รัฐสภา พิจารณาร่างแก้ไขรธน. ม.256 เพิ่มหมวด 15/1 ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ จับตาเลื่อนวาระ หลังภูมิใจไทย รทสช. ปชป. พปชร. ไม่เอาด้วย หวั่นขัดคำวินิจฉัย
การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นพิเศษ ในเวลา 09.30 น.วันนี้ (13 ก.พ.2568) มีวาระพิจารณาเรื่องด่วน 2 เรื่อง ได้แก่ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ที่ฉบับแรกเสนอโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.พรรคประชาชน กับคณะ และฉบับที่ 2 เสนอโดยนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พรรคเพื่อไทย กับคณะ
ทั้ง 2 ฉบับ มีสาระสำคัญ คือ ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จำนวน 200 คน มาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อใช้แทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งจะแตกต่างกันตรงที่ร่างของ ส.ส.พรรคประชาชนเสนอใช้ระบบเลือกตั้ง สสร. ผสมบัญชีรายชื่อ แบ่งเขต สสร. เขียนใหม่ทั้งฉบับ ส่วนของ พรรคเพื่อไทย เสนอระบบแบ่งเขต ห้าม สสร. แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
สำหรับกรอบการอภิปรายรวม 19 ชั่วโมง แบ่งเป็นประธานในที่ประชุม 1 ชั่วโมง สมาชิกวุฒิสภา 6 ชั่วโมง ส.ส. พรรคฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ฝ่ายละ 6 ชั่วโมง โดยกรอบการประชุม 2 วัน คือ วันที่ 13 -14 ก.พ.นี้ เริ่มเวลา 09.30 น. ไปจนถึงเวลา 22.00 น. ในวันที่ 14 ก.พ. หลังจากอภิปรายเสร็จสิ้น
ทั้งนี้ คาดว่าในเวลา 15.00 น.เป็นต้นไป จะเป็นการเริ่มกระบวนการลงมติให้ความเห็นชอบในวาระรับหลักการ ซึ่งกำหนดไว้จะเป็นการลงมติด้วยการขานชื่อสมาชิกเรียงตามลำดับอักษร จำนวนสมาชิกรัฐฐสภาเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้ จำนวน 692 คน ซึ่งจำนวน ส.ส.มี 493 คน และ สว. 199 คน โดยร่างแก้รัฐธรรมนูญจะผ่านวาระที่ 1 รับหลักการ ต้องใช้เสียงเห็นชอบจาก ส.ส. และ สว. 346 เสียง และในจำนวนนี้ต้องมี สว. ที่รับหลักการอย่างน้อย 67 เสียง
ส่วนความเคลื่อนไหวพรรคการเมือง อย่างพรรคภูมิใจไทยจะประกาศไม่ร่วมสังฆกรรม เพราะเห็นว่าการบรรจุวาระเข้ามา มีความขัดแย้งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญปี 2564 ที่ระบุว่า ต้องมีการถามประชามติจากประชาชนแล้ว ซึ่งต้องจับตาจะมีการเสนอเลื่อนวาระออกไปก่อนหรือไม่
นอกจากนี้ ยังต้องติดตาม กลุ่ม สว.สีขาว นำโดย นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ที่เตรียมยื่นญัตติต่อที่ประชุมรัฐสภา เพื่อขอมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สิ้นสงสัย ซึ่งการเสนอญัตติดังกล่าว ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ทำได้โดยเสนอต่อที่ประชุมและมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 40 คน จากนั้น จะเป็นการอภิปรายแสดงความเห็นก่อนจะลงมติโดยใช้เสียงข้างมากของที่ประชุม และหากญัตติดังกล่าวได้รับความเห็นชอบ จะทำให้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่บรรจุไว้เป็นเรื่องด่วน ซึ่งมี 2 ฉบับ คือ ฉบับของพรรคประชาชน และฉบับของพรรคเพื่อไทย ต้องชะลอการพิจารณาออกไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แต่หากเดินหน้าพิจารณา จนถึงชั้นการลงมติ แล้วมีเสียง สว. สนับสนุนไม่ถึง 67 เสียง ก็จะถูกโหวตตก และจะทำให้การพิจารณาญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะไม่สามารถทำได้อีกในสมัยประชุมนี้
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยสร้างชาติ มีท่าทีจะรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ประกาศชัดเจน ไม่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกรูปแบบ