"สภาที 3" ห่วงนโยบายประชานิยมสูญเปล่า รัฐอาจเป็นหนี้เพิ่ม

"สภาที่ 3" ห่วงนโยบายประชานิยมอาจสูญเปล่า แถมเป็นหนี้เพิ่ม เหตุ! คนใช้แล้วหมดไป รัฐไม่ได้ VAT. ตามคาด

สภาที่ 3 ห่วงนโยบายประชานิยมอาจสูญเปล่าแถมอาจเป็นหนี้เพิ่ม เหตุ! คนใช้แล้วหมดไป รัฐไม่ได้ VAT. ตามคาด  ‘ ปรีดา เตียสุวรรณ์ ' หวั่นการแจกเงิน 1หมื่นบาท ทำให้ใช้สุรุ่ยสุร่าย  ซ้ำรอยศรีลังกา-อาร์เจนติน่า แต่เชียร์การเพิ่มเงินเบี้ยผู้สูงอายุ    'บรรยง พงษ์พาณิช' ชี้นโยบายประชานิยมต้องตอบโจทย์ 3 อย่าง" ประสิทธิภาพ - ความยั่งยืน – การกระจายรายได้  ไม่เชื่อการบริโภคจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง  แนะขายหุ้น ปตท.ให้หมดนำ 5 แสนล้าน มาทำนโยบายประชานิยมที่ดีได้ 

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 เวลา 11.30 -12.30 น. สภาที่ 3 ร่วมกับ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 จัดเวทีสภาที่ 3 Speak วาระประเทศไทย เรื่อง "นโยบายพรรคการเมือง ทีมเศรษฐกิจไม่มีข้อเสนอรูปธรรม" ถ่ายทอดสดทาง Facebook Live "สภาที่สาม - The Third Council Speaks" ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN) , นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร  โดย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา '35 กล่าวเปิดประเด็น 

นายอดุลย์  กล่าวว่า ประชานิยมที่ดีที่เหมาะสมคือ ดำเนินการแล้วเกิดผลยั่งยืนต่อไปสู่อนาคต ผลประโยชน์จะต้องสร้างกิจกรรมที่ต่อเนื่องได้ ไม่ใช่ประชานิยมที่แจกหรือให้เงินไปแล้ว ประชาชนเอาไปกินเอาไปใช้แล้วหมดไป ซึ่งจากการพิจารณานโยบายประชานิยมที่เสนอในการหาเสียงเลือกตั้งของหลายพรรคยังทำแบบสั้นๆ คือ ให้เห็นเพียงว่าชาวบ้านได้รับเงิน แต่ไม่ชัดเจนว่าเงินนั้นจะนำไปทำประโยชน์และสร้างประโยชน์ต่อเนื่องให้เกิดขึ้นได้อย่างไร จึงเห็นว่านโยบายประชานิยมที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอนั้น ไม่เกิดสร้างประโยชน์ต่อเนื่องที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้เท่าที่ควร อย่างไรก็ตามฝากถึงประชาชนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งว่าควรพิจารณาให้ดีและขอให้การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง

นายปรีดา กล่าวว่า การดำเนินนโยบายประชานิยมย่อมต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน รวมถึงนโยบายบางพรรคการเมืองที่จะแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาทให้ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไปนั้น อาจเป็นการใช้เงินในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ทำให้ใช้สุรุ่ยสุร่าย และไม่สามารถนำเงินคืนกลับมาได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบภาษี VAT. หรืออื่นๆ ขนาดที่ประเทศมหาอำนาจในโลกกำลังมองการใช้งบประมาณภาครัฐของประเทศไทยและในหลายประเทศอยู่ว่าสถานะการใช้งบประมาณเป็นอย่างไร หากพบว่าขาดวินัยการเงินการคลังก็เตรียมที่จะปล่อยกู้ ซึ่งจะทำให้ประเทศเป็นหนี้อาจล้มเหลวอย่างประเทศศรีลังกาหรืออาร์เจนตินา ดังนั้นการใช้เงินแผ่นดินต้องระวังเพื่อที่จะไม่ต้องพึ่งลมหายใจของผู้อื่น เพราะจะตกเป็นเบี้ยล่างกลายเป็นเมืองขึ้นด้านวัฒนธรรมและทางเศรษฐกิจได้ 

นายปรีดา กล่าวต่อว่า การนำเงินมาดำเนินนโยบายประชานิยมจะต้องให้เกิด productivity - ผลิตภาพ หรือ "ผลผลิตที่มีค่าต่อสังคม " ซึ่งนโยบายประชานิยมที่ดีคือ เบี้ยผู้สูงอายุ หรือเงินคนแก่ ที่แม้มีคนเข้าใจหรือมองว่าไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ได้สร้างผลผลิตอะไร แต่ในแง่สังคมนั้นถือเป็นการสนองคุณผู้สูงอายุที่ได้อุทิศช่วยเหลือสังคมจนเกษียณ เมื่อเรี่ยวแรงมีน้อยไม่สามารถสร้างผลผลิตอะไรได้แล้ว สังคมจึงต้องชดเชยให้ เป็นการสร้างความขวัญกำลังใจว่า ประเทศไทยไม่ว่าจะดีเลวอย่างไรก็ตามจะไม่ให้ผู้สูงอายุในประเทศอดอยากหรืออดตาย ดังนั้น การให้เงินผู้สูงอายุแล้วไม่ได้สร้างผลผลิตเป็นรูปเป็นร่างอะไรแต่มีคุณค่าทางสังคมที่ไม่ได้ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างเป็นรูปธรรม

