กกต. ยืนยัน 49 หมายเลขพรรคการเมืองสมบูรณ์

กกต. ยืนยัน 49 หมายเลขพรรคการเมืองสมบูรณ์
ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์วันแรก 53 พรรค ยันไม่สามารถทำบัตร 2 ใบเหมือนกัน พร้อมอำนวยความสะดวก ปชช. เชื่อบัตรเสียน้อย

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2566  นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าวประจำวัน ภายหลังสำนักงาน กกต.เปิดรับสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นวันแรก โดยมีพรรคการเมืองรวม 53 พรรค มาสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ แบ่งเป็นมาก่อนเวลา 08.30 น. จำนวน 49 พรรค และมาหลัง 08.30 น.จำนวน 5 พรรค และถอนตัว 1 พรรค

นายแสวง กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลจนถึงขณะนี้ พรรคการเมืองที่มาสมัครภาคเช้า จำนวน 49 พรรคพบว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน และได้หมายเลขที่จะใช้ในการหาเสียงตามเบอร์ที่จับสลากได้  ส่วนภาคบ่ายมีพรรคการเมืองมายื่นรับสมัครไป 5 พรรค ถอนเรื่องไป 1 พรรค เหลือ 4 พรรค เท่ากับว่าตอนนี้มีพรรคที่ยื่นสมัคร และหากเอกสารเรียบร้อย จำนวน 53 พรรคการเมือง ส่วนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่พรรคการเมืองเสนอเป็น มีจำนวน 16 พรรค 20 ราย

ในส่วนรายชื่อสำนักงาน กกต.จะทำเอกสารแจกให้อีกครั้งหลังจากนี้ นายแสวง กล่าวอีกว่า สำหรับเอกสารของบางพรรคการเมืองที่ไม่สมบูรณ์นั้น คือเอกสารที่ปริ้นท์มาจากคอมพิวเตอร์ โดยปริ้นท์ในส่วนของลายเซ็นมาด้วย เบื้องต้นพิจารณาแล้วไม่ได้มีปัญหาทำให้สาระสำคัญของการสมัครเสียไปในเรื่องความถูกต้องตามกฎหมาย เป็นเอกสารจริง เพียงแต่นำตัวสำเนามาเท่านั้น

ในส่วนประเด็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบที่มีหลายพรรคการเมืองทักท้วงว่า บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต ไม่มีโลโก้พรรค สามารปรับเปลี่ยนได้หรือไม่นั้น นายแสวง กล่าวว่า เมื่อเช้าวันนี้ คุยกับหลายพรรค ทำความเข้าใจว่า สิ่งที่สำนักงาน กกต. ทำดีสำหรับพรรค และประชาชนที่สุดแล้ว เรามีการถอดบทเรียน ครั้งที่แล้วมีการเลือกตั้งที่มีจำนวนบัตรเสียมากสุด เพราะมีโลโก้พรรค แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราทำบัตรเลือกตั้งอย่างเดียว แต่กฎหมายให้เราทำแบบนี้ด้วย ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)

ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 84 กำหนดให้บัตรเลือกตั้งมีทั้ง 2 แบบ แต่ละแบบต้องแตกต่างกันที่เห็นได้อย่างชัดเจน โดยบัตรแบ่งเขตให้มีช่องกาเครื่องหมาย และหมายเลข ส่วนแบบบัญชีรายชื่อบอกว่า ให้มีช่องกาเครื่องหมาย สัญลักษณ์พรรคหรือเครื่องหมายพรรค และชื่อพรรค ถ้าดูตามกฎหมาย บัตร 2 ใบจะทำเหมือนกันไม่ได้ แม้จะทำสีแตกต่างกันก็ตาม

นายแสวง กล่าวอีกว่า เรื่องนี้จะอำนวยความสะดวกกับประชาชนอย่างไร โดยบัตรเลือกตั้งจะให้อยู่หน้าเดียวกันทั้งหมด ไม่ว่าแบบแบ่งเขต หรือแบบบัญชีรายชื่อ ยกตัวอย่าง ขณะนี้ในพื้นที่ กทม. จะมีการพิมพ์เบอร์ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต สูงสุด 16 หมายเลข เป็นต้น นั่นหมายความว่า เราจะพิมพ์บัตรแบบแบ่งเขตเท่ากับจำนวนผู้สมัครสูงสุด อย่างน้อยก็คลุมทุกเขตเลือกตั้ง สามารถอยู่ในหน้าเดียวได้

ส่วนแบบบัญชีรายชื่ออำนวยความสะดวกประชาชนคือ เข้าใจว่า สิทธิในการสมัครอาจมาไม่ครบ เราให้อยู่ในหน้าเดียวกัน ในหน่วยเลือกตั้งก็จะมีแผ่นกระดาษที่บอกว่า แต่ละพรรคเบอร์อะไร และผู้สมัครของบัญชีรายชื่อในหน่วยเลือกตั้งเบอร์อะไร ในหน่วยเลือกตั้งก็จะมีหมายเลขบอกว่า ผู้สมัครแบบแบ่งเขตเบอร์อะไร อยู่ตรงไหน เป็นต้น

“ถ้าเราพิมพ์บัตร 2 ใบ ถึงสีต่างกัน แต่ลักษณะในบัตรเหมือนกัน แทบจะไม่ต่างกันเลย ประชาชนอาจเกิดความสับสนว่า ในบัตร 2 ใบดังกล่าว บัตรไหนคือบัตรอะไร และอาจมีการฟ้องว่า กกต.ทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้” นายแสวง กล่าว

เมื่อถามถึงการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค หากพบว่า มีผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติจะต้องดำเนินการอย่างไร นายแสวง กล่าวว่า กกต.จะใช้เวลาตรวจสอบคุณสมบัติประมาณ 7 วัน โดยหากพบว่าผู้สมัครคนใดขาดคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้ง ก็สามารถตัดชื่อออกไปได้ จากบัญชีรายชื่อของพรรค และเลื่อนลำดับบัญชีรายชื่ออื่นขึ้นมาแทน

เมื่อถามว่า กกต.จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯหรือไม่ อย่างไร นายแสวง กล่าวว่า ตามกฎหมายแล้ว ไม่ได้ให้อำนาจ กกต.ในการตรวจสอบคุณสมบัติ ผู้ที่ถูกเสนอชื่อดังกล่าว เนื่องจากคุณสมบัติบางอย่าง เป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ก่อนเข้ารับตำแหน่ง เช่น การถือหุ้น หรือการดำรงตำแหน่งบางตำแหน่งที่สามารถลาออกได้ ก่อนดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นต้น

การตรวจสอบคุณสมบัติจึงไม่สามารถตรวจสอบวันนี้ เพราะยังไม่รู้ว่าจะได้เป็นนายกฯหรือไม่ หากพบหลังการเลือกตั้งว่า บุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ เมื่อดำรงตำแหน่งนายกฯหลังเลือกตั้ง สามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการถอดถอนได้

TAGS: #กกต. #การเมือง #เลือกตั้ง66