สว.- รทสช. ค้านแก้ข้อบังคับเปิดทาง "คนนอก" ร่วมวงกมธ.แก้รธน.

สว.- รทสช. ค้านแก้ข้อบังคับเปิดทาง
สว.หมอเปรม - รวมไทยสร้างชาติ ค้านแก้ข้อบังคับประชุมรัฐสภาเปิดทางให้คนนอก ร่วมเป็นกมธ.แก้รธน.

ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา (ฉบับที่…) พ.ศ…เสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาทำหน้าที่ประธานการประชุม

นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายไม่เห็นด้วยในการแก้ไขข้อบังคับบางข้อว่า ตนจำได้ว่ามีการบรรจุให้ประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้ แต่หลังจากนั้นมีการประชุมวิป 3 ฝ่าย แล้วตกลงเลื่อนการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป 1 เดือน แต่เปลี่ยนมาบรรจุเรื่องแก้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาแทนในวันนี้ ทำให้สงสัยว่า จะเป็นการปูทางอะไรเพื่อไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่ใช่ตนสงสัยคนเดียวเพื่อนสมาชิกก็สงสัย

ทั้งนี้ ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่เราใช้ปัจจุบัน ใช้งานมาตั้งแต่ปี 2563 ปีนี้ 2568 ก็ยังมีประเด็นที่เหมาะสมจะต้องปรับปรุงอยู่เหมือนกันตามกาลเวลา เช่น การยกเลิกบทบัญญัติที่ว่าด้วยการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี มีการเสนอให้ยกเลิกหมวด 9 การพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี เนื่องจากพบอายุวุฒิสภาตามบทเฉพาะการที่กำหนดไว้ 5 ปีนับแต่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาในชุดที่แล้ว ข้อนี้ตนเห็นชอบด้วย  เพราะวุฒิสมาชิกชุดปัจจุบันก็ไม่มีโอกาสได้เลือกนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว ดังนั้นตัดไปก็ไม่กระทบอะไร เป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีควรเป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรการยกเลิกจึงมีความจำเป็น

นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า การดำเนินการที่เกี่ยวกับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นเรื่องที่ทันสมัย ตนเห็นด้วยที่จะปรับปรุงข้อบังคับนี้ แต่ก็มีข้อที่ติดใจ คือทำอย่างไรจะเกิดความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพราะการประชุมรัฐสภาเป็นความปลอดภัยระดับชาติ เพราะที่นี่คือสถาบันนิติบัญญัติสูงสุดของประเทศ เราจะมีระบบดูแลข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไร จะทำอย่างไรให้การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลข่าวสาร ตนขอถามท่านผู้เสนอด้วย ส่วนการเรียกประชุมโดยมีหนังสือแจ้งเห็นชอบด้วยเพราะเอกสารเป็นเรื่องสำคัญ หากไม่มีเอกสาร มีแต่ดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ย่อมเกิดปัญหาได้ และเมื่อเกิดปัญหาต่อไปในชั้นศาลจะไม่มีเอกสารไปต่อสู้ เมื่อเกิดความขัดแย้งจนลุกลามบานปลาย

นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวย้ำว่า เมื่อไล่ดูข้อเสนอแก้ไขทุกข้อดูเหมือนจะเห็นด้วยกับผู้เสนอแก้ไขเป็นส่วนใหญ่ แต่ข้อที่ตนเห็นด้วยไม่ได้จริงๆ คือข้อ 79 ที่บอกว่ากรรมาธิการพ้นจากตำแหน่ง แต่ก่อนมี ข้อบัญญัติไว้ว่า กรรมาธิการจะพ้นจากตำแหน่งอยู่ 5 ข้อ วงเล็บที่ 1 คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ หรือสภาผู้แทนถูกยุบหรือไม่มีสภาผู้แทนราษฎรเพราะเหตุอื่นใด วงเล็บ 3 ลาออก วงเล็บ 4 แต่เดิม บัญญัติไว้ว่า ขาดจากสมาชิกภาพแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกและวงเล็บ 5 รัฐสภามีมติให้พ้นจากตำแหน่ง ผู้เสนอแก้ไขตัดวงเล็บที่สำคัญออกไปคือวงเล็บ 4 ตนอยากถามว่าเพราะเหตุใด การที่ขาดสมาชิกภาพแห่งสภานั้นเป็นเรื่องสำคัญ ขาดแล้วยังคงทำหน้าที่กรรมาธิการต่อไปได้อย่างไร ต่อไปการเป็นสมาชิกรัฐสภา ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆเลย เอาคนลงคะแนนที่ไม่ได้เป็นผู้มีสมาชิกภาพ ไม่ว่าจะเป็นสส.หรือสว.

