“บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม-จุรินทร์” ลุ้นตั๋วนายกฯในตะกร้า

“บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม-จุรินทร์” ลุ้นตั๋วนายกฯในตะกร้า
สมรภูมิเลือกตั้งภาคใต้เดือด “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม-จุรินทร์” ลุ้นตั๋วนายกฯในตะกร้า

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ต้องจับตาไปที่สมรภูมิการเลือกตั้งในภาคใต้ ที่จะมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดเนื่องจากมี 3 พรรคการเมืองหลัก อย่าง พรรคประชาธิปัตย์ มี นายจุรินทร์  ลักษณะวิศิษฏ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ และพรรคพลังประชารัฐ มี "บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่ต่างหมายมั่นปั้นมือ กวาดส.ส.ให้เป็นกอบเป็นกำ หวังให้ได้เก้าอี้ส.ส.เกินจำนวน 25 ที่นั่ง เพื่อให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคตัวเองมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ในตะกร้า ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้เมื่อสำรวจตรวจสอบฐานกำลังแต่ละพรรคแล้ว พบว่าทั้ง 3 พรรคต่างเชื่อมั่นคาดหวังว่าพื้นที่ในภาคใต้ เป็นฐานกำลังของตัวเอง จึงมีการทุ่มกำลังกันสุดตัว ทั้งสะเบียงกรัง เพื่อให้ได้ส.ส.มากที่สุด

พื้นที่เลือกตั้งภาคใต้เวลานี้ จึงกลายเป็นพื้นที่เปิดให้พรรคการเมืองอื่น ลงมาชิงชัยได้อย่างเต็มสูบ เนื่องจากเจ้าของพื้นที่เดิมอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่ฟื้นตัว อันเนื่องมาจากความขัดแย้งในพรรคที่ยังคุกรุ่น

ว่ากันตามจริง พรรคประชาธิปัตย์แผ่วตั้งแต่การเลือกตั้งใหญ่ปี 62 ที่ผ่านมา โดยต้องสูญเสียหลายที่นั่งให้กับพรรคพลังประชารัฐ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น และพรรคภูมิใจไทย ในหลายเขตเลือกตั้ง  โดยพรรคประชาธิปัตย์ ได้เพียง 22 ที่นั่งจากทั้งหมด 50 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐ ได้ 13 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย ได้ 8 ที่นั่ง พรรคประชาชาติ ได้  6 ที่นั่ง และพรรครวมพลังประชาชาติไทย ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกปปส.ได้ 1ที่นั่ง ที่จ.ชุมพรเลือกตั้งใหญ่คราวนี้ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 นั้น ภาคใต้มีเก้าอี้สส.ให้แต่ละพรรคช่วงชิงกัน 158 ที่นั่ง ทุกพรรคจึงหวังจะได้เก้าอี้ส.ส.ไปครอง 

ทั้งนี้ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่จะมีพล.อ.ประยุทธ์ ไปอยู่ด้วยนั้น ได้กวาดอดีตส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ ไปอยู่ด้วยจำนวนมาก อาทิ ที่มาจาก พรรคประชาธิปัตย์ น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี นายเจือ ราชสีห์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.นครศรีธรรมราช นายวิทยา แก้วภราดัย อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช นายสุรเชษฐ์ มาศดิตถ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช นายไตรรงค์  สุวรรณคีรี อดีตสส.สงขลา และรัฐมนตรีหลายกระทรวง นายชุมพล กาญจนะ อดีตส.ส.สุราษฎร์ธานี หลายสมัย และรวมถึงบารมีของลูกหมี นายชุมพล จุลใส อดีตส.ส.ชุมพร หลายสมัย ที่ขนเอาลูกทีมปชป.มาร่วมด้วยรวมทั้ง นายสุพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรครวมพลังประชาชาติไทย น้องชายมาร่วมด้วย

นอกจากนี้ยังมี นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร นายชวน หลีกภัย อดีต ส.ส.ตรัง 4 สมัย นายสุชีน เอ่งฉ้วน อดีต ผู้สมัคร ส.ส.กระบี่ ลูกชายนายอาคม เอ่งฉ้วน อดีต ส.ส.กระบี่ 9 สมัย นายพงศ์สินธุ์ เสนพงศ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ น้องชาย นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตสส.นครศรีธรรมราช 

ขณะเดียวกันในพื้นที่พัทลุงนั้น “บ้านใหญ่ธรรมเพชร” นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร ส่งลูกชาย นายนิติศักดิ์ ธรรมเพชร ลงส.ส.พัทลุง เขต 2 ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติอีกด้วย

