วุฒิสภาเร่งบูรณาการระบบเตือนภัยพิบัติให้เร็วกว่า SMS ชี้ระบบ Cell Broadcast เต็มรูปแบบพร้อมใช้ ก.ค.นี้

วุฒิสภาเร่งบูรณาการระบบเตือนภัยพิบัติให้เร็วกว่า SMS ชี้ระบบ Cell Broadcast เต็มรูปแบบพร้อมใช้ ก.ค.นี้
วุฒิสภาเปิดเวทีถกเข้มระบบเตือนภัยยุคดิจิทัล เร่งยกระดับการแจ้งเตือนภัยพิบัติให้แม่นยำและรวดเร็ว พร้อมผลักดันการใช้งานเทคโนโลยี Cell Broadcast อย่างเต็มรูปแบบภายในกรกฎาคมนี้ ชี้ต้องแจ้งเตือนได้เร็วกว่า

คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา จัดประชุมหารือแนวทางพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โดยมีนายนิเวศ พันธ์เจริญวรกุล เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้แก่ AIS, True Corporation และ DTAC

ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการบูรณาการระบบเตือนภัยข้ามหน่วยงาน และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างแม่นยำ ครอบคลุม และรวดเร็วกว่าระบบ SMS ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในภาวะฉุกเฉินที่ต้องการการตอบสนองทันท่วงที

ด้านผู้แทนจาก AIS และ True Corporation ได้เสนอแนวทางพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast System (CBS) ซึ่งสามารถส่งข้อความเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในพื้นที่เสี่ยงได้ทันที แม้ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ระบบนี้ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ CBE (ระบบจัดทำข้อมูล) และ CBC (ระบบกระจายข้อความ) โดย AIS ยืนยันว่า ระบบสามารถส่งข้อความแจ้งเตือนได้ภายใน 2 นาทีหลังได้รับข้อมูลจากหน่วยงานรัฐ

ขณะที่ ผู้แทนจาก ปภ. เปิดเผยว่า ระบบ CBS เต็มรูปแบบจะพร้อมใช้งานภายในเดือนกรกฎาคม 2568 โดยในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านจะใช้ระบบ Virtual Cell Broadcast สำหรับผู้ใช้ Android และระบบ SMS สำหรับ iOS ไปก่อน ขณะเดียวกันได้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติงาน (SOP) ใหม่ ให้ ปภ. สามารถส่งข้อความเตือนภัยได้ทันทีที่ได้รับข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อความซ้ำ ส่งผลให้ระยะเวลาการแจ้งเตือนภัยสั้นลงเหลือเพียง 1 ชั่วโมง พร้อมออกแบบข้อความให้กระชับ ถูกต้อง และเข้าใจง่าย

คณะกรรมาธิการฯ ยังได้ตั้งข้อสังเกตต่อข้อจำกัดของระบบ SMS แม้จะเข้าถึงผู้คนได้กว้าง แต่มีความล่าช้าในการส่งข้อความ โดย นาวาตรี วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ห้า ชี้ว่า “การกระจาย SMS ให้ครบทุกหมายเลขอาจใช้เวลาหลายชั่วโมง ซึ่งไม่ทันต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน”

ขณะที่ นางสาวชญาน์นันท์ ติยะตระการชัย รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สี่ เสนอให้เพิ่มช่องทางแจ้งเตือนอื่น ๆ เช่น สื่อสังคมออนไลน์ และโทรทัศน์ เพื่อให้ข้อมูลเข้าถึงประชาชนในวงกว้างมากขึ้น และบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานเพื่อป้องกันความซ้ำซ้อน

ด้าน นายสุทนต์ กล้าการขาย รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง เสนอให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ร่วมมือกันเชื่อมโยงระบบให้ครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น ปภ. และกรมอุตุนิยมวิทยา ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อเสริมประสิทธิภาพของระบบเตือนภัย

ในช่วงท้ายของการประชุม ที่ประชุมยังได้สอบถามถึงความคืบหน้าของการปรับปรุงระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติแจ้งว่า ได้มีการปรับระเบียบปฏิบัติ และเตรียมนำระบบ CBS มาใช้จริงในวันที่ 31 กรกฎาคม 2568 ซึ่งจะนับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับระบบเตือนภัยของประเทศให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล

ที่ประชุมยังได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการพัฒนาระบบเตือนภัยให้ทันสมัย รวดเร็ว และแม่นยำ โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่ความปลอดภัยของประชาชนต้องมาก่อน พร้อมชี้ว่า “การบูรณาการเทคโนโลยีใหม่ การแก้ไขข้อจำกัดของระบบเดิม และความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน คือหัวใจของระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ”

TAGS: #แผ่นดินไหว #รัฐสภา #วุฒิสภา #ตึกถล่ม #ตึกสตง. #กทม. #เตือนภัย #ยุคดิจิทัล #SMS #CBS #CellBroadcast