ศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนประกาศ กทม.ปี 64 เรื่องค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว104บาท ต้องปฏิบัติตามมติ ครม.ที่ให้กทม.ร่วมกับกระทรวงคมนาคม กำหนดอัตราที่เหมาะสมเป็นธรรมไม่สร้างภาระประชาชน
เมื่อวันที่ ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศกรุงเทพมหานครลงวันที่ 15 ม.ค.2564 เรื่อง การกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ออกประกาศดังกล่าว
ทั้งนี้คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก นายสิริพงษ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย และพวกรวม 6 คน ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทมฺ) และ ผู้ว่าฯ กทม.เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 และ 2 ขอให้ศาลฯมีคำพิพากษาเพิกถอนหรือยกเลิกประกาศ เรื่อง การกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวลงวันที่ 15 ม.ค. 64 (กำหนดอัตราค่าโดยสายสูงสุด 104 บาท) และให้สั่งระงับการดำเนินการใดๆ ตามประกาศฯ คือ การปรับขึ้นค่าโดยสารไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุด
ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา ระบุว่า แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติรับรองให้ กทม.ซึ่งเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นมีความเป็นอิสระแต่การใช้อำนาจบริหารราชการและการจัดทำบริการสาธารณะของกทม.โดยผู้ว่าฯ กทม.ก็ยังต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลตามหลักการกระจายอำนาจทางปกครองของรัฐ
ดังนั้น การจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งแม้จะอยู่ในความรับผิดชอบของ กทม.และเป็นอำนาจของผู้ว่าฯ กทม.ที่สามารถกระทำได้ก็ตามแต่เมื่อปรากฏว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวมิได้จำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่ในกทม.เท่านั้นแต่ยังครอบคลุมไปถึงพื้นที่เขตปริมณฑลและเป็นโครงการที่รัฐบาลกำหนดไว้ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางใน กทม.และปริมณฑล นอกจากนี้ ยังมีโครงการระบบขนส่งมวลชนโดยรถไฟฟ้าสายอื่นๆอันเป็นบริการสาธารณะที่รัฐจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์บรรเทาปัญหาการจราจรและเพิ่มทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชนลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญให้การจราจรติดขัด ดังนั้น เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะด้านขนส่งมวลชนของรัฐเกิดการบูรณาการทางด้านการเดินรถให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้บริการในการเดินทางการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นธรรมของโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆการจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของ กทม.จึงต้องพิจารณาโดยภาพรวมให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ
ดังนั้น กทม.จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติ ครม. วันที่ 26 พ.ย. 61 คือ ต้องบูรณาการร่วมกับกระทรวงคมนาคมในการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นธรรมไม่ก่อให้เกิดภาระต่อประชาชนผู้ใช้บริการมากเกินไป ทั้งต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลตามความเห็นกระทรวงการคลัง รวมทั้งพิจารณากำหนดค่าโดยสารให้เหมาะสมสอดคล้องกับค่าครองชีพของผู้ใช้บริการด้วย เมื่อข้อเท็จจริงในสำนวนคดีไม่ปรากฏว่าก่อนการดำเนินการออกประกาศเพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กทม.โดยผู้ว่าฯ กทม.ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงการคลังในการพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารตามที่ ครม.มอบหมายกรณีจึงเป็นการกระทำโดยไม่ถูกต้องตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในส่วนที่ กทม.อ้างว่า ได้ปฏิบัติตามมติ ครม.วันที่ 26 พ.ย. 61 แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำให้การของ กทม.และ ผู้ว่าฯ กทม.เป็นกรณีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานที่มี รมช.คมนาคม เป็นประธานคณะกรรมการเพื่อทำการศึกษาบูรณาการเกี่ยวกับการรับโอนและบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยไม่ปรากฏว่า กทม.ได้ร่วมกับกระทรวงคมนาคมพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารตามที่ครม.มอบหมายแต่อย่างใดข้ออ้างดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น