ในขณะที่ ย้ายมาจาก พรรคพลังประชารัฐ ประกอบด้วย  นายสายัณห์  ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช นายศาสตรา ศรีปาน สส.สงขลา นายพยม พรหมเพชร ส.ส.สงขลา ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี ส.ส.สงขลา นายวัชระ ยาวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา  และ นายอนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ 

ด้าน พลังประชารัฐนั้นแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะย้ายออกไป แต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ยังสั่งสู้เต็มกำลังเนื่องจากมี ส.ส.พลังประชารัฐ ไม่ย้ายหนีประกอบด้วย  จ.นครศรีธรรมราช นายรงค์ บุญสวยขวัญ นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง นายอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ จ.ตรัง นายนิพันธ์ ศิริธร ส.ส.ตรัง แม้ครั้งนี้ขยับขึ้นปาร์ตี้ลิสต์ แต่ได้ตัว นายกิตติพงศ์ ผลประยูร มาลงแทนดีกรีไม่เบาเพราะ เป็นพี่ชาย พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ นายทวี สุระบาล อดีตส.ส.หลายสมัย มาลงพื้นที่ชนกับ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย จากพรรคประชาธิปัตย์

ด้าน จ.ภูเก็ต นายสุทา ประทีป ณ ถลาง นายนัทธี ถิ่นสาคู ยังอยู่เช่นเดิม จ.นราธิวาส นายสัมพันธ์  มะยูโซ๊ะ และยังมีนายอันวา สาและ อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่ย้ายมาอยู่ด้วย โดย “ทีมงานอันวาร์” ที่จะมาสร้างสีสันให้กับพรรคพลังประชารัฐ อาทิ นายอับดุลการิม เด็งระกีนา อดีต ส.ส.ยะลา 3 สมัย นายอิสมาแอล เบญอิบรอฮีม อดีต ส.ส.ปัตตานี 3 สมัย นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)-อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี

ในขณะเดียวกัน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ  อดีตรองหัวหน้าพรรคและขุนพลภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ย้ายมาอยู่ด้วย ยังรวมถึงขุนพลคนหนึ่งที่ “บิ๊กป้อม” ได้ดึงตัวมาช่วยจัดทัพชิงส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้ ก็คือ นายอนุมัติ อาหมัด  ที่ลาออกจากส.ว.มาทำพื้นที่ล่วงหน้า ว่ากันว่า นายอนุมัติ เป็นกำลังสำคัญทำพื้นที่เลือกตั้งภาคใต้ตอล่างอย่างจังหวัด พัทลุง สงขลา ปัตตานี สตูล ยะลา และ นราธิวาส นายอนุมัติ เป็นเจ้าของธุรกิจด้านพลังงาน เคยเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นหลายบริษัท อาทิ บริษัท อดามี่ จำกัด ขายส่งน้ำมันปิโตรเลียม , บริษัท อดามี่ เทรดดิ้ง จำกัด ทำธุรกิจปิโตรเคมี สารเคมี ทุกชนิด, บริษัท อากิแบม ออยล์ จำกัด ให้บริการเช่าและบริหารคลังน้ำมัน, บริษัท เทพา ทรานซิท เทอร์มินอล จำกัด ให้บริการเช่าสถานที่ สะพานท่าเทียบเรือให้เช่าอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ ก็ประกาศสู้ยิบตา ทั้ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค และนายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศจะกวาด ส.ส.ภาคใต้ให้ได้ 35-40 ที่นั่ง ในขณะที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ถึงกับประกาศว่า  ถ้าได้ ส.ส. ต่ำกว่า 52 จะเลิกเล่นการเมืองทั้งชีวิต
 
นี่ยังไม่นับรวม พรรคภูมิใจไทย โดย นางนาที รัชกิจประการ และ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ แม่ทัพใหญ่ ที่ประกาศตอกเสาเข็มในพื้นที่ภาคใต้ยกจังหวัดเพิ่ม จาก 8 ที่นั่ง เป็น 16 ที่นั่ง และพรรคประชาชาติ แชมป์ สส.สามจังหวัดชายใต้ที่ประกาศจะกวาดส.ส.เพิ่มอีก จึงทำให้ภาคใต้การแข่งขันทางการเมืองดุเดือดยิ่ง

ส่วนพรรคไหน จะประสบความสำเร็จ หรือ เป็นแค่ราคาคุย อีกไม่นานรู้กัน

TAGS: #เลือกตั้ง #พล.อ.ประยุทธ์ #พล.อ.ประวิตร #การเมือง #จุรินทร์