“ชัยธวัช” จี้ พรรคการเมืองอย่ารอช้า รีบตกผลึก “นิรโทษกรรม” เหตุประชาชนรออยู่ ชี้ในอดีตก็มีนิรโทษกรรม ม.112 มาแล้ว บอกของ กมธ. เป็นแค่รายงานศึกษา ขอรัฐบาลอย่ากังวลจนเกินไป
นายชัยธวัช ตุลาธน อดีตเลขาฯพรรคก้าวไกล เผย หลังเข้าร่วมงานรำลึกครบรอบ 48 ปี 6 ตุลาฯ 2519 ว่า เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญเหตุการณ์หนึ่งของไทย ที่จะต้องระลึกถึงในหลายมิติ โดยเฉพาะเรื่องความยุติธรรมและความรับผิดชอบของรัฐต่อการดำเนินการต่อประชาชน ซึ่งจนถึงวันนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้น แต่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบันก็คือ การนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ซึ่งในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มีนักศึกษาและประชาชนจำนวนมากที่ถูกดำเนินคดี รวมถึงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อมาในปี 2521 รัฐบาลขณะนั้นเห็นว่าการดำเนินคดีต่อนักศึกษาในคดีร้ายแรงรวมถึงมาตรา 112 ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคม และยังอาจขยายความขัดแย้งในสังคมต่อไปด้วย จึงตัดสินใจออกกฏหมายในนิรโทษกรรม แสดงให้เห็นว่าคดีการเมืองร้ายแรงเราเคยออกกฏหมายนิรโทษกรรมมาแล้ว ซึ่งนักการเมืองหลายคนที่เห็นว่าคดีทางการเมืองที่ร้ายแรงแบบนี้ไม่เหมาะสมที่จะนิรโทษกรรม ตนก็อยากจะย้ำว่าในอดีตเคยนิรโทษกรรมมาแล้วในอดีต ไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่เกี่ยวอะไรกับความจงรักหรือไม่จงรักภักดี
นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า ตนในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการตรากฎหมายนิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ยังรอความชัดเจนว่าจะพิจารณารายงานของกรรมาธิการเร็วที่สุดได้เมื่อใด หลังจากที่แกนนำรัฐบาลตัดสินใจเลื่อนการเสนอรายงานออกไปจากวาระพิจารณา อาจเพราะด้วยความกังวลว่าไม่ต้องการให้มีประเด็นที่อ่อนไหวทางการเมืองไปกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล ซึ่งตนไม่ควรกังวลจนเกินเลยเกินไป เรื่องนี้เป็นวาระปกติการทำงานของสภาฯ แน่นอนมีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ กรณีว่าจะนิรโทษกรรมคดีตามมาตรามาตรา 112 หรือไม่ ซึ่งในรายงานของกรรธิการก็เสนอไว้หลายทางเลือก ถ้ากรรมาธิการได้เสนอรายงานต่อสภาเร็วที่สุด ทำให้พรรคการเมืองต่างๆรับฟังความเห็นจากสภาและสังคมอย่างรอบด้าน จะได้ตกผลึกอีกทั้งรายงานของกรรมาธิการเป็นเพียงข้อศึกษา เป็นทางเลือก ไม่ใช่ร่างกฎหมาย
ด้าน นายศรายุทธ ใจหลัก เลขาธิการพรรคประชาชน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองใดเทียบเชิญเข้ามาเพื่อหารือในเรื่องการนิรโทษกรรม ส่วนการเตรียมการของพรรคประชาชน ก็เป็นไปตามที่นายชัยธวัชได้ให้ความเห็นไว้ คือรอนำรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการตรากฏหมายนิรโทษกรรมได้รายงานที่ประชุมสภาฯ จากนั้นจะนำความเห็นของสภาฯ แจ้งให้ สส. ทราบ และจะยื่นร่างกฎหมายการนิรโทษกรรมของพรรคประชาชนอีกฉบับ