"เพื่อไทย"ใช้ 3 ล้านล้านบาท สนอง 70 นโยบายเลือกตั้ง 

เพื่อไทยแจง กกต. ที่มาวงเงิน 3 ล้านล้านบาทจาก 70 นโยบาย หาเสียงเลือกตั้ง ยัน แจกเงิน 10,000 บาทผ่านกระเป๋าดิจิทัลใช้งบ5.6แสนล.มีที่มา 4 แหล่งเงิน

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับแจ้งรายละเอียดนโยบายหาเสียงตามมาตรา 57 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ครบทั้ง 70 พรรคการเมืองแล้ว โดยทุกพรรคส่งในกำหนดเวลา 

โดยในส่วนพรรคเพื่อไทย (พท.) การกำหนดนโยบายที่ใช้ในการประกาศโฆษณาของพรรครวม 70 นโยบาย ที่สำคัญ อาทิ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลระบุวงเงินที่จะใช้ครั้งนี้ 5.6 แสนล้านบาท โดยที่มาของเงินที่ใช้ดำเนินการ มีดังนี้ จากการบริหารระบบงบประมาณและระบบภาษี 1.ประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 2567 จำนวน 2.6 แสนล้านบาท 2.ภาษีที่ได้มาจากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย 1 แสนล้านบาท 3.การบริหารจัดการงบประมาณ 1.3 แสนล้านบาท 4.การบริหารงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 9 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ นโยบายของพรรค พท.จำนวน 70 นโยบายที่ได้ชี้แจงวงเงิน ที่มางบประมาณ ความคุ้มค่า-ประโยชน์ที่จะได้รับจากนโยบาย ในหัวข้ออื่นๆ ยังมี อาทิ นโยบายเงินสมทบคนสร้างตัว วงเงินที่ต้องใช้ 9 หมื่นล้าน, นโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุ 3 แสนล้านบาท, รถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสาย 4 หมื่นล้าน+8 พันล้านต่อปี, นโยบายเชื่อมโยงรถไฟขนส่งสินค้าจากลาวเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง และสนามบินสุวรรณภูมิ 4.5 หมื่นล้าน, เชื่อมโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ทั่วประเทศ 8 หมื่นล้าน, นโยบายบริหารจัดการน้ำ ไม่ท่วม ไม่แล้ง เบื้องต้น 5 แสนล้านบาท, เงินเดือนคนจบปริญญาตรี 2.5 หมื่นบาท ใช้เงิน 4 หมื่นล้าน, สนับสนุนส่งเสริมเอสเอ็มอี 3 หมื่นล้าน, นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค เพิ่ม 2 หมื่นล้านบาท ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3 พันล้านบาท รวมๆ แล้ว 70 นโยบายเป็นเงินที่จะใช้ 3 ล้านล้านบาท

สำหรับนโยบายพรรคอื่นที่น่าสนใจ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อาทิ ลดต้นทุนเกษตรกร วงเงิน 6 พันล้านบาท, เพิ่มเงินสมทบของภาครัฐ เพื่อให้แรงงานในระบบประกันสังคม วงเงิน 2.9 หมื่นล้านบาท, 1 อำเภอ 100 ทุนการศึกษา ปีละ 1 พันล้านบาท, กองทุนฉุกเฉินประชาชน วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท, บัตรสวัสดิการพลัส วงเงิน 7.1 หมื่นล้าน, คนละครึ่งภาค 2 วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท, เที่ยวด้วยกันเมืองรองภาค 2 วงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท, เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 4 หมื่นล้านบาท, ช่วยเหลือเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ปีละ 4 พันล้าน, กองทุนพ่อเลี้ยงเดี่ยวแม่เลี้ยงเดี่ยว ปีละ 1 พันล้านบาท, ค่าตอบแทน อปพร. วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท รวมทุกนโยบายประมาณ 2.5 แสนล้านบาท

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เช่น บัตรประชารัฐ 700 และฟรีประกันชีวิตประชารัฐ วงเงิน 1.28 แสนล้าน, แม่-บุตร-ธิดาประชารัฐ 1.74 แสนล้านบาท, เบี้ยผู้สูงอายุ 4.95 แสนล้านบาท, สุขภาพครบวงจร 5 พันล้านบาท, การบริหารจัดการน้ำ 1 หมื่นล้านบาท, บริหารที่ดิน 3 พันล้านบาท, กองทุนประชารัฐ วงเงินปีละ 1 แสนล้านบาท, ก๊าซประชาชน 2.4 หมื่นล้านบาท, เรียนฟรีถึงปริญญาตรี 5.2 หมื่นล้านบาท ฯลฯ งบประมาณร่วมๆกว่า 1 ล้านล้านบาท

ขณะที่ พรรคก้าวไกล ชี้แจง เสนอ 52 นโยบายหลัก เฉพาะในส่วนของนโยบายการปฏิรูปกองทัพนั้น เอกสารระบุว่า ก้าวไกลจะดำเนินการแยกทหารออกจากการเมือง, ปรับกองทัพให้มาอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน, ตั้งผู้ตรวจการกองทัพ, ยกเลิกศาลทหาร, ลดขนาดกองทัพ, ลดจำนวนนายพล, ตัดสิทธิพิเศษที่ไม่เป็นธรรม, ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร, ปฏิรูปการศึกษาทหาร, นำเข้ายุทโธปกรณ์ ต้องจ้างงาน-โอนถ่ายเทคโนโลยี, คืนที่ดินกองทัพให้ประชาชน, คืนธุรกิจกองทัพให้รัฐบาล เพิ่มสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อย, ยุบกอ.รมน., ยกเลิกกฎอัยการศึกชายแดนใต้ และยกเครื่องกฎหมายความมั่นคงพิเศษ

นโยบายดังกล่าว จะใช้วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อนำมาพัฒนาสวัสดิการและเงินเดือนของทหารเกณฑ์ โดยหากปฏิรูปกองทัพทั้งในส่วนของการลดกำลังพลลงได้ 30-40% และนำธุรกิจกองทัพมาเป็นของประชาชน บริหารงานโดยกระทรวงการคลังแล้ว จะสามารถประหยัดงบประมาณ และมีรายได้เพิ่มปีละประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

ส่วนความคุ้มค่านั้น พรรคก้าวไกลระบุว่า การปฏิรูปกองทัพเป็นเรื่องจำเป็น เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของกองทัพให้มีความทันสมัย มีประสิทธิภาพพร้อมต่อการป้องกันภัยคุกคามใหม่ๆ แล้ว ยังเป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้อีกด้วย ส่วนผลกระทบนั้น ก้าวไกลระบุว่า งบประมาณในส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นในระยะแรกของการดำเนินนโยบาย เรื่องจากรายได้และสวัสดิการของทหารเกณฑ์และทหารชั้นผู้น้อยสูงขึ้น ในขณะที่ยังปรับลดงบในการซื้ออาวุธ ซึ่งเป็นงบผูกพันยังไม่ได้

TAGS: #กกต. #เลือกตั้ง2566 #เลือกตั้ง66 #หาเสียง #งบประมาณ