พปชร. เดินหน้าค้าน MOU 44 ต่อ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง"นายกฯอิ๊งค์" ธีระชัย- หม่อมกร ยืนยันเป็นโมฆะ
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการ พร้อมด้วย ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่ปรึกษาศูนย์นโยบายและวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ร่วมกันแถลงข่าวกรณีบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (MOU) ปี 2544 ภาคต่อ EP 3
โดยนายธีระชัย กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ตนได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยจะส่งไปยังรัฐบาลในวันนี้ เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับข่าวที่ปรากฏว่ารมว.ต่างประเทศ จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคชุดใหม่(JTC) เพื่อเจรจากับกัมพูชาในกรอบเอ็มโอยู 2544 ซึ่งการแต่งตั้งเช่นนี้อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ โดยตนมีข้อมูลที่เป็นพยานหลักฐาน 2 อย่างคือ 1.มีพยานเอกสารหลักฐานราชการ ซึ่งมีบทความที่เขียนโดยนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ผู้ที่ลงนามเอ็มโอยู
และ 2.แถลงการณ์ร่วมที่ลงนามโดยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับสมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน โดยมีข้อความสำคัญที่ปรากฏคือ ข้อความบรรยายว่าทั้งสองไปทำหน้าที่เป็นประธานในพิธีลงนามเอ็มโอยู 2544 รวมถึงมีข้อความที่ระบุชัดเจนว่าทั้งสองฝ่ายให้การรับรองเอ็มโอยู 2544 ดังนั้น จึงเป็นการยืนยันว่าเอ็มโอยู 2544 มีสถานะเป็นสนธิสัญญา
นายธีระชัย กล่าวต่อว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาตรา 24 บัญญัติไว้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาต่างๆ กับนานาประเทศ ดังนั้น การที่เอ็มโอยู 2544 ไม่ได้มีการกราบบังทูลต่อพระมหากษัตริย์ก็ไม่ตรงกับข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2540 และหนังสือใดที่มีการเปลี่ยนแปลงบทอำนาจแห่งรัฐต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ซึ่งในเอ็มโอยู 2544 มีแผนที่แนบด้วย ซึ่งแผนที่แนบนั้นมีการกำหนดสิ่งที่เราเรียกว่าพื้นที่พัฒนาร่วม รวมถึงมีการกำหนดไว้ด้วยว่าพื้นที่พัฒนานั้น มีการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ในเรื่องของปิโตรเลียมในพื้นที่สีเขียว แต่ไม่ได้กำหนดให้ไปขยับเส้นอานาเขตพื้นที่สีเขียว ดังนั้น เอ็มโอยู 2544 จึงเป็นเอ็มโอยูที่ทั้ง 2 ประเทศยอมรับพื้นที่สีเขียวเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกันทางปิโตรเลียม
นายธีระชัย กล่าวต่อว่า การยอมรับเช่นนั้นทำให้เกิดผลคือ ทำให้พื้นที่สีเขียวตรงนั้นแหว่งออกไป และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายพื้นที่ ลักษณะเช่นนี้จึงควรต้องมีการนำเสนอต่อรัฐสภา แต่ในเมื่อเอ็มโอยู 2544 ไม่ได้มีการ
กราบบังคมทูลต่อพระมหากษัตริย์และนำเสนอต่อรัฐสภา ตนจึงมีความเห็นว่าเป็นส่วนที่สัญญาซึ่งเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับมาตั้งแต่ต้น รวมถึงประชาชนเกิดความสงสัย เพราะมีข้อพิรุธสำคัญว่า ทำไมรัฐบาลในปี 2544 จึงทำขั้นตอนกลับทางจากกรณีไทย-มาเลเซียที่การกำหนดอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมเป็นผลสุดท้ายจากการเจรจา แต่เอ็มโอยูกลับไปให้กำเนิดอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมตั้งแต่ต้น อันเป็นกรอบที่บีบการเจรจา ทั้งที่จะทำให้ไทยเสี่ยงเสียดินแดน
นายธีระชัย กล่าวว่า การเจรจาความเมืองต้องใช้ทางราชการเป็นหลัก ไม่ใช่เอาคนที่มีผลประโยชน์ เป็นภาคเอกชนเข้าไปร่วม ซึ่งประชาชนมีความกังวลว่าเอ็มโอยูที่ไม่มีการเจรจาอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมให้เสร็จเสียก่อน น่าสงสัยว่ามีประโยชน์ซ่อนเร้น และน่าสงสัยว่าเหตุผลแท้จริงของแถลงการณ์ร่วมนั้นอาจเพื่อมุ่งเรื่องปิโตรเลียมเป็นสำคัญ ทำไมอยู่ดีๆไปทำเอ็มโอยู แล้วเอาแผนที่ไปใส่ ถือเป็นข้อพิรุธ และทำให้กัมพูชาดีใจเพราะได้ประโยชน์ แต่กลับทำให้ประเทศไทยเกิดความเสี่ยงในการเสียดินแดน และยังไปยอมรับเส้น ซึ่งเป็นการละเมิดอธิปไตยของเกาะกูด ประชาชนจึงกังวลว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่ และที่สำคัญในตอนนั้นปรากฎว่านายทักษิณ ก็เดินทางไปที่กัมพูชา เพื่อไปเป็นประธานในพิธีลงนามร่วมกับ นายฮุนเซ็นด้วย
"ยืนยันว่าเราให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่รัฐบาลและรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาล มีหน้าที่ต้องทำทุกอย่างให้กระจ่างต่อประชาชน ซึ่งวิธีที่สุดคือการจัดเวทีสาธารณะขึ้นมาพูดคุยกันฝ่ายละ 3 คน รัฐบาลก็ส่งคนที่ได้รับอำนาจเต็มในการชี้แจงเรื่องนี้ มาพูดคุยกับตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐ โดยมีผม ม.ล.กรกสิวัฒน์ และนายสนธิรัตน์ ประชาชนจะได้เกิดความกระจ่าง"
ด้าน ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า การที่นายสุรเกียรติ์บรรยายเรื่องเอ็มโอยู 2544 เมื่อวันที่14 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น ผิดพลาดคลาดเคลื่อนอยู่มากถึงสาเหตุของการเกิดพื้นที่ทับซ้อน โดยนายสุรเกียรติ์ ระบุว่าเนื่องจากกฎหมายทะเลสากลให้ทุกประเทศประกาศเขตเศรษฐกิจออกไปได้ 200 ไมล์ทะเล แต่อ่าวไทยมีความกว้างไม่ถึง 200 ไมล์ทะเล เมื่อไทยและกัมพูชาต่างฝ่ายต่างประกาศเขตเศรษฐกิจ 200 ไมล์ทะเล จึงทับซ้อนกัน ซึ่งขณะที่นายสุรเกียรติ์ เซ็นเอ็มโอยู 2544 กับกัมพูชานั้น น่าจะเข้าใจกฎหมายทะเลสากลไม่ถูกต้องทั้งเรื่องทะเลอาณาเขต และการลากเส้นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล ปรากฎตามอนุสัญญาเจนีวา 1958 ข้อ 12 และอนุสัญญาสหประชาชาติ 1982 ข้อ 15 ที่บัญญัติว่ากรณีที่ฝั่งทะเล 2 รัฐประชิดกัน ถ้าไม่ได้ตกลงเป็นอย่างอื่น รัฐใดย่อมไม่มีสิทธิขยายทะเลอาณาเลยเลยเส้นมัธยะ
