เปิดรายชื่อ กมธ.ร่วมฯพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติ หลังส.ส.เห็นต่างสว.

เปิดรายชื่อ กมธ.ร่วมฯพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติ หลังส.ส.เห็นต่างสว.
มติสภาฯ 348 เสียง ค้านแก้เกณฑ์ประชามติของ สว.ยืนยันหลักการประชามติชั้นเดียวตามร่างที่สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณา ตั้ง กรรมาธิการร่วม 28 คน พิจารณา

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 67 พิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. … ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม และได้ส่งคืนให้สภาฯ พิจารณา ตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 137 โดยส.ส.ต้องลงมติว่าจะเห็นด้วยกับสว.หรือไม่ เนื่องจากที่ประชุมวุฒิสภามีการแก้ไขหลักเกณฑ์ประชามติรัฐธรรมนูญ

โดยส.ส.ที่อภิปรายแสดงความเห็นทั้งพรรคเพื่อไทย(พท.)และพรรคประชาชน(ปชน.) เห็นแย้งกับบทบัญญัติที่วุฒิสภาแก้ไข ในประเด็นเกณฑ์การผ่านประชามติ ซึ่งกำหนดให้การทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น คือ ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินหนึ่งของผู้มีสิทธิ และผลการลงมติเห็นชอบต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ เพราะมองว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเกิดความยุ่งยากต่อการใช้บังคับและงบประมาณ และยังเห็นว่าแม้สส.ไม่เห็นชอบกับที่วุฒิสภาแก้ไข ก็สามารถเร่งรัดเวลาการพิจารณาในชั้นของกมธ.ร่วมกัน เพื่อให้มีกฎหมายประชามติฉบับใหม่ทันใช้บังคับตามไทม์ไลน์ของการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญรอบแรก ในเดือน ก.พ.68

ขณะที่ สส.ของพรรคภูมิใจไทย(ภท.)ที่ลุกอภิปรายและเห็นต่างออกไป โดย น.ส.มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช สส.ลพบุรี พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า เป็นธรรมดาที่จะเห็นแตกต่างกัน ซึ่งการใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นนั้นคล้ายกับร่างของพรรคภูมิใจไทยที่เสนอต่อสภาฯ สำหรับการแก้ไขเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นตนมองว่าจำเป็นต้องสะท้อนให้เห็นความสำคัญกับประชาธิปไตยมากขึ้น และเป็นหลักประกันว่าการทำประชามติในกฎหมายสูงสุดและกติกาสำคัญต้องได้รับความเชื่อถือ ทั้งนี้การเลือกตั้งท้องถิ่น ยังมีข้อกำหนดเกณฑ์ให้มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 10%

“เกณฑ์ผ่านประชามติจะใช้เกณฑ์เดียว สามารถทำได้ หรือไม่ต้องทำเกณฑ์เดียวก็ได้ ไม่ติดใจ แต่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดและเป็นกติกาปกครองประเทศ ดังนั้นต้องมีความละเอียดอ่อน เชื่อถือ มั่นใจได้ ที่ผ่านมาการทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญพบว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกิน 50% ดังนั้นหากไม่กำหนดอะไรไว้จะได้รับความน่าเชื่อถือได้อย่างไร หากสภาฯ เห็นด้วยกับสว.จะไม่มีปัญหา แต่หากไม่เห็นด้วย จะทำให้ล่าช้า กินเวลาไปหลายเดือน เพราะใช้เวลาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นค่อนข้างมาก” น.ส.มัลลิกา กล่าว

ด้านน.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย(ภท.) อภิปรายว่า พรรคภูมิใจไทยเห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่แก้หมวดหนึ่ง หมวดสอง ทั้งนี้การแก้ไขของสว.นั้นพอรับฟังได้ เพราะการกำหนดเกณฑ์ดังกล่าวเป็นหนทางที่สง่างาม และได้ผลการทำประชามติที่มากพอ หากไม่เซ็ตอะไรไว้ จะใช้สิทธิอะไรอ้างว่าสมควรแล้วจะแก้รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีผู้คนออกมาใช้สิทธิ์ถึง 29 ล้านคน มีผู้เห็นด้วย 16 ล้านคน ไม่เห็นด้วย 10 ล้านคน


