สภาล่ม! องค์ประชุมไม่ครบ "ประธานสภา"ปิดการประชุมทันที นัดใหม่ 14 ก.พ. 

สภาล่ม! องค์ประชุมไม่ครบ
ที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ สั่งนับองค์ประชุม พบสมาชิกร่วมประชุม 204 คน องค์ประชุมไม่ถึงครึ่ง "ประธานสภา" สั่งปิดการประชุมทันที นัดประชุมใหม่ พรุ่งนี้( 14 ก.พ.)  09.30 น.

การประชุมรัฐสภา ได้กลับมาพิจารณาอีกครั้งหลังจากที่พักเพื่อให้สมาชิกรัฐสภา ได้ศึกษาญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. ที่เสนอให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา แจ้งต่อที่ประชุมถึงขั้นตอนว่า ที่ประชุมต้องพิจารณาและลงมติว่าจะเลื่อนญัตติด่วนดังกล่าวซึ่งบรรจุในลำดับที่3 ขึ้นมาพิจารณาก่อนญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากเลื่อนและพิจารณาแล้วต้องลงมติว่าจะส่งหรือไม่ โดยหากมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญต้องหยุดการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับออกไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ทั้งนี้ นพ.เปรมศักดิ์ เสนอญัตติตอนหนึ่งว่า ญัตติดังกล่าว เสนอโดยส.ส. และสว. รวม 60 คน โดยเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 นั้นขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 อีกทั้งมองว่าประธานรัฐสภาไม่สามารถบรรจุเข้าสู่วาระได้ จึงเกิดปัญหาว่ารัฐสภามีอำนาจพิจารณาและลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 4/2564 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีผลยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 แก้ไขหลักการสำคัญที่ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญปกป้อง หากรัฐสภาจะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ หากประชามติเห็นชอบจึงจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเมื่อทำรัฐธรรมนูญใหม่แล้วเสร็จต้องทำประชามติว่าจะเห็นชอบหรือไม่อีกครั้ง

“จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ก่อนการเสนอรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภา หลังจากที่รัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติม และหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดำเนินการแล้วเสร็จ การที่ประธานรัฐสภาบรรจุก่อนการออกเสียงประชามติ ไม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐสภาไม่มีอำนาจพิจารณา ขณะที่ผู้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมองว่าทำได้ จึงถือเป็นความขัดแย้งต่ออำนาจและหน้าที่ จึงขอส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่ารัฐสภาสามารถพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ก่อนมีการทำประชามติหรือไม่” นพ.เปรมศักดิ์ อภิปราย

ทั้งนี้ ในการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา นั้นพบว่ามีการแบ่งความเห็นเป็น 2 ฝ่าย โดย นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒนสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่า พรรคประชาชนไม่เห็นด้วยกับการเสนอญัตติของนพ.เปรมศักดิ์ เพราะการบรรจุวาระแก้รัฐธรรมนูญเป็นอำนาจโดยแท้ของประธานรัฐสภา นอกจากนั้นแล้วสมาชิกรัฐสภายังมีหน้าที่โดยแท้ต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

“ผมมองว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยืนยันในอำนาจของสมาชิกรัฐสภา ไม่ใช่ยื่นเรื่องถามศาลรัฐธรรมนูญ ที่เชื่อว่าเป็นการขัดต่อการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายยตุลการ ทั้งนี้หากสมาชิกรัฐสภาไม่กล้าทำหน้าที่ของตนเอง ไม่ต้องเสนอตัวเป็นตัวแทนของประชาชน” นายปกรณ์วุฒิ อภิปราย

ขณะที่ นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่าตนสนับสนุนญัตติของนพ.เปรมศักดิ์ แต่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของญัตติดังกล่าวเพราะประธานรัฐสภามีอำนาจบรรจุวาระประชุม ในการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเห็นชอบกับการทำหน้าที่ก็ดีไป ทั้งนี้ ส.ส. ฝ่ายค้านหรือรัฐบาล รวมถึงสว. ไม่มีอำนาจชี้ว่าชอบหรือไม่ เมื่อมีปัญหาต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ หากจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญอาจจะมีปัญหาหรือสุญญากาศ ดังนั้นตนเห็นชอบต่อการเลื่อนญัตติดังกล่าว

ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายสนับสนุนการเลื่อนญัตติที่เสนอโดย นพ.เปรมศักดิ์ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในประเด็นที่เป็นปัญหา โดยไม่ทำให้การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียของ และซ้ำรอยเหตุการณ์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญเหมือนปี2564

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขณะที่การอภิปรายของสว. มีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่ายเช่นเดียวกับ ทั้งนี้หลังจากที่มีการอภิปรายแล้วเสร็จ ได้ลงมติว่าจะเลื่อนญัตติของนพ.เปรมศักดิ์ ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 3 ขึ้นมาพิจารณาก่อนการพิจารณาญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเสียงข้างมาก 275 เสียง ไม่เห็นชอบการเลื่อนญัตติดังกล่าว ต่อ 247 เสียงจากนั้นจึงได้เข้าสู่การอภิปรายตามระเบียบวาระต่อไป

ทั้งนี้ประธานรัฐสภาแจ้งว่าญัตติที่เสนอโดยนพ.เปรมศักดิ์นั้นยังอยู่ในวาระและจะพิจารณาต่อจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว

อย่างไรก็ดีนายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงษ์ สว. แจ้งต่อที่ประชุมว่าขอออกจากที่ประชุม เพราะการพิจารณานั้นไม่ชอบ

ต่อมา 11.37 น. น.พ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. ได้เสนอญัตติให้ประธานรัฐสภานับองค์ประชุม เพราะมีสมาชิกรัฐสภาวอล์กเอาท์ออกจากห้องประชุมหลายคน จากนั้น ประธานรัฐสภาได้ขอให้มีการแสดงตนปรากฎว่ามีสมาชิกแสดงตนในห้องประชุม 204 คน ไม่ครบองค์ประชุม ทำให้ประธานรัฐสภา สั่งนัดประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (14 ก.พ.) เวลา 09.30 น. ก่อนสั่งปิดการประชุมในเวลา 12.02 น.

TAGS: #แก้รธน #แก้รัฐธรรมนูญ #ประชุมสภา #สภาล่ม #องค์ประชุม