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวต่อว่า กรณีไทย-กัมพูชา เส้นมัธยะ คือ เส้นที่มีจุดเริ่มต้นจากหลักเขตที่ 73 สุดแดนจังหวัดตราดลากลงทะเล แบ่งกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดกับเกาะกง เพื่อความเป็นธรรมในการเดินเรือ ดังนั้น การขีดเส้น 200 ไมล์ทะเลจึงต้องลากต่อออกไปจากเส้นมัธยะนี้ ไม่ใช่แบบที่นายสุรเกียรติ์ อธิบายทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดได้ว่า ทุกประเทศมีสิทธิไปลากเส้นจากฝั่งทะเลไปทิศทางใดก็ได้ 200ไมล์ ตามอำเภอใจแบบที่กัมพูชาทำ พื้นที่ทะเลรอบเกาะกูดของไทยจึงถูกกัมพูชาลากเส้นทับซ้อน ตั้งแต่ชายฝั่งไปชนเกาะกูด ซึ่งกรณีเช่นนี้ไม่ปรากฏแบบนี้ที่ใดในโลก
นอกจากนี้ นายสุรเกียรติ์ยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับการเจรจาระหว่างไทยกับมาเลเซีย พม่า และเวียดนาม ที่ประสบผลสำเร็จมีลำดับขั้นตอน ดังนี้ 1.คณะรัฐมนตรีตั้งคณะเจรจาขึ้นก่อน 2.กรอบการเจรจา คือ กฎหมายทะเลสากล 3.ทำเอ็มโอยูเพื่อบันทึกผลสำเร็จของการเจรจา และ 4.ประกาศพระบรมราชโองการ รองรับเส้นเขตแดนใหม่ที่เป็นผลของการเจรจา ซึ่งทุกกรณีจะใช้กฎหมายทะเลสากลเป็นกรอบในการเจรจาทั้งสิ้น ตามที่นายประจิตต์ โรจนพฤกษ์ อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ผู้แทนการเจรจากรณี ไทย-มาเลเซีย ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟัง ส่วนเอ็มโอยูจะเกิดขึ้นเป็นขั้นตอนเกือบสุดท้าย เพื่อบันทึกผลสำเร็จของการเจรจานั้นๆ ซึ่งการเจรจาทุกประเทศมีเป้าหมายสำคัญสูงสุดคือ การกำหนดเส้นเขตแดนให้ถูกต้องเป็นอันดับแรก ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ปิโตรเลียม
”กรณีไทย-กัมพูชา จึงผิดแผกแตกต่างจากทุกกรณีที่เคยมีมา เรียกว่าเกิดขึ้นแบบย้อนเกล็ด คือ เกิดเอ็มโอยูขึ้นก่อน แล้วอ้างว่าเอ็มโอยูเป็นกรอบการเจรจา และอาจขัดพระบรมราชโองการ เพราะนำเส้นเขตแดนทางทะเลที่ผิดกฎหมายสากลของกัมพูชามาใส่ไว้ในแผนที่แนบท้าย แม้จะเขียนไว้ในข้อ 5 ของเอ็มโอยูว่าไม่ได้ยอมรับเส้นของกัมพูชา แต่การรับรู้ถึงเส้นอ้างสิทธิที่ผิดกฏหมาย ก็ถือว่า ขัดกับหลักการเดิมโดยสิ้นเชิง“ ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวอีกว่า การที่ระบุว่าเอ็มโอยูจะไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิของไทยและกัมพูชา หากการเจรจาล้มเหลว ข้อนี้ถือว่าเสียเหลี่ยมให้กัมพูชา เพราะเส้นเขตแดนทางทะเลของกัมพูชานั้น นำไปอ้างที่ไหนในโลกไม่ได้ เพราะผิดกฎหมายสากล แต่กลับปรากฏขึ้นในเอกสารราชการไทยที่ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย นำมาลงนามในแถลงการณ์ร่วมก็จะกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้กัมพูชานำมาอ้างในอนาคตได้เช่นกัน
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราพูดแน่ละฝ่ายมาเยอะแล้ว จึงอยากให้มีการจัดเวทีให้ทุกฝ่ายส่งคนที่สามารถพูดเรื่องนี้ได้มาคุยกัน 3 ต่อ 3 เรายินดีเจอทุกเวที ประชาชนจะได้เห็นว่า เรากับรัฐบาลใครที่ถือตัวจริงกันแน่
ผู้สื่อข่าวถามว่า การเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ได้มีการพูดคุยกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตร ที่จะมายื่นหนังสือเรื่องนี้กับนายกรัฐมนตรีในวันจันทร์ที่ 9 ธ.ค.นี้ด้วยหรือไม่ นายธีระชัย กล่าวว่า ไม่มีการประสานกันเลย