“ดังนั้นการแก้รัฐธรรมนูญต้องมีความสง่างาม ซึ่งการไม่กำหนดเสียงขั้นต่ำ หรือเกินกึ่งหนึ่ง พรรคภูมิใจไทยเห็นว่าสง่างาม และเป็นข้ออ้างดีที่สุด คือ กำหนดเสียงขั้นต่ำ คือ กึ่งหนึ่ง หากมีการตั้งกมธ.ร่วมสองสภาฯ ในชั้นกมธ. จะบอกว่ากังวลเกณฑ์เยอะเกินไป สามารถใช้เสียง 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 ก็ได้ ไม่ใช่ปล่อยไปเลย หากไม่เซ็ตเสียงไว้ ในเรื่องต่างๆอาจมีคนออกมาใช้สิทธิแค่ล้านคน จะอ้างได้อย่างไรว่าเป็นการทำประชามติของประเทศ ดังนั้นสิ่งที่สว.แก้ไขมาพอรับฟังได้”น.ส.แนน บุณย์ธิดา กล่าว

ส่วนนพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตนสนับสนุนสภาฯ ให้ยืนยันหลักการที่รับไปแล้ว ส่วน สว. จะรับหลักการหรือไม่ไปเจรจากันเอง คิดว่าทำได้ หากไม่ทำจะเสียหาย ต่อให้มีใบสั่งมา ไม่เชื่อว่าจะรอดตาประชาชนได้ พรรคที่กลับไปกลับมาจะเสียหาย ขาดความศรัทธาจากประชาชน ผลจะออกมาในกาเลือกตั้งทั่วไป ว่าพรรคนั้นเชื่อถือไม่ได้ ขอให้คุยกันอีกรอบ เจรจาให้ได้ เสียเวลาอย่างไรก็ช่างมัน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องระมัดระวัง เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมาก การแก้รัฐธรรมนูญเป็นฉบับประชาชนจะทำให้ก้าวข้ามความขัดแย้ง บ้านเมืองชัดเจนและพัฒนาเจริญรุ่งเรือง

ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า หากกำหนดเกณฑ์เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง2 ชั้น เท่ากับว่าจะนับรวมผู้ลงมติไม่เห็นชอบกับคนที่ไม่ออกมาใช้สิทธิรวมกันปิดประตูตอกฝาโลงแก้รัฐธรรมนูญ หากจะเปิดประตู ต้องทำประชามติอย่างเดียวกันกับประชามติรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ทั้งนี้ไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้ตั้งเกณฑ์ใช้เสียง 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4

หลังอภิปรายเสร็จสิ้นที่ประชุมลงมติ ไม่เห็นชอบกับร่างที่วุฒิสภาแก้ไข 348 เสียง เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 65 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ จำนวน 28 คน สัดส่วนกมธ.สส. 14 คน สว. 14 คน

สำหรับรายชื่อ กมธ.ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ…… ในส่วนของ สส. มีจำนวน 14 คน ได้แก่ พรรคประชาชน (ปชน.) จำนวน 4 คน คือ 1.นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ, 2.นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ, 3.นายปกป้อง จันวิทย์ อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 4.นายณัชปกร นามเมือง ตัวแทนไอลอว์

ขณะที่พรรคเพื่อไทย (พท.) จำนวน 4 คน ได้แก่ 1.นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ, 2.นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ, 3.นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ และ 4.นายกฤช เอื้อวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (น.ส.จิราพร สินธุไพร)

พรรคภูมิใจไทย (ภท.) จำนวน 2 คน ได้แก่ 1.นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง และ 2.นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ นอกจากนี้ ยังมีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.), นายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.), ว่าที่ร.ท.ยุทธการ รัตนมาศ สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)

ส่วนรายชื่อ สว.อีก 14 คน คาดว่าจะได้รายชื่อในการประชุมวุฒิสภาในวันที่ 15 ต.ค.นี้

TAGS: #ประชามติ #ภูมิใจไทย #กรรมาธิการ #ประชุมสภา