคนละครั้ง

“ทางออกที่ดีที่สุดคือการหารือร่วมกับหัวหน้าพรรคการเมืองที่ต้องคุยกันให้ชัด ว่าการเดินต่อไปควรจะเดินแบบไหน เช่น ขณะนี้มีข้อเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เลยหรือไม่ โดยเสนอญัตติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ และถ้าผ่านรัฐสภาก็ไปทำประชามติเลย ซึ่งแนวทางนี้จะทำประชามติเพียงสองครั้ง ไม่จำเป็นต้องสามครั้งเหมือนเดิม ซึ่งนักวิชาการ และใครต่อใครได้ให้แนวทางมา ผมจึงอยากให้คุยกับหัวหน้าพรรคให้ชัด เพราะเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเป็นนโยบายของรัฐบาลว่าควรจะเดินไปอย่างไร“ นายชูศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า การกลับไปทำประชามติสองชั้นทำให้การผลักดันรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จหรือยากขึ้นใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ และรัฐบาลจำเป็นต้องเดินหน้าต่อเรื่องทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงต้องหารือว่าเราควรจะเดินอย่างไรต่อไป มีทางเลือกอะไรบ้าง

"เมื่อวุฒิสภากลับมาเป็นเกณฑ์ลงมติสองชั้น ในฐานะรัฐบาลก็มีนโยบายจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราก็มาเริ่มต้นพูดคุยกันดีหรือไม่ ว่าท้ายสุดควรจะเดินไปอย่างไรจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ราบรื่น และนโยบายรัฐบาลก็ยังมีอยู่โดยได้แถลงต่อรัฐสภาไปแล้ว แต่ขั้นตอนคือควรพูดคุยแก้ไขปัญหากันอย่างไรเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้" 

เมื่อถามว่า การพูดคุยกับหัวหน้าพรรคการเมือง ต้องการให้พรรคการเมืองหนึ่งเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อสว.ด้วยใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า อย่าไปพูดแบบนั้นมันไม่ดี เอาเป็นว่าตนขอเสนอให้มานั่งจับเข่าคุยกันในฐานะที่เป็นพรรครัฐบาลด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วยหลายพรรค ว่าถ้าสว.เดินไปแบบนี้แล้วรัฐบาลจะมีแนวทางอย่างไร


 

TAGS: #ประชามติ #วุฒิสภา #แก้รัฐธรรมนูญ #แก้รธน