ทีมเศรษฐกิจปชป.แถลงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ"อัดฉีดเงิน 1 ล้านล้านบาท" ผ่าน 6 นโยบายหลักสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่า 5% ข้องใจเพื่อไทยแจกเงินดิจิทัลเอื้อธุรกิจครอบครัวหรือไม่
ที่พรรคประชาธิปัตย์ ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์คิกออฟแถลง “ประชาธิปัตย์ อัดฉีดเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท ใครได้อะไร” เพื่อนำเสนอแนวทางในการใช้เงินอัดฉีด 1 ล้านล้านบาทเข้าไปกระตุ้นระบบเศรษฐกิจให้กับประเทศและสร้างรายได้ให้กับคนไทย นำโดย นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรมช.กระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทยประธานคณะกรรมการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมขนส่งโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการขนาดใหญ่ และม.ร.ว. ศศิพฤนท์ จันทรทัต อดีตซีอีโอ บล. กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ณ ห้องประชุมชั้น 3 พรรคประชาธิปัตย์ อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
นายพิสิฐ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยมีเป้าหมายสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า 5% ต่อปี พร้อมลดช่องว่างระหว่างประชากรโดยไม่สร้างหนี้สาธารณะหรือบั่นทอนการทำงานของระบบการเงิน และลดหนี้ครัวเรือน เพื่อให้เศรษฐกิจเข้มแข็งมีเสถียรภาพและยั่งยืน ผ่าน 16 นโยบาย
โดยในระยะสั้นจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเพิ่มสภาพคล่องแก้ข้อจำกัดเงินทุนหมุนเวียน โดยแบ่งเป็นระดับฐานราก ด้วยการจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านและชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาท ตามพ.ร.บ.สถาบันการเงินประชาชน พ.ศ.2562 วงเงิน 1.8 แสนล้านบาท
ส่วนระดับกลาง จะปลดล็อคกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ให้ข้าราชการในวงเงิน 1 แสนล้านบาท และปลดล็อคกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงานบริษัทในวงเงิน 2 แสนล้านบาท สามารถนำเงินกองทุนทั้งสองรวม 300,000 ล้านบาท ไปซื้อบ้านหรือลดหนี้ที่อยู่อาศัย และระดับ SME โดยการเพิ่มทุน SME และ START UP วงเงิน 3 แสนล้านบาท ให้ธุรกิจมีเงินใหม่เพื่อการลงทุน ซึ่งหากพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้ามาเป็นแกนนำรัฐบาล จะเริ่มทำทันทีภายใน 3 เดือน
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการระยะยาวที่จะปรับโครงสร้างและปลดล็อคข้อจำกัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิต โดยแบ่งเป็นเรื่องของที่ดิน ออกโฉนด 1 ล้านแปลง ให้สิทธิทำกินในที่ดินรัฐ อุดหนุนเงิน 3 ล้านบาทสำหรับการรวมแปลงที่ดินใหญ่ เรื่องประมง ผ่อนคลายมาตรการ IUU เรื่องแรงงานให้เรียนฟรีถึงป.ตรี สาขาที่ตลาดต้องการ เรื่องเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ต 1 ล้านจุด
ในส่วนมาตรการที่เหลืออีก 6 เรื่องจะมีผลในการลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้ คือ
1.ประกันรายได้สินค้าเกษตรหลัก 5 ตัว
2.ชาวนารับ 30,000 บาท จากที่ดิน ไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่
3.ประมงพื้นบ้านกลุ่มละ 100,000 บาท
4.ด้านปศุสัตว์ผู้เลี้ยงโคนมจะได้ประโยชน์จากเรื่องนมโรงเรียน 365 วัน
5.ชมรมผู้สูงอายุ 30,000 บาทต่อปี
6.บัตรประชาชนใบเดียวรักษาพยาบาลและการตรวจโรคฟรี ซึ่งรวมแล้วคาดว่าจะใช้เงิน 2.2 แสนล้านบาท
นายพิสิฐ กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงหลายปีมาถือว่าล้มลุกคลุกคลาน จีดีพีโตช้าที่สุดในอาเซียน จากผลกระทบวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งจากเงินเฟ้อ การขาดดุลกับต่างประเทศ การขาดดุลการคลัง โดยเฉพาะรายได้ที่ขาดหายไปจากผลกระทบโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมากว่า 3 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐได้มีมาตรการช่วยเหลือที่ได้ดำเนินการไปแล้ว คือ เงินกู้ตามพ.ร.ก. โควิด-19 2 ฉบับ (2563-2565) รวมประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท รวมถึงรายได้ที่เก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ (2563-2565) ประมาณ 5 แสนล้านบาท เพราะฉะนั้นยังมีหลุมรายได้ที่ขาดไปอีก 1 ล้านล้านบาท พรรคประชาธิปัตย์จะอุดหลุมรายได้ตรงนี้เพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีการขับเคลื่อนอย่างแข็งแรง
