“ประยุทธ์” รับร่างพ.ร.บ.กลาโหม เป็นความเห็นส่วนตัว ยังไม่ผ่านมติพรรค พร้อมดึงกลับมาทบทวน แต่ไม่ยอมถอย
นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เผย ถึงการเสนอร่าง พระราชบัญญัติจัดระเบียบกลาโหมว่า ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 กำหนดว่าการจะเสนอร่างกฎหมาย เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะต้องได้รับ ความเห็นชอบจากพรรคการเมืองก่อน แต่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 สามารถเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุมได้ หากมีเสียงส.ส.รับรองเกิน 20 คน ตามที่ระเบียบข้อบังคับกำหนด
“ซึ่งต้องยอมรับว่าร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบกลาโหมยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากพรรค แต่เตรียมที่จะเสนอให้ที่ประชุมพรรคพิจารณาในวันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคมนี้ หากที่ประชุมไม่เห็นด้วย ผมก็ยินดีจะดึงกลับมาทบทวน แต่คงไม่ถึงขั้นยอมถอยไม่เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้”
นายประยุทธ์ ระบุว่า หลักการในการร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบกลาโหม เพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ ซึ่งตนเคยอยู่ตั้งแต่การรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ถูกรัฐประหารและถูกขังลืม แม้จะไม่ได้ผูกใจเจ็บอาฆาตมาดร้าย แต่การเกิดรัฐประหารซ้ำไปมา ตนก็อยากให้ประเทศนี้ดำเนินไปตามระบอบประชาธิปไตยอำมีประมหากษัตริย์เป็นประมุข มีการคานอำนาจกันระหว่าง บริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ
เมื่อถามว่าหลายคนมองว่าการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเพราะพรรคเพื่อไทยยังกังวลว่าจะถูกรัฐประหาร นายประยุทธ์ กล่าวว่า การรัฐประหารเป็นการยึดอำนาจในการปกครองแผ่นดิน หมายความว่า ทุกพรรคการเมืองถูกรัฐประหาร ไม่ใช่แค่เฉพาะพรรคเพื่อไทย และแม้ว่ากฎหมายของตนจะผ่านความเห็นชอบแบบ 100% ก็ไม่สามารถล้วงลูกเข้าไปจัดการกองทัพได้ เพราะหลักการแต่งตั้งข้าราชการชั้นนายพลยังคงการเสนอตามลำดับ เพียงแต่ต้องให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เห็นชอบด้วย
“การที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้และไม่เชื่อว่าจะสามารถสกัดการเกิดรัฐประหารได้จริง ส่วนตัวก็พร้อมจะยอมรับ แต่ก็ถือเป็นสิทธิของตนที่จะใช้อำนาจหน้าที่ในการเสนอกฎหมาย ส่วนเมื่อเสนอไปแล้วใครจะเห็นโดยไม่เห็นด้วยอย่างไรก็ยินดีรับฟัง”
เมื่อถามว่าหลังจากเรื่องนี้กลายเป็นกระแสหัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้ต่อสายมาพูดคุยบ้างแล้วหรือไม่ นายประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่มีและขณะนี้เองผู้ใหญ่ของพรรคก็ยังไม่มีใครติดต่อมา
เมื่อถามย้ำว่ายืนยันได้ใช่หรือไม่ว่าการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่เพื่อปกป้องประโยชน์ของพรรคเพื่อไทยในการเป็นแกนนำรัฐบาลที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตใช่หรือไม่ นายประยุทธ์ ยืนยันว่า ไม่ใช่และเป็นการตีความที่ไกลสุดโต่งเกินไป เพราะตนไม่ได้มีหน้าที่ที่จะต้องกังวลในเรื่องนั้น