"กัณวีร์" เกาะติด "ทักษิณ" ลง 3 จังหวัดชายแดนใต้

"กัณวีร์" แนะวิธี "ทักษิณ" พัฒนา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ชี้ 66/23 ควรอยู่ในประวัติศาสตร์ ไม่ควรรื้อกลับมา

นายกันวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเป็นธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า เอาจริงเหรอกับการคืนชีพ 66/23 ในพื้นที่ปาตานี และมาดูกันกับการกลับมาของคุณทักษิณในรอบเกือบ 20 ปี

23 ก.พ. นี้คุณทักษิณฯ คุณภูมิธรรมฯ และคุณทวีฯ จูงมือกันลงพื้นที่ 3 จชต. ตารางแน่นเอี้ยดตั้งแต่เช้าจนเย็น พบปะพูดคุยกับผู้นำชุมชน ผู้นำท้องที่และท้องถิ่น ผู้นำทางศาสนาและการศึกษา เพื่อหาแนวทางการพัฒนาพื้นที่ จชต. ให้จงได้ !!

ที่เห็นจากการใส่ตำแหน่งคุณทักษิณนี่ก็น่าสนใจ โดยเฉพาะที่ปรึกษาประธานอาเซียน และเชื่อมกับหัวข้อ “การพัฒนา” มันเลยสะท้อนให้เห็นมิติที่ถูกวางไว้ของรัฐบาลชุดนี้ที่จะพยายามเน้นการพัฒนาให้มากขึ้น ซึ่งก็ไม่ผิดนะครับ เพราะใครๆ ก็ชอบการพัฒนาทั้งนั้น และอีกเรื่องคือความพยายามของคุณทักษิณฯ ที่จะใช้อาเซียนมาทำงานในพื้นที่ให้มากขึ้น

จริงเหรอ ?! มั่นใจขนาดนั้นเลย ?!

ยุทธศาสตร์ชาติยังไม่ชัดเลยครับ ต้นตอแห่งปัญหายังไม่ได้พูดถึง การดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมยังมีอยู่มากมาย คำตอบเรื่องตากใบกับการหนีหายอย่างลอยนวลของผู้ต้องหายังไม่มีคำตอบ การเจรจายังสงบนิ่ง หัวหน้าชุดพูดคุยฝั่งไทยยังไม่ตั้ง แถมนี่อะไรคิดได้ไงฟื้นคืนชีพ 66/23 การ “พาคนไทยกลับบ้าน” มาใช้อีก !! อาเซียนจะมาปลั๊คอิน หรือเชื่อมต่อยังไงกับสถานการณ์ในพื้นที่ ในขณะที่อาเซียนยังมีปัญหาเรื่องหลักการสำคัญของตัวเอง คือหลักการไม่แทรกแซง (non-interference)

อย่าเพียงคิดว่าเพื่อนรัก อย่างอันวาร์ อิบราฮิม นายกฯ มาเลเซียมาเป็นประธานที่หมุนมาเจอพอดี แล้วจะใช้ทั้งยุทธศาสตร์ทวิภาคีกับมาเลเซีย และพหุภาคี อย่างอาเซียนที่ยังไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาในภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรมเลย เอามาแก้ครับ มันจะยิ่งพอกความล้มเหลวที่แกะกันยากขึ้น !!

ทำไงดี ?? ก่อนอื่นคงต้องตีโจทย์ให้แตกให้ได้นะครับว่าการพัฒนาที่จะใส่ในสมการของการแก้ไขปัญหา จชต. นั้นมันตอบโจทย์คนในพื้นที่หรือไม่ ความมีส่วนร่วมและการได้รับข้อมูลของคนในแต่ละพื้นที่มีความจำเป็นมากๆ ต่อการสร้างการพัฒนาที่ถูกจุดและเหมาะสมกับบริบทท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่และรูปแบบการดำรงชีวิต

อย่าเอาการพัฒนารูปแบบมหภาคจากส่วนกลางทุ่มลงไปนะครับ มันจะผิดจุดเหมือนปี 2547 ที่ทุ่มงบทันทีสำหรับโครงการ/แผนงานด้านการพัฒนา 9,000 ล้านบาท หลังเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ เพราะมันเหมือนกับเอาเงินไปโยนแล้วให้ส่วนราชการเอาโครงการมาใส่โดยไม่ศึกษาตรวจสอบจากคนท้องถิ่นเสียก่อน ว่าความต้องการที่แท้จริงคืออะไร

ผมจำแม่นครับ เพราะผมต้องไปดูแผนงาน/โครงการด้านความมั่นคง 3,000 ล้านบาท ในเวลาเดียวกันนั้นเอง และสมัยนั้นคุณทักษิณก็เป็นนายกฯ “จริงๆ” ด้วย

ศอ.บต. เป็นแหล่งข้อมูลที่ดีครับ เพราะมีข้อมูลทั้งแผนงาน/โครงการการพัฒนาที่ต่อเนื่องมา 20 กว่าปี หากเอาข้อมูล 2 ทศวรรษนี้มาทำการวิเคราะห์ให้ดีว่าแผนงาน/โครงการไหนที่มันไม่ตอบโจทย์ ทำแล้ว ทำเล่า และยังทำต่อไป ก็ยุติให้ได้นะครับ ผันเงินไปทำอย่างอื่นที่ทำให้การพัฒนามันสามารถมาต่อยอดสู่สันติภาพที่ยั่งยืนได้ต่อไป