“จีดีพีเราตอนนี้ลดต่ำลง และยังมีขนาดต่ำกว่าก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้พ้นจากบ่วงกรรมอันนี้ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์จะอัดฉีดเม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อให้จีดีพีโตเกิน 5% ตามศักยภาพที่เรามีอยู่ ซึ่งถ้าโตต่ำกว่าระดับ 5% จะไม่เป็นที่สนใจจจากนักลงทุน
โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือลดหนี้ครัวเรือนจากที่แตะ 90%ของจีดีพี และไม่สร้างหนี้สาธารณะจากที่ทะลุ 60%ของจีดีพี เราจะทำให้ระบบการเงินไทยแข็งแรง และมีเงินใหม่เข้ามา เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยต้องทำภายใน 3-4 เดือน ซึ่งเรามีเงิน 8 แสนล้านบาทรออยู่แล้วในระบบการเงินการคลัง ส่วนอีก 2 แสนล้านบาทจากการปรับโครงสร้างระบบงบประมาณและการบริหารการจัดเก็บรายได้และเงินนอกงบประมาณ” นายพิสิฐ กล่าว
ขณะที่ นายเกียรติ ได้ ตั้งข้อสังเกตถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย แตกต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างน้อย 5% ไม่สร้างหนี้เพิ่ม เปลี่ยนเงินที่มีอยู่ในระบบมาใช้ และกระจายเศรษฐกิจไปสู่ฐานรากอย่างมั่นคง
โดยตั้งข้อสังเกตุ 5 ข้อ 1. นโยบายดังกล่าวไม่ชัดเจนทั้งเคลื่อนตัวเลขระยะเวลาการแจกเงิน มีทั้งบอกแจก 6 เดือน หรือ แจกเพียง 1 ครั้ง รวมถึงที่มาของเงิน วันหนึ่งบอก เอาจาก 5 แสนล้าน อีกวันบอกเอาจากงบประมาณ งบส่วนกลาง 30% หรือ 3 หมื่นล้านบาท ทุกอย่างไม่ตรงกัน
2. พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยนำเงินภาษีประชาชนแจกคนรวย ใน 55 ล้านคน อาจจะมีคนที่ต้องการความช่วยเหลือ 10-15 ล้านคน แต่ที่เหลืออีก 35 ล้านคน ไม่ได้ต้องการเงินช่วยเหลือ แต่เอาภาษีไปให้เขาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ตนคิดว่าหากเป็นเช่นนี้ไม่เห็นด้วย เพราะกลายเป็นเอาเงินภาษีประชาชนไปใช้ และช่วยคนที่มีรายได้เพียงพออยู่แล้ว จะอ้างกระตุ้นเศรษฐกิจ ฟังไม่ได้ เพราะมีอีกหลายวิธีที่ทำได้
3. ทำไมเริ่มแจกตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไปหากจะช่วยนักเรียนกู้เงินกยศ. เรายินดี ตรงเป้า แต่หากจะช่วยนักเรียนที่ไม่เดือดร้อน ตนไม่เห็นด้วย เช่น นักเรียนที่ขับรถไปเรียนหรือพ่อแม่ขับรถมาส่งทุกวัน เพราะภาษีของประชาชนได้มายาก นำไปใช้แบบนั้นไม่ได้
4. ภาษีมีจำกัด ภาระของประเทศมีเยอะ ทุกบาททุกสตางค์เอาไปใช้ต้องเข้าเป้า ไม่ใช่กระจายไปหมดเป็น "เบี้ยหัวแตก" พร้อมนำเสนอวิธีง่ายๆคือ คนไหนไม่มีบัญชีธนาคาร หรือ มีบัญชีธนาคารแต่ ไม่ถึง 10,000 บาท นำเงินเติมไปให้เขาจึงจะตรงเป้า ถึงมือคนที่จำเป็นต้องช่วยจริงๆ และไม่ต้องผ่านกระเป๋าดิจิทัลใคร
5. ทำไมต้องเป็นเงินดิจิทัล ซึ่งทราบมาว่า บริษัท แสนสิริ จำกัด เข้าไปซื้อหุ้นบริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (XPG) เมื่อปี 2021เป็นที่เรียบร้อย เป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจทรัพย์สินดิจิทัล ทำไมบังเอิญแบบนี้ และทำไมต้องบังคับคน 80% ใช้เงินดิจิทัล ซึ่งบริษัทดังกล่าวขายสกุลเงินดิจิทัลดังนั้นเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัวหรือไม่ เรื่องนี้ตนก็ไม่ทราบ แต่วันที่ขายทรัพย์สินดิจิทัลเพื่อแจกประชาชน บริษัทนี้จะรวยทันที
นอกจากนี้ยังพบปัญหาร้านค้าจะรับเงินดิจิทัลหรือไม่ สามารถไปขึ้นเงินกับใคร และจะโดนลดค่าเงินหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเงินดิจิทัลผันผวนมาก แบงค์ระดับโลกเกิดผลกระทบ ซึ่งมองว่า ผลดีไม่พอ เห็นแต่ประโยชน์ของบริษัททรัพย์สินดิจิทัล แต่ไม่เห็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติ พร้อมขอให้คนที่แถลงนโยบายออกมีชี้แจงให้เกิดความชัดเจน เพราะยังมีอีกหลายวิธี หากจะกระตุ้นเศรษฐกิจใช้เงินน้อย ได้ผลมาก แต่มีวิธีนี้ คือ ใช้เงินมาก ได้ผลน้อย