สำรวจ 11 พรรค ใครอยู่ขั้วไหนร่วมไม่ร่วมจับมือกับใครตั้งรัฐบาล!!!

สำรวจ 11 พรรค ใครอยู่ขั้วไหนร่วมไม่ร่วมจับมือกับใครตั้งรัฐบาล!!!
พรรคพลังประชารัฐ ของ บิ๊กป้อม หากไม่มีเสียงส.ว.อยู่ในมือเพื่อใช้โหวตเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ก็ยากที่พรรคฝ่ายค้านเดิม จะเชิญไปร่วมด้วย เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล ถ้าไม่ลดเพดานปมแก้ ม.112 คงไม่มีใครร่วมด้วย

การหาเสียงเลือกตั้งกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นขึ้นตามลำดับ ท่ามกลางการคาดการณ์ ถึงพรรคที่มีแนวโน้มจะชนะการเลือกตั้ง รวมถึงสูตรการจัดตั้งรัฐบาล แต่ทุกอย่างยังต้องรอความชัดเจนหลังการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตามเมื่อสำรวจตรวจสอบท่าทีจุดยืนของ 11 พรรคการเมือง ที่จะมีโอกาสในการร่วมจัดตั้งรัฐบาล พบว่า มีหลายพรรค ได้ประกาศจุดยืนชัดเจน ไม่ร่วมกับพรรคนั้นพรรคนี้ หรือ บางพรรค เคมีไม่เข้ากัน ส่วนท่าทีจุดยืนพรรคไหนเป็นอย่างไร มีรายละเอียดดังนี้ 

เริ่มที่ขั้วฝ่ายค้านเดิม พรรคเพื่อไทย  มีจุดยืนชัดเจนจะไม่ร่วมตั้งรัฐบาลกับ พรรครวมไทยสร้างชาติ อย่างเด็ดขาด เพราะห้ำหั่นกันมาตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการรัฐประหาร รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย และในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นรัฐบาล บริหารประเทศ พรรคเพื่อไทย ก็ตรวจสอบเข้มข้น ชนิดผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ แล้วยังมีสมาชิกของพรรครวมไทยสร้างชาติ หลายคน ที่เป็นปฏิปักษ์  ร่วมขับไล่ ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ ทั้งในเหตุการม็อบสีเสื้อ เสื้อเหลือง เสื้อแดง และการชุมนุม กปปส.จึงร่วมกันไม่ได้ เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ พรรคเพื่อไทยยืนคนละฟากคนละฝั่งกันมานานแล้ว ตั้งแต่ครั้ง พรรคไทยรักไทย ถือเป็นพรรคไม้เบื่อไม้เมากัน ยืนตรงกันข้ามในทางการเมืองมาตลอด โอกาสร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้แทบจะทุกกรณี 

สรุปก็คือ ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคประชาธิปัตย์ ก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน ในทางกลับกันพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาล พรรคเพื่อไทยก็เป็นฝ่ายค้าน

ในขณะที่ พรรคก้าวไกล ถูกมองว่า เป็นพรรคฝ่ายก้าวหน้า คนรุ่นใหม่ ประกาศชัดเจนไม่ร่วมสังฆกรรมกับพรรคทหารจำแลง คือพรรคที่มีส่วนในการรัฐประหาร เพราะถือเป็นเผด็จการ โดยเฉพาะ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ และ พรรคพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นแคนดิเดตนายกฯและหัวหน้าพรรค ส่วนท่าทีกับพรรคอื่น อย่างพรรคประชาธิปัตย์ และ ภูมิใจไทย แม้จะมีจุดยืนไม่ตรงกันเรื่องการแก้ ม.112 แต่ในภาพรวมไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน 

ดังนั้นหาก พรรคก้าวไกล ได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาล ต้องไม่มีพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ อยู่ด้วย

ด้าน พรรคเสรีรวมไทย นำโดย  พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรค มีจุดยืนไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยในช่วงที่ผ่านมา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ ได้อภิปรายตำหนิ ความล้มเหลวของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างต่อเนื่องด้วยถ้อยคำที่รุนแรง รวมถึงความเป็นเผด็จการ จากการทำรัฐประหาร แต่สำหรับพรรคพลังประชารัฐของบิ๊กป้อม นั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ ไม่ได้แสดงท่าทีรังเกียจพร้อมประกาศร่วมมือกันได้ โดยอ้างว่า พล.อ.ประวิตร ยืนยันในสภาไม่ได้เป็นคนทำรัฐประหาร คนทำรัฐประหารคือ บิ๊กตู่