ช่วงนี้ผมหูแว่วบ่อย ???? แว่วมาว่าแนวทางนโยบาย 66/23 จะถูกนำกลับมาใช้ ซึ่งก็คือคนที่กลับเข้ามาร่วมพัฒนาชาติไทย “พาคนกลับบ้าน” ที่เคยถูกใช้ในช่วงการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรครับ แต่คงต้องเอามาอาบน้ำแต่งตัวกันใหม่ให้ตอบโจทย์ต่อปี 2568 และเหมาะสมกับพื้นที่ปาตานีจริงๆ ครับ

แต่คำถามคือ “จะพาใครกลับบ้าน ??” คุณพูดหมายรวมถึงใคร ?? BRN อย่างเดียวหรือคนในพื้นที่หรือใคร ?? บริบทคอมมิวนิสต์ในสมัยก่อนกับสถานการณ์ในพื้นที่ จชต. มันต่างกันชนิดมืดฟ้ามัวดิน แค่คิดออกมาก็หลงทางแต่แรกแล้ว ใครเป็นคนคิด สมช. หรือ รองนายกฯ ??

แปลกหากเป็น รองนายกฯ ภูมิธรรม เพราะตัวเองก็อยู่ในช่วง 66/23 ใช่มั้ยครับ “สหายใหญ่” มันคนละเรื่องกันเลย หากเป็น สมช. นำและเสนอนี่ ผมจะเสียใจกับบ้านหลังนี้คงผมมาก เพราะทั้งๆ ที่ตัวเองทำงานยุทธศาสตร์และนโยบายมาตลอดเวลา ทำไมถึงเสนอเรื่องนี้มาให้รัฐบาล ท่านต้องเสนอว่า รัฐบาลชี้ธงมาว่าอยากให้ทำอะไร แล้วจะไปเร่งการจัดทำนโยบายที่เหมาะสมมาให้ ต้องให้การเมืองรับผิดชอบให้มากครับ !!

แต่ความดื้อและไม่ฟังของรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงมีเยอะ ผมจะขอดักไว้ก่อนว่า หากเอามาใช้จริงแล้ว มันยังต้องคำนึงถึงบริบทกฎหมายพิเศษต่างๆ ที่มีอยู่ และรวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่ยังถูกนำมาใช้หากไอ้ตัว 66/23 เวอร์ชั่นใหม่มันออกมาจริง

หปากดึงดันเอามันออกมาและปรับใช้จริงๆ และดันมีผู้เห็นต่างเข้าร่วมจริงๆ อย่างช่วงคอมมิวนิสต์ในช่วงอดีตนั้น ขอแจ้งในแง่มุมกฎหมายว่า มันก็จะมีกฎหมายอื่นๆ ที่บังคับและจำกัดไม่ให้การ “เข้าร่วม” นี้เป็นการเข้าร่วมแบบเท่าเทียมและจริงใจ มันจะมีกฎหมายซ้อนกฎหมายอยู่ในตัวของมันเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการติดตามอย่างต่อเนื่องของภาครัฐต่อผู้เข้าร่วม การจำกัดบริเวณพื้นที่ที่สามารถอยู่อาศัย การติดกำไล EM ฯลฯ

แต่กลับกันมันจะไม่มีการสนับสนุนด้วยกฎหมายต่างๆ จากการไปจำกัดสิทธิของพวกเค้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเยียวยาจากการจำกัดพื้นที่ที่อาศัยหากไม่สามารถทำงานได้ ผลกระทบทางจิตวิทยาสังคมต่อครอบครัว เป็นต้น คงยังมีรายละเอียดอีกเยอะครับที่ต้องศึกษากันให้ถี่ถ้วนเสียก่อน

แต่หากเป็นไปได้ ปล่อย 66/23 ให้อยู่ในประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่ามันเป็นเครื่องมือในช่วงต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์เถิด ซึ่งปัจจุบันยังมีการเรียกร้องของพี่น้องที่เข้าร่วมโครงการ “พาคนกลับบ้าน” ว่ายังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้อยู่อีก !!

การพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ปาตานีคงไม่ใช่เป็นเรื่องแค่ด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว หรือการพาณิชย์เท่านั้น แต่ต้องพูดเรื่องการพัฒนาทางสังคม ระบบและกระบวนการยุติธรรม และการพัฒนาการตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนเสียด้วย และที่สำคัญหากจะพูดเรื่องกรพัฒนา มันต้องเป็นแบบ bottom up น่าจะเหมาะสมกับพื้นที่ จชต. มากที่สุดครับ

“ฟังเค้าให้เยอะ เข้าใจบริบทของความหลากหลายให้เยอะ ตอบสนองต่อความเท่าเทียมกันให้มาก เข้าใจและทราบซึ้งความหมายของคำว่า “พหุวัฒนธรรม” ได้อย่างแท้จริงครับ”

เมื่อสองวันที่แล้วผมเจอปราชญ์ท้องถิ่นผู้ที่ผมนับถือมากๆ อย่างแบนายิบ แบบอกว่าหากยังไม่เข้าใจคำว่าพหุวัฒนธรรมอย่างง่ายๆ แต่ลึกซึ้ง ยังไงก็จับหัวใจของการสร้างเอกภาพบนความหลากหลายไม่ได้ “นล จำไว้ ภาษา อาหาร และการแต่งกาย”

จำไว้ให้มั่นนะครับ คนที่จะลงไปทำงานในพื้นที่ทุกท่าน !!

TAGS: #ทักษิณชินวัตร #ลงพื้นที่3จังหวัดชายแดนใต้