นายปรีดา ยังกล่าวถึงการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจว่า สิ่งสำคัญคือ ภารรัฐต้องตัดสินใจว่าจะเก็บรัฐวิสาหกิจใดไว้และรัฐวิสาหกิจใดที่จะไม่เก็บไว้ ก็ต้องขายหุ้นทั้งหมดให้กลายเป็นบริษัทเอกชนโดยทั่วไป แล้วสิทธิพิเศษในฐานะรัฐวิสาหกิจก็จะไม่ได้รับจากรัฐอีกต่อไป แต่จะถูกตลาดตรวจสอบและความโปร่งใสจะเกิดขึ้น 

ด้านนายบรรยง กล่าวว่า นโยบายประชานิยมต้องตอบโจทย์ 3 อย่างคือ " ประสิทธิภาพ - ความยั่งยืน - การกระจายรายได้" และต้องพิจารณาทั้งความคุ้มค่าและที่มาของเงินงบประมาณ โดยต้องนำเงินหรือทรัพยากรจากจุดที่ไม่ได้ใช้งาน ที่ใช้งานได้ไม่คุ้มค่าหรือจากจุดที่มีทรัพยากรเหลือเฟือไปให้จุดที่ต้องการคือ "เก็บเงินคนรวยไปให้ผู้ที่ขัดสน" และต้องมีทั้งแรงจูงใจและแรงกดดัน จะใช้แรงจูงใจหรือการกดดันอย่างเดียวไม่ได้

โดยเห็นว่าประเทศไทยควรลดขนาดรวมถึงบทบาทและอำนาจของภาครัฐ ที่มีข้าราชการและใช้งบประมาณบริหารจัดการมากเกินไป ที่สำคัญคือไม่มีแรงจูงใจและไม่มีแรงกดดันจึงไม่มีประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลในเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งถือเป็นความฝันที่ตัวเองคาดหวังและยังไม่เห็นพรรคการเมืองใดเสนอนโยบายนี้อย่างเป็นรูปประธรรม

"ประเทศยุโรปเหนือที่เป็นแม่แบบรัฐทุนนิยม จัดเก็บภาษีประมาณ 50% ของ GDP. ในประเทศสวีเดน งบประมาณ 85%  ใช้เป็นรัฐสวัสดิการ อีก 10% เป็นงบฯลงทุน ในส่วนที่ตลาดไม่ลงทุนอย่างสาธารณูปโภคหรือถนนหนทาง มีเพียง 5% ของ GDP. เท่านั้นที่เป็นงบบริหารจัดการรัฐบาล  แต่ไทยกลับกันคือ 80% เป็นงบบริหารจัดการรัฐบาลทั้งเงินเดือนและสวัสดิการข้าราชการเหลือแค่ 15% ที่เอามาแบ่งกันระหว่างงบลงทุนกับงบจัดสวัสดิการของรัฐ  อีกทั้งนโยบายประชานิยมหลายเรื่องภาครัฐเข้าไปแย่งเอกชนดำเนินการซึ่งเป็นการทำลายกลไกตลาดอีกด้วย" 

นายบรรยง กล่าวถึงนโยบายดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาทที่จะใช้งบประมาณ " 5 แสน 6 หมื่นล้านบาท" ว่า มาจากฐานคิดที่ว่าไทยมีดุลยภาพต่ำ ภาครัฐจึงต้องกระชากเศรษฐกิจขึ้น โดยหวังการบริโภคจะกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น หรือ 'จั้มสตาร์ท' วงจรเศรษฐกิจจะหมุน 6 รอบหรือได้เงินคืนมา "3 แสนล้านบาท" ตามที่มีการหาเสียงนั้น  แต่ไม่เชื่อว่าการบริโภคจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง และเห็นว่า การหมุนของเศรษฐกิจจากการทุ่มเงินดำเนินนโยบายประชานิยมดังกล่าว จะหมุนวงจรได้ไม่เกิน 3 รอบ ตามที่ธนาคารโลกหรือ world bank ดังนั้น เงินจากภาษี vax จะน้อยมากเพียงไม่กี่หมื่นล้านบาท ส่วน "แสน 4 หมื่นล้านบาท" ที่นำมาดำเนินนโยบายสุดท้ายก็จะกลายเป็นหนี้สาธารณะและแม้ว่าจะพยายามซุกซ่อนอย่างไรก็ซ่อนไม่ได้

“นโยบายประชานิยมที่ดีที่สุดคือ ประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งทำให้ผู้คนสุขภาพดีรวมถึงนโยบายด้านการศึกษา 1 ตำบล 1 ทุนเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งสอดรับกับนโยบายหวยบนดินและนำเงินจากหวยบนดินมาใช้เป็นทุนการศึกษา ให้คนจนได้ไปเรียนเมืองนอก แต่น่าเสียดายที่นักกฎหมายสมัยนั้นขัดขวางทำให้โครงการหวยบนดินต้องยกเลิกไป

นายบรรยง เสนอแหล่งที่มางบประมาณที่ฝ่ายการเมืองสามารถนำมาใช้ดำเนินการนโยบายประชานิยมได้ ในวงเงิน "5 แสนล้านบาท" คือ การขายหุ้น บริษัท ปตท.จำกัดมหาชนทั้งหมดออกไปซึ่งจะมีผลดีคือ ปตท.จะอยู่ในกลไกตลาด และ ปตท.จะถูกตลาดควบคุมและกดดัน ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและนำมาใช้ดำเนินนโยบายประชานิยมที่เป็นประโยชน์จริงๆ ถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

TAGS: #เลือกตั้ง #เลือกตั้ง66 #นโยบาย