“ผมไม่ทราบว่าตัดออกเพราะอะไร ตัดออกเพราะท่านมีบุคคลในใจมาเป็นกรรมาธิการใช่หรือไหม ถ้าตัดออกแล้วมีเหตุการณ์วันข้างหน้า จะประสบปัญหาคดีความจนหมดจากสมาชิกภาพ ก็ยังจะเป็นกรรมาธิการต่อไปได้ การแก้ไขเล็กน้อย เช่น กฎหมายมโนสาเร่ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่าไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ผู้จะแก้รัฐธรรมนูญจะต้องเป็นสมาชิกรัฐสภาที่ดำรงตำแหน่ง ถึงจะมีความเหมาะสม และสมาชิกรัฐสภาทุกพรรคการเมืองก็สรรหาคนที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งได้ สมาชิกรัฐสภามี 700 คน จะหาคนมาเป็นกรรมาธิการไม่ได้หรืออย่างไร”นพ.เปรมศักดิ์กล่าว

นพ.เปรมศักดิ์กล่าวย้ำว่า ถ้าสมาชิกรัฐสภาขาดตรงไหนก็เติมตรงนั้น ขาดที่พรรคการเมืองใดก็ส่งสมาชิกจากพรรคการเมืองเข้ามาทดแทน ของสว.ก็สรรหาจากสว.ขึ้นมาทดแทน แต่ถ้าจะเอาคนที่ขาดสมาชิกภาพยังเป็นกรรมาธิการได้ จะดูแคลนสภาไปหน่อยหรือไม่ เพราะในรัฐสภามีผู้ทรงความรู้ความสามารถจำนวนมาก ลองหลับตาดูจะมีใครขาดสมาชิกภาพในอนาคตหรือไม่ ตนอยากให้สมาชิกทบทวน เพราะกรรมาธิการมีบทบาทสำคัญ ถ้าขาดสมาชิกภาพแล้วยังเข้ามาเป็นกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ตนไม่อยากจะบอกว่า อ้าปากก็เห็นไปถึงริดสีดวงทวาร

ด้าน นายอัครเดช​ วงษ์พิทักษ์โรจน์​ โฆษกพรรค รวมไทยสร้างชาติ​ แถลงผลการประชุมพรรค ว่า ที่ประชุมพรรคมีมติไม่เห็นด้วยร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา (ฉบับที่...) พ.ศ... ที่เสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภาวันนี้​ โดยมี 1 ข้อที่ที่ประชุมพรรครวมไทยสร้างชาติไม่เห็นชอบในการแก้ไขคือ ข้อที่ 123  ที่เกี่ยวกับ การแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเดิมจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเป็นสัดส่วนของส.ส.​และสว. 1 ชุด ไม่เกิน 45 คน​ แต่ที่พรรคประชาชนเสนอให้มีข้อบังคับที่ 123/1 เพิ่มให้มีบุคคลภายนอกเข้ามา เป็นกรรมาธิการร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวนไม่เกิน 1 ใน 3 ซึ่งมาจากประชาชนที่ลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคไม่เห็นด้วยที่ให้มีการแก้ไขเช่นนี้เนื่องจากคนที่จะเข้ามาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญควรเป็นสมาชิกรัฐสภาเท่านั้น เพราะควรเป็นบุคคลที่ ประชาชนกลั่นกรองมาแล้ว ไม่ควรมีบุคคลภายนอกเพราะรัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสำคัญเป็นกฎหมายสูงสุด ซึ่งแตกต่างจากพระราชบัญญัติและกฎหมาย ต่างๆ  ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการพิจารณาร่างกฎหมายเมื่อมีความเห็นไม่ตรงกัน ทั้ง​สส.​และสว.​ก็จะมีการตั้ง คณะกรรมาธิการร่วมกันของ 2 สภาเช่นร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ก็ไม่มีบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นกรรมาธิการด้วย

TAGS: #รัฐสภา #แก้ข้อบังคับ #แก้รธน #เปรมศักดิ์ #สว #รทสช