ขณะที่ พรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประกาศไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเผด็จการ ซึ่งหมายถึงพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งในหลายเวทีการปราศรัยหาเสียง คุณหญิงสุดารัตน์ ได้ชำแหละความล้มเหลวในการบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์  8 ปี  ส่วนกับพรรคพลังประชารัฐของลุงป้อม การแสดงออกยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการคัดค้านหรือรังเกียจเดียดฉันท์กัน

ส่วนพรรคประชาชาติของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง หัวหน้าพรรค  ถือเป็นพันธมิตรใกล้ชิดเพื่อไทยมาก เหมือนเพื่อไทยจะว่าอะไรก็ว่าตาม จุดยืนไม่ร่วมรวมไทยสร้างชาติสูง ส่วนกับพรรคลุงป้อม และประชาธิปัตย์ ไม่ปรากฎว่ามีการต่อต้านกัน เพราะเส้นทางการเมืองยังไม่บรรจบกัน

หันมาทางขั้วรัฐบาลเดิม พรรครวมไทยสร้างชาติ ของลุงตู่ แนวทางชัด ไม่ร่วมสังฆกรรมเพื่อไทย เพราะแนวทางการเมืองต่างกัน เห็นแย้งกันตลอดบนเส้นทางสายการเมืองเ หมือนน้ำกับน้ำมันที่เข้ากันไม่ได้  เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล ที่แกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ มองว่ามีปัญหาเกี่ยวกับสถาบันเบื้องสูง รวมถึงมุมมองทางการเมืองต่างกัน จึงยากที่ร่วมเป็นรัฐบาลกันได้

ขณะที่จุดยืนพรรคประชาธิปัตย์ ชัดเจน คือ ไม่ร่วมสังฆกรรมกับพรรคเพื่อไทย เพราะขับเคี่ยวกันในทางการเมืองตลอด ยืนคนละขั้วจึงยากที่จะร่วมตั้งรัฐบาลกันได้  ในขณะที่ความสัมพันธ์ กับพรรคก้าวไกล แม้จะไม่มีความขัดแย้งกัน แต่แนวทางในทางการเมืองเดินไปด้วยกันยาก เพราะประชาธิปัตย์ ถูกเปรียบเป็นพรรคสายอนุรักษ์ พรรคก้าวไกล เป็นฝ่ายก้าวหน้า จึงมีปัญหาเรื่องของจุดยืนแนวทาง อย่างเรื่องการแก้มาตรา 112 ที่ ประชาธิปัตย์ ค้านหัวชนฝา ไม่เอาแนวทางพรรคก้าวไกล

หันมาดูจุดยืนพรรคการเมืองสายกลาง คือประกาศไม่เป็นศรัตรูกับใคร พร้อมร่วมทุกพรรครักทุกคน ขึ้นอยู่กับตัวเลขหลังการเลือกตั้ง หรือเงื่อนไขของบางพรรคที่ไม่อยากร่วมด้วย ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย  พรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติไทยพัฒนาและ พรรคชาติไทยพัฒนากล้า

แม้ 4 พรรคดังกล่าวจะเป็นฝ่ายรัฐบาลยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับ พล.อ.ประยุทธ์ มาครบ 4 ปี แต่ในทางการเมืองหากแนวทาง ผลประโยชน์ลงตัว สามารถร่วมรัฐบาลกันได้ การเมืองไม่มีมิตรแท้และศรัตรูถาวร นักการเมืองถึงได้ย้ายค่ายย้ายขั้วกันเป็นว่าเล่น ส่วน พรรคพลังประชารัฐ ของ บิ๊กป้อม หากไม่มีเสียงส.ว.อยู่ในมือเพื่อใช้โหวตเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ก็ยากที่พรรคฝ่ายค้านเดิม จะเชิญไปร่วมด้วย เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล ถ้าไม่ลดเพดานปมร้อนแรงเรื่องการแก้ มาตรา 112 คงไม่มีพรรคใดจะเชิญไม่ร่วมรัฐบาลด้วย 

ทั้งหมดนี้มีคำตอบชัดเจนหลังการเลือกตั้ง 14พ.ค.2566 พรรคไหนจะได้เป็นรัฐบาล หรือพรรคไหนจะเข้าร่วมรัฐบาล ต้องตามกันไม่กระพริบ

TAGS: #เลือกตั้ง #พรรคการเมือง #รัฐบาล