ซูเปอร์โพล เชื่อหลังสงกรานต์ มีปรับครม.

ซูเปอร์โพล เชื่อหลังสงกรานต์ มีปรับครม.
ซูเปอร์โพล เชื่อหลังสงกรานต์เกิดเปลี่ยนแปลงการเมือง เหตุพรรคร่วมขัดแย้ง-แรงปลุกปั่นใกล้ตัวผู้นำ มีปรับครม.

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หลังสงกรานต์ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น 1,102 ราย ดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 10 - 14 เมษายน 2568 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ (เกือบสามในสี่ หรือ 74.2%) มีแนวโน้มคาดหวัง หรืออย่างน้อย “เชื่อว่า” จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงหลังสงกรานต์ ซึ่งสะท้อนภาวะความไม่มั่นใจในเสถียรภาพของรัฐบาลปัจจุบันขณะที่มีเพียง 25.8% ที่เชื่อว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ แสดงให้เห็นถึงความรู้สึก "ไม่แน่นอน" ที่ปกคลุมบรรยากาศทางการเมือง

ที่น่าพิจารณา คือ เมื่อผู้ตอบเลือกได้มากกว่าหนึ่งสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสะท้อนว่าความขัดแย้งภายในรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคร่วม (36.9%) เป็นสาเหตุสำคัญที่ประชาชนมองว่าอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง รองลงมาคือ แรงปลุกปั่นใกล้ตัวผู้นำ (30.6%) และ กระแสโซเชียล (27.8%) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ของประชาชน นอกจากนี้ ประเด็น เศรษฐกิจ (20.5%) และ นโยบายที่ประชาชนไม่พอใจ (14.9%) ก็ถือเป็นแรงกดดันระดับรากฐานที่บั่นทอนความชอบธรรมของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

เมื่อสอบถามถึง ตัวการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หลังสงกรานต์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะเกิด การปรับคณะรัฐมนตรี(38.4%) และ ความแตกร้าวระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล (37.6%)ซึ่งเป็นรูปแบบการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่การยุบสภาหรือเลือกตั้งใหม่ แต่สะท้อน “ความไม่พอใจต่อการบริหารงาน”ที่ต้องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ร้อยละ 32.1 เชื่อว่าจะมีการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง และ 27.5% คาดว่าจะมีการยุบสภา ซึ่งบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่สถานการณ์จะพัฒนาไปสู่ “การเปลี่ยนโครงสร้างระดับชาติ” หากรัฐบาลไม่สามารถจัดการกับแรงกดดันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ ร้อยละ 25.6 ที่ระบุว่า “ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ” นับว่าเป็นส่วนน้อยของผู้ตอบแบบสอบถาม สะท้อนให้เห็นความรู้สึกร่วมของประชาชนส่วนใหญ่ต่อความเปราะบางทางการเมืองในปัจจุบัน

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้สะท้อน บรรยากาศของความไม่ไว้วางใจทางการเมือง ที่แฝงอยู่ในสังคมไทย ประชาชนส่วนใหญ่มีทัศนะว่ารัฐบาลอาจเผชิญกับแรงกดดันทั้งจากภายในพรรคร่วมและจากแรงขับเคลื่อนของประชาชนในระดับฐานราก ความขัดแย้ง การสื่อสารในโลกออนไลน์ และผลกระทบด้านเศรษฐกิจได้ผสานกันเป็นพลังทางสังคมที่อาจเร่งเร้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ได้ทางออกคือ เร่งเสริมเอกภาพและความร่วมมือในพรรคร่วมรัฐบาล ขอยกกรณีประเทศเยอรมันและประเทศญี่ปุ่นเป็นแนวทาง โดยประเทศเยอรมันจะมีข้อตกลงร่วมระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลก่อนการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการ เอกสารนี้มีสถานะเสมือน “คู่มือ” ที่ชัดเจนในทุกด้าน ทั้งนโยบายเศรษฐกิจ สังคม พลังงาน การคลัง และต่างประเทศ โดยแต่ละพรรคต้องยึดถือร่วมกัน และเป็นเกณฑ์ประเมินความรับผิดชอบระหว่างพรรค

ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นจะมีการประชุมหารือร่วมอย่างสม่ำเสมอ โดยมีคณะทำงานเจาะจงด้านนโยบายเช่น ความมั่นคง ประชากรสูงวัย หรือภาษี เพื่อป้องกันความเห็นต่างไม่ให้ลุกลามกลายเป็นวิกฤต นอกจากนี้ยังตกลงแบ่งงานในคณะรัฐมนตรีอย่างชัดเจนตามจุดแข็งของแต่ละพรรค ผลที่คาดว่าจะได้รับคือ การลดการวิจารณ์กันเองภายในรัฐบาล สร้างความมั่นใจแก่ประชาชนและนักลงทุนระหว่างการดำรงตำแหน่งรัฐบาลผสม และน่าจะสามารถรักษาเสถียรภาพรัฐบาลได้ยาวนาน แม้จะมีพรรคร่วมที่มีรากฐานอุดมการณ์ต่างกันหากพรรคร่วมรัฐบาลขาดกลไกการประสานนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพย่อมทำให้เกิดการส่งสัญญาณขัดแย้งในที่สาธารณะ ลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล และสร้างแรงกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไม่ช้านี้อย่างแน่นอน


 

TAGS: #สงกรานต์2568 #ปรับครม #ซูเปอร์โพล