ในส่วนระหว่างการพิจารณาคดี กทม.ได้ออกประกาศลงวันที่ 8 ก.พ. 64 ให้เลื่อนการจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปก่อน และปัจจุบันยังไม่มีการจัดเก็บค่า โดยสารตามประกาศพิพาทก็ตาม แต่กรณีก็ย่อมจะเห็นได้ว่าประกาศกรุงเทพมหานครฉบับลงวันที่ 8 ก.พ. 64 ดังกล่าวไม่ได้มีผลเป็นการยกเลิกหรือเพิกถอนประกาศที่พิพาท ซึ่งเป็นเหตุแห่งความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเป็นเหตุแห่งคดีพิพาทจึงยังไม่หมดสิ้นไปการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายจึงต้องมีคำบังคับของศาล
สำหรับที่ กทม.อ้างว่า การบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น กทม.มีภาระหนี้สินจำนวนมากที่ค้างจ่ายกับเอกชน อีกทั้งไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลหากไม่ได้รับการแก้ไขย่อมส่งผลกระทบต่อการจัดบริการสาธารณะด้านขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวต้องหยุดชะงัก จึงจำเป็นต้องออกประกาศผิดพลาดเพื่อเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการนั้นเห็นว่า แม้ กทม.จะมีอำนาจตามกฎหมายในการเรียกเก็บค่าบริการสำหรับการให้บริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในส่วนของที่ กทม.รับผิดชอบได้แต่เมื่อ ครม.มีมติมอบหมายให้ กทม.ต้องบูรณาการร่วมกับกระทรวงคมนาคมเพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นธรรมไม่ก่อให้เกิดภาระต่อประชาชนผู้ใช้บริการเกินสมควรเร่งรัดและพิจารณาการใช้ระบบตั๋วร่วมให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล
ดังนั้น การดำเนินโครงการรถไฟสีเขียวเฉพาะในส่วนนี้จึงต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ภาระหนี้สินจำนวนมากที่อ้างนั้นอาจเกิดจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องหรือเชื่อมโยงกัน เช่น การบริหารสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก การเจรจาต่ออายุสัมปทาน การแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างรัฐกับเอกชนผู้รับสัมปทาน การจัดทำร่างสัญญาสัมปทานฉบับแก้ไข ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาล และ กทม.ต้องพิจารณาแก้ไขร่วมกันต่อไปโดยปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐและประชาชนโดยคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วนระหว่างประโยชน์สาธารณะ หรือประโยชน์ส่วนรวมที่จะได้รับกับภาระหรือผลกระทบที่จะเกิดกับเอกชนประกอบกันด้วย
ด้าน นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้สมัคร ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ขอขอบพระคุณศาล ที่ให้ความเมตตากับประชาชน โดยเฉพาะคนที่เดินทางโดยสารผ่านรถไฟฟ้า วันนี้น่าจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ ให้สังคมเห็นว่า พรรคภูมิใจไทย ต่อสู้มา ไม่สูญเปล่า
“พรรคภูมิใจไทย ของเราในอดีตที่ผ่านมา แม้จะไม่มีส.ส.ใน กทม. เลย แต่เรื่องใดก็ตาม เป็นประโยชน์ของพี่น้องประชาชน เราพยายามสู้อย่างเต็มที่ เพื่อนำประโยชน์สูงสุดมาให้กับประชาชนทุกคน ในการเลือกตั้งครั้งนี้ อยากให้ประชาชนใช้ดุลยพินิจ ในการตัดสินอนาคตของท่านด้วย”นายสิริพงศ์ กล่าว
นายสิริพงศ์ กล่าวด้วยว่า เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว ไม่ว่าจะเป็นคนจากที่ไหน ที่มาใช้บริการ เขาก็มีสิทธิที่จะเรียกร้อง และสะท้อนได้ แม้จะเป็น ส.ส.ศรีสะเกษ แต่ในความเป็นจริง คนศรีสะเกษ มาอาศัยใน กทม.ก็เยอะ คนต่างจังหวัดอื่นๆ เขาก็ได้ใช้บริการสาธารณะต่างๆ มากมาย เป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็พูดได้ การมาทักท้วงของ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ได้รับการร้องขอให้ตัวแทนภาคประชาชน ให้ร้องขอให้เขา เป็นการกระทำที่บริสุทธิ์ ให้กับชาวบ้าน ซึ่งคำวินิจฉัยในครั้งนี้ เป็นบรรทัดฐานให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอื่นๆ ได้เป็นบรรทัดฐานให้ทุกองค์กร ดูต่อไปว่า การจะขึ้นค่าโดยสาร โดยขัดต่อหลักกฎหมาย ไม่สามารถกระทำได้