“นิกร” วอน “เพื่อไทย” ใช้วิธีประนีประนอมปมประชามติ อย่าดันยึดเสียงข้างมากปกติ หวั่นไม่ผ่านเสียง สว. รธน.ฉบับประชาชนไม่เกิด
นายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เผย แนวทางการแก้ไขบทบัญญัติที่ว่าด้วยเกณฑ์ผ่านประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ จากที่ตนเสนอแนวทางให้ใช้เกณฑ์ผ่านประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญด้วยเสียงข้างมากชั้นครึ่ง คือ ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ ขณะที่เสียงเห็นชอบนั้นใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง และต้องเป็นจำนวนที่มากกว่าเสียงโนโหวต แทนการใช้เสียงข้างมาก2ชั้น เพื่อให้เป็นแนวทางประนีประนอม ระหว่างหลักการที่ กรรมาธิการฝั่ง สส.ยึดถือ คือเสียงข้างมากปกติ และ กรรมาธิการฝั่ง สว.ที่ต้องการใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก2 ชั้น ซึ่งข้อเสนอของตนเชื่อว่าจะมี กรรมาธิการที่สนับสนุน ทั้งจากพรรครวมไทยสร้างชาติและจากพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากแนวทางเสียงข้างมากชั้นครึ่งนั้น เคยเป็นแนวทางที่พรรคภูมิใจไทยเสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติต่อสภาฯ
ส่วนกรณีที่แกนนำพรรคเพื่อไทย เช่น นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ไม่เห็นด้วย เพราะต้องการใช้เสียงข้างมากปกติ และต้องการให้สภาฯ ยืนยันบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าว หลังจากที่ผ่านเวลา 180 วันนั้น นายนิกร มองว่าพรรคเพื่อไทยควรประเมินให้ดี เพราะหากมีกรณีแตกหักในชั้นกรรมาธิการฯ ซึ่งเป็นการแตกหักกับ สว. อาจทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ตามขั้นตอนแล้วต้องได้เสียง สว. รับหลักการวาระแรก 1 ใน 3 หรือ 67 เสียง หากไม่มีหนทางประนีประนอมแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอาจไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย
ส่วนที่กังวลว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิประชามติ ไม่ถึง 50% ของผู้มีสิทธินั้น นายนิกร ชี้ว่า ตามสาระของร่างแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติ ได้เปิดให้ใช้วิธีออกเสียงผ่านทางไปรษณีย์ ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้มาก และเชื่อว่าจะทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญเกินเกณฑ์กำหนด ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ 2 ฝ่ายพยายามประนีประนอมกันถอยคนละครึ่งก้าวเพื่อข้ามความยากลำบากนี้ไปให้ได้เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ผู้คนเฝ้ารอ
นายนิกร เปิดเผยด้วยว่า การประชุมของกรรมาธิการร่วมฯจะประชุมอีกครั้งวันที่ 20 พ.ย. โดยเชิญตัวแทนของบริษัทไปรษณีย์ไทยและ กกต. มาหารือถึงแนวทางการทำประชามติด้วยวิธีอื่นๆ นอกจากการตั้งหน่วยและลงคะแนนในคูหา เบื้องต้นจากที่ตนศึกษาแนวทางการทำประชามติด้วยระบบไปรษณีย์นั้น เชื่อว่าประเทศไทยสามารถทำได้ แม้ไม่เคยทำมาก่อน อีกทั้งหลังจากที่ กกต. เข้าหารือกับ กมธ.ร่วมแล้ว ทราบว่าจะเดินทางไปดูงานการประชามติที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ กกต.จะกำหนดและออกแบบการทำประชามติผ่านระบบไปรษณีย์ที่เหมาะสมต